ทีมนักวิจัยอเมริกันศึกษา "ดนตรีบำบัด" จากพลังของเสียงดนตรี
เสียงเพลงที่ไพเราะ ผ่อนคลาย บรรเลงด้วยไวโอลิน กับท่วงท่าการเต้นที่สง่างามของนักเต้น ช่วยให้ผู้ป่วยบางคนลืมคิดถึงขั้นตอนการบำบัดโรคที่เจ็บปวดในโรงพยาบาล อย่างการทำเคมีบำบัด
มาร์ธา แวนส์ (Martha Vance) นักดนตรีบำบัด กล่าวว่า เสียงดนตรีช่วยลดความกังวลและยังมีผลช่วยลดปริมาณยาที่ผู้ป่วยต้องใช้ลงด้วย
ทีมนักวิจัยที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Health) กำลังศึกษาว่าเสียงดนตรีมีผลต่อร่างกายของคนเราอย่างไร
จูเลีย เลงลี่ (Julia Langley) แห่งจอร์จทาวน์ ลอมบาร์ดี้อาร์ทส แอนด์ ฮิวเเมนนิตี้ โปรแกรม (Georgetown Lombardi Arts and Humanities Program) กล่าวว่า หากเราศึกษาผลดีของศิลป์ทางดนตรีแบบเดียวกับที่วิทยาศาสตร์ศึกษาผลดีของยารักษาโรคหรือวิธีบำบัดโรค ตนเองคิดว่าน่าจะเป็นผลดีต่อการดูแลสุขภาพโดยรวม
นักร้องเพลงโอเปร่า เรเน่ เฟลมมิ่ง (Renee Fleming) เข้าร่วมการศึกษานี้ด้วย โดยทำงานร่วมกับนักวิจัย เดวิด เจนกรอว์ (David Jangraw) ซึ่งกล่าวว่า หากต้องการให้สมองบางส่วนตอบสนอง ควรให้ผู้ป่วยร้องเพลงตามไปด้วยหรือเล่นเครื่องดนตรีไปด้วย หรือให้มีส่วนร่วมในขั้นตอนของการสร้างเสียงดนตรี
เฟลมมิ่งได้เข้ารับการสแกนสมองในขณะที่พูด ร้องเพลง หรือในขณะที่กำลังจินตนาการถึงเพลงชิ้นหนึ่ง ทีมนักวิจัยพบว่า การประมวลเสียงเพลงของสมองเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนมากและการจินตนาการเสียงดนตรีอาจจะยิ่งซับซ้อนกว่านั้น และทีมนักวิจัยเชื่อว่า เสียงดนตรีอาจจะเป็นกระตุ้นการตอบสนองของสมองบางส่วนและช่วยกระตุ้นขั้นตอนการเยียวยาของร่างกายให้เร็วขึ้น
เดวิด เจนกรอว์ กล่าวว่าวิทยาศาสตร์ด้านประสาทสมองจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจได้ว่าสมองส่วนใดบ้างที่ตอบสนองขณะเล่นดนตรี และหากรู้ด้วยว่าสมองส่วนนั้นได้รับผลกระทบจากอาการป่วยหรือความผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บหรือไม่ ดนตรีก็น่าจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของช่วยกระตุ้นสมองส่วนนั้นได้ในการเยียวยาตัวเอง
นอกเหนือจากพลังในการเยียวยาความเจ็บป่วยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การเรียนดนตรีหรือการเล่นดนตรีช่วยให้สมองมีความแหลมคม ปรับปรุงความสามารถทางภาษาของเด็ก และช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น