เรียนรู้ ยอมรับ ป้องกัน "เปิดใจผู้รับผลกระทบจากHIV" วาเลนไทน์นี้ รักยังไงให้ไกลเอดส์
ใกล้จะถึง "วันวาเลนไทน์" เข้าไปทุกที แต่สำหรับวันวาเลนไทน์อีกหนึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วงเลยก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลไปถึงการติดเชื้อ HIV ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน
วันนี้ทาง Sanook! Campus บทความดีๆและแนวทางที่เป็นคติสอนใจเกี่ยวกับเชื้อ HIV ที่ทุกคนควรรู้จักและศึกษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งยังมีบทสัมภาษณ์ในการดำเนินชีวิตและความคิดของผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก HIV นี้ด้วย
เชื่อหรือไม่ว่า "วัยรุ่นไทยกว่าครึ่ง เสื่ยงเชื้อเอชไอวีจากเซ็กซ์ครั้งแรก"
หนึ่งประเด็นสำคัญในการรับรู้เรื่องราวของเหล่า วัยรุ่นไทยที่เสี่ยงติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หลังพบสถิติน่าเป็นห่วง วัยรุ่นกว่าครึ่งมีรักครั้งแรกแบบไม่ป้องกัน และวัยรุ่นน้อยกว่าครึ่งมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่เชื้อ เอชไอวี และร้อยละ 70 ของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนอายุ 15-24 ปี (จาก รายงานสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 องค์การยูนิเซฟประเทศไทย)
ในความพยายามยุติการแพร่ระบาดของ การติดเชื้อเอชไอวี และการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี อาการป่วยโรคเอดส์ และสังคมที่ตีตราผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัญหาระดับนานาชาติ มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัยรุ่น (10-19 ปี) ประมาณ 8.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากร ทั้งหมด จากการศึกษา และรายงานหลายฉบับระบุปัญหาเอดส์ในวัยรุ่นน่าวิตก มีเด็กอายุ 0-14 ปี 120,000 คน เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ ในขณะที่ทั่วโลกมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวี 1.4 ล้านคน มีเด็ก ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั่วโลก 160,000 คน (จาก 2017 UNICEF Statistical Update on Children and AIDS)
บทสัมภาษณ์ นางสาว ชูใจ (นามสมมุติ) ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อ HIV และมีเชื้อ HIV ได้รับผลกระทบมาจากการสืบทอดทาง "กรรมพันธุ์"
ต้องขอเกริ่นก่อนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อ HIV นั้นไม่ใช่ผู้ที่รับเชื้อมาโดยตรงจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ได้รับเชื้อมาจาก คุณพ่อและแม่, เป็นผู้กำพร้าพ่อแม่จากเชื้อ HIV และเด็กที่ไม่มีเชื้อแต่มีพ่อหรือแม่ที่มีเชื้อ
น.ส. ชูใจ(นามสมมุติ)ในฐานะที่ตนเองติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่เกิด เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มมีแฟน และเมื่อทราบว่าตนตั้งครรภ์ก็รีบไปพบแพทย์ เริ่มกังวลว่าลูกจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ การดูแลอนาคตลูกจะเป็นอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด แต่สุดท้ายโชคดีครอบครัวมีความเข้าใจ คุณหมอให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เป็นแกนนำของรักษ์ไทยพาว์เวอร์ทีนทำให้เห็นคุณค่าในตนเองมีความรู้ความเข้าใจการป้องกันตนเอง แฟน และลูก
ซึ่งน้องเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน รณรงค์ช่วยเหลือในเบื้องต้นด้านการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคการดูแลตัวเอง และการเข้ารับการรักษาพยายามหาองค์กรเข้ามาช่วยเหลือหลังจากนั้นเป็นเรื่องของการเยียวยาจิตใจโดยให้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อพูดคุยปรึกษา สร้างกำลังใจให้กันและกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อรู้สึกแปลกแยก สร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากดำเนินชีวิตและพึ่งตัวเองได้
ก่อนที่คุณจะรู้ว่าคุณได้รับผลกระทบจากเชื้อ HIV ตอนนั้นคุณรู้จักโรคนี้มากน้อยเพียงใด
รับรู้ว่าตนเองมีเชื้อมาตั้งแต่เกิดค่ะ ก็เริ่มไปหาคุณหมอเพื่อปรึกษาแนวทางการใช้ชีวิต และก็ความรู้ในการป้องกันเพื่อไม่ให้ติดต่อสู่ผู้อื่น
ครั้งแรกที่รับรู้ว่าตนเองมีเชื้อ HIV ความรู้สึกแรกในตอนนั้นคืออะไร
ตกใจมากค่ะ แต่ก็ได้มีการวางแผนมาอย่างดี โดยมีครอบครัวคอยให้กำลังใจ และก็การไปพบแพทย์อยู่บ่อยๆ ก็สบายใจขึ้นมาส่วนหนึ่ง
คุณเคยน้อยใจไหม เมื่อรับรู้ว่าตนเองมีเชื้อ HIV
ก็มีบ้างค่ะ แต่อย่างที่กล่าวไปกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตให้อยู่ต่อ โดยได้รับกำลังใจมาอย่างมากมาย ทั้งครอบครัว เพื่อน และก็มูลนิธิรักษ์ไทยที่เข้ามาช่วยดูแลค่ะ
คุณต้องปรับตัวเยอะไหม ในการใช้ชีวิตส่วนตัวและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
ปรับตัวเยอะมากๆค่ะ สมัยมัธยม ซึ่งสมัยนั้นโรค HIV จะถูกสังคมตีตราและรังเกียจ ซึ่งตนก็เคยโดนตีตราและไม่ได้รับความยอมรับจากสังคมทั้งเพื่อนๆ ต้องใช้ความเข้าใจอย่างมากๆในตรงนี้ แต่พอได้เข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ได้เจอเพื่อนๆและเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงนี้ และเป็นที่ยอมรับก็มีความภาคภูมิใจเข้ามาลบล้างปมในส่วนนี้ออกไป ตอนนี้เลยภูมิใจในตัวเองมากๆค่ะที่ได้เป็นคนถ่ายทอดประสบการณ์ตรงนี้
สิ่งไหนเป็นแรงบันดาลใจ ที่ขับเคลื่อนตัวคุณและไม่ท้อ และอยากมีชีวิตอยู่ต่อ
ต้องบอกเลยว่าเป็น ครอบครัว และลูกค่ะ คือต้องมีชีวิตอยู่ต่อและทำงานเพื่อลูกค่ะ และการป้องกันตัวเองและปรึกษาคุณหมอมาโดยตลอด ก็ประสบความสำเร็จในส่วนหนึ่งคือทั้งสามีและลูกไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อ HIV ส่วนในเรื่องงานก็มีทั้งเป็นคนให้ความรู้กับเด็กๆในมูลนิธิด้วย แถมตอนนี้ก็มีธุรกิจร้านอาหารเล็กๆของตัวเอง เลยไม่ท้อ และก็มีชีวิตอยู่อย่างปกติค่ะ
ในเคสอื่นๆผู้ติดเชื้อกลับยิ่งแย่เพราะคนใกล้ตัวคิดว่าเพราะอะไร
เชื้อ HIV เป็นเชื้อที่คนในสังคมปัจจุบันนี้ถือว่าดีขึ้นมากแต่ก่อนมีการยอมรับ และใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่ในสมัยแรกๆนั้นจะเจอการถูกตีตรา การไม่ยอมรับให้เข้ากับสังคม เลยคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้คนได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV นั้นแย่ลงค่ะ
เหตุผลใดที่คุณเข้ามาเป็นแกนนำในการทำงานตรงนี้
อย่างแรกเลยคือ เพื่อน ค่ะ เพื่อนชวนมาทำงานตรงนี้ซึ่งเหมือนเป็นการถูกยอมรับและไว้ใจ และเรายังได้ให้ความรู้แก่เด็กๆที่มีผลกระทบในเรื่องนี้ให้มีแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตค่ะ
คุณต้องทำอะไรบ้างในการลงพื้นที่ และทำงานที่มูลนิธิมานานเท่าไหร่แล้ว
ทำมาเป็นเวลา 12 ปีแล้วค่ะ ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ HIV และเป็นเคสตัวอย่างให้กับเด็กๆรวมทั้ง ยังเป็นวิทยากรในเรื่องของเพศศึกษาและการป้องกันค่ะ
สุขภาพตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
แข็งแรงดีค่ะ ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ความเข้มแข็งและจิตใจเป็นส่วนสำคัญในการให้โรคนี้ไม่ส่งผลกระทบค่ะ
หลังจากคุณเข้ามาทำงานตรงนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวคุณบ้าง ทั้งด้านความคิดและจิตใจ
มีผลมากค่ะ เพราะเป็นการกระตุ้นตัวเอง ว่ายังมีคนอีกมากมายที่ต้องการความรู้ และต้องการกำลังใจและจิตใจที่ดีขึ้น และมีความสำคัญต่อการทำงานมากขึ้นทำให้เรารู้สึกสบายใจและมีคุณค่าเหมือนคนทั่วๆไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม
คุณมีอะไรจะบอกกับวัยรุ่นที่กำลังคบหากันอยู่ไหม
อยากจะบอกว่า ให้รู้จัก "ป้องกัน" สวมถุงยางอนามัยตลอดการมีเพศสัมพันธ์เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้วค่ะ
คุณมีอะไรอยากจะบอกกับผู้ที่ติดเชื้อ HIV
HIV เป็นโรคที่สามารถต้านทานได้ เพียงแค่คุณพบแพทย์ตลอดได้รับคำปรึกษาที่ดี ก็สามารถอยู่ร่วมกันกับมันได้ รวมอีกทั้งกำลังใจและแรงผลักดันเป็นสิ่งสำคัญ โรคนี้แพ้กำลังใจ และความสุขค่ะ
คุณวางแผนในอนาคตของตัวเองต่อไปอย่างไร
คิดว่าตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนหนึ่งแล้ว อย่างที่กล่าวไปว่า ไม่มีผู้ใดในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเหมือนเรา รวมอีกทั้งตอนนี้ยังมีกิจการให้ครอบครัวก็ภูมิใจอย่างมากแล้ว ก็คงจะอยากดูแลลูกให้เติบโตเป็นคนที่ดี และได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในด้านนี้ต่อไป เพราะตัวเองเปรียบเสมือนตัวแทนเสียง และผลักดันคนที่ได้รับผลกระทบนี้ได้สู้ต่อไป แค่นี้ก็ภาคภูมิใจแล้วค่ะ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวมาจากการเข้าถึงการตรวจรักษา การได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีเร็ว แต่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ และกลุ่มทหารเกณฑ์คัดเลือกใหม่เข้าประจำการ อายุ 20-24 ปี กลับมาแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเยาวชน ที่มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนและไม่ป้องกัน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนติดเชื้อเอชไอวีและไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อฯของตนเอง นอกจากนี้พบว่าเยาวชนมีอัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 50 รวมถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
“ความพยายามพิชิตการแพร่ระบาดของเอชไอวีในสังคมไทย นอกจากรัฐบาลที่มุ่งเน้นบริการ ดูแลรักษาแล้ว ยังมีองค์กรภาคประชาสังคม ที่ทำงานด้านเอดส์จากทั่วประเทศไทย มากกว่า 150 องค์กร เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญที่สนับสนุนการทำงานของภาครัฐและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย และภาคีโครงการอีกนิดพิชิตเอดส์ ทำคือเข้าถึงกลุ่มประชากรที่มีโอกาสรับเชื้อเอชไอวีสูง แนะนำให้ป้องกันเอชไอวีที่ถูกวิธี และหากเคยมีพฤติกรรมเสี่ยงให้ “เข้าตรวจเอชไอวี” เพื่อการรักษาทันที
เป็นสิ่งที่น่ายินดีและต้องช่วยเหลือกัน เพราะปัจจุบันปัญหาโรคเอดส์ในประเทศไทย ลดลงอย่างต่อเนื่อง และรวมทั้งคนที่ติดเชื้อและได้รับผลกระทบก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้ต่อได้ด้วยความทันสมัยและการยอมรับทางสังคม รวมถึงการถูกตีตราที่น้อยลง ทำให้ผู้คนเหล่านี้มีกำลังใจต่อในการใช้ชีวิต
ซึ่งอยากจะฝากถึงเหล่า วัยรุ่น และ เยาวชน ในปัจจุบันนี้ โรค HIV เป็นโรคที่ไม่สามารถมองเห็นได้ การมีความรักไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่เราต้องรู้จักเรียนรู้ เข้าใจ กับโรคต่างๆเหล่านี้ ซึ่งรวมทั้งโรคอื่นๆที่ไม่ใช่ HIV ยังมีอีกมากมาย โดยทั้งหมดนี้การป้องกันเป็นอันดับหนึ่งที่จะยับยั้งไม่ให้เราได้รับผลกระทบเหล่านี้ได้ การสวมถุงยางอนามัย เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการป้องกันอย่างหนึ่ง
มาร่วมด้วยช่วยกันยับยั้งและหยุดการแพร่ขยาย ปัญหาการติดเชื้อ HIV นี้ ด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม บอกตัวเองไว้เถอะว่า "อยากรักไม่ผิด อย่าลืมคิดที่จะป้องกัน"