กระแส #Metoo ในญี่ปุ่น... ยิ่งพูดยิ่งเสี่ยง
เมื่อปีที่แล้วกระแส Me Too ที่เปิดให้ผู้หญิงและผู้ชายเปิดเผยเรื่องราวการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก
แต่ Me Too กลับไม่ประสบความสำเร็จเมื่อไปถึงประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะกับผู้หญิงญี่ปุ่นที่กล้าออกมาพูดเรื่องนี้ พวกเธอกลับได้รับการตอบแทนด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบ แทนที่จะเป็นความเห็นอกเห็นใจ
อย่างกรณีของริกะ ชิอิกิ นักศึกษาและนักธุรกิจวัย 20 ปี ทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์เมื่อปีที่แล้ว ว่าเธอถูกฉีกสัญญาทำธุรกิจ เพียงเพราะปฏิเสธที่จะร่วมหลับนอนกับลูกค้าของเธอ
คำให้กำลังใจจากทวิตเตอร์ที่เธอคาดหวัง กลับกลายเป็นคำวิจารณ์อย่างไม่ไยดี ...
ผู้คนในโซเชียลมีเดียต่างกล่าวหาเธอว่ากุเรื่องขึ้นมา และใช้เรื่องการถูกคุกคามทางเพศเรียกกระแสให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก ชาวเน็ตบางรายถึงกับบอกว่า เมื่อเธอตกลงไปทานมื้อเย็นกับลูกค้า ก็เท่ากับว่าเธอเปิดโอกาสให้เขาล่วงเกินเธอได้แล้ว
ชิอิกิ เปิดเผยเรื่องนี้กับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเมื่อเดือนธันวาคมว่า ณ วันนี้ ญี่ปุ่นต้องการสังคมที่ทุกคนสามารถพูดเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผย ไม่เช่นนั้นแล้ว การคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ และการกระทำผิดอื่นๆจะยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้น
มาริ มิอุระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Sophia ในกรุงโตเกียว บอกว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้นำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งขาดองค์กรเพื่อสิทธิสตรี ที่ช่วยสนับสนุนหรือช่วยเหลือเมื่อผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องเป็นฝ่ายก้มหน้ารับความผิดในทุกเรื่อง แทนที่จะลุกขึ้นมาหาความยุติธรรมให้กับตัวเอง พวกเธอเลือกที่จะลืมเรื่องราวอันโหดร้ายนี้ไปแทน
ขณะที่ ซาโอริ อิเคอูจิ อดีต ส.ส. และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีญี่ปุ่น บอกว่า สังคมญี่ปุ่นปิดกั้นผู้หญิงไม่ให้เรียกร้องหรือปฏิเสธสิ่งที่พวกเธอไม่อยากทำหรือไม่ต้องการ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมพร้อมใจ
การศึกษาของหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า 1 ใน 15 ของผู้หญิงญี่ปุ่น ยอมรับว่าพวกเธอเคยถูกข่มขืน ทว่า 3 ใน 4 ของผู้หญิงเหล่านี้ไม่เคยบอกใคร มีเพียงร้อยละ 4 ของผู้หญิงญี่ปุ่นที่กล้าเปิดเผยหรือแจ้งความกับเจ้าหน้าที่
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายญี่ปุ่น ชี้ว่า เหยื่อที่ถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ ไม่อยากเปิดเผยเรื่องนี้ เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ควรปกปิด กลัวกระทบกับหน้าที่การงาน ซ้ำร้ายยังมองว่าคดีเหล่านี้คงไม่ได้รับการตัดสินอย่างเป็นธรรมกับเหยื่อ
ข้อมูลสถิติจากกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ระบุว่า 1 ใน 3 ของคดีข่มขืนได้ถูกตัดสินในชั้นศาล ขณะที่จำเลยที่รับสารภาพก็ได้รับโทษที่ไม่รุนแรง โดยเมื่อปีที่แล้ว ผู้ก่อเหตุข่มขืนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเพียงร้อยละ 17 ที่ได้รับโทษจำคุกอย่างน้อย 3 ปีหรือมากกว่านั้น
ย้อนกลับไปที่คดีดังเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้สื่อข่าวสาว ชิโอริ อิโตะ ออกมาเปิดเผยว่าถูกนักข่าวชายชื่อดัง โนริยูกิ ยามากูจิข่มขืน หลังจากที่เขาเชื้อเชิญให้เธอไปทานมื้อเย็นเพื่อคุยงานกัน แต่อิโตะกลับถูกโจมตีอย่างหนักบนโลกออนไลน์และสังคมรอบข้าง บ้างก็ว่าเธอดูมีลักษณะที่ยั่วยวน และเธอมีเป้าหมายทำลายหน้าที่การงานของนายยามากูจิเพื่อนร่วมช่อง บ้างก็ว่าการเปิดเผยการถูกข่มขืนของเธอเป็นเรื่องที่น่าอาย
และสุดท้ายก็ไม่มีการดำเนินคดีกับนายยามากูจิ หลังจากนักข่าวสาวอิโตะถอนฟ้องโดยไม่ทราบสาเหตุ เหลือเพียงคดีแพ่งเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การสอบสวนกันต่อว่า นายยามากูจิ ใช้เครือข่ายส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อกดดันให้ชิโอริ อิโตะถอนฟ้องหรือไม่?
แต่ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชิโอริ อิโตะ ออกหนังสือ “Blackbox” ที่ถ่ายทอดมุมมองของเธอที่ลุกขึ้นมาเปิดโปงการถูกข่มขืนของตัวเอง
บางช่วงบางตอนในหนังสือ เธอเล่าว่า ... เธอเดินทางไปศูนย์การแพทย์หลังจากถูกข่มขืน แต่ปรากฎว่าทีมแพทย์และพยาบาลไม่ได้ถูกฝึกให้ช่วยเหลือเหยื่อเลยแม้แต่น้อย พอไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อคดีข่มขืนก็ถูกปฏิเสธ ...ซ้ำร้ายเมื่อไปแจ้งความกับตำรวจ ก็ถูกบังคับให้อธิบายขั้นตอนการถูกข่มขืนอย่างละเอียด ถึงขั้นสาธิตกับหุ่นขนาดเท่าคนจริงๆอีกด้วย
ยูกิโกะ ทสึโนดะ นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านคดีผู้กระทำผิดทางเพศ บอกว่า คดีของชิโอริ อิโตะ สะท้อนว่า เมื่อเกิดคดีข่มขืนปรากฎบนสื่อญี่ปุ่น หลายคนเลือกเอาตัวออกห่างและมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจ ทำให้กระแส Metoo ไม่ได้รับความสนใจในแดนปลาดิบ ขณะที่ผู้หญิงที่ถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ จะถูกเรียกว่า “ของมีตำหนิ” หรือ the flawed
แต่อย่างน้อยสิ่งที่ก้าวไปข้างหน้าที่สุดสำหรับญี่ปุ่นในตอนนี้ คือ ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อคดีข่มขืนในญี่ปุ่นนับพันชีวิต อย่างมิกะ โคบายาชิ ก่อตั้งกลุ่มช่วยเหลือเหยื่อคดีข่มขืน เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจ แม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่ถึงขั้นสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม