“Ms Marvel” ซูเปอร์ฮีโร่หญิงมุสลิมคนแรกของค่ายมาร์เวล
ณ วันนี้ เธออาจจะยังเป็นซูเปอร์ฮีโร่หน้าใหม่ในค่ายมาร์เวล แต่การเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ชื่อของ Ms Marvel นามว่า คามาลา ข่าน คนนี้ ได้สร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ในลุคของซูเปอร์ฮีโร่หญิงมุสลิมคนแรกของค่ายมาร์เวล ที่มีพลังเหนือมนุษย์สามารถยืดหดร่างกายได้อย่างใจ ภายใต้ปัญหาหลากหลายที่เธอต้องเผชิญในสังคมอเมริกัน
Deedee หนึ่งในแฟนคลับของ Ms Marvel บอกอย่างประทับใจว่า การ์ตูนเรื่องนี้เผยอีกด้านของอเมริกาที่เราอาจไม่เคยรู้ และการ์ตูนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเปิดเผยออกมามากนัก
เช่นเดียวกับ ลูอิส แอลิสัน ยัง คุณครูซึ่งเป็นแฟนคลับของ Ms Marvel อีกราย บอกว่า Ms Marvel ไม่เพียงแค่เผชิญกับชีวิตในรั้วโรงเรียนเท่านั้น เธอยังรับมือกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ที่พ่อแม่ชาวปากีสถานของเธออยากให้ปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมดั้งเดิม ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไม่แปลกอะไร แต่ความท้าทายสำหรับ Ms Marvel คือ การรักษาความเป็นตัวตนที่เป็นชาวมุสลิมของเธอ
Ms Marvel ในร่างของวัยรุ่นหญิงอเมริกันเชื้อสายปากีสถาน คามาลา ข่าน จากเจอร์ซีย์ ซิตี้ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ถูกสร้างขึ้นด้วยไอเดียของ G. Willow Wilson นักเขียนการ์ตูนชาวมุสลิม
คุณ Wilson บอกว่า Ms Marvel ในร่างของ คามาลา ข่าน ต้องเจอกับสถานการณ์ในครอบครัว โรงเรียน แรงกดดันจากเพื่อนฝูง และการค้นหาเป้าหมายในชีวิต ซึ่งเธอต้องการจะถ่ายทอดมุมมองที่หญิงชาวมุสลิมต้องฝ่าฟันในชีวิตประจำวันให้ได้เห็นในจักรวาลมาร์เวล
ด้านเจ้าของร้านการ์ตูนในรัฐนิวยอร์ก คุณ Menachem Luchins ต้อนรับคุณ Wilson และแฟนๆการ์ตูน Ms Marvel อย่างอบอุ่น แม้ว่าเขาจะเป็นชาวอเมริกันเชื้อสาวยิวออร์โธดอกซ์ก็ตาม เพราะเขามองว่า เขาสัมผัสได้ถึงความเป็น Ms Marvel ที่มีส่วนคล้ายกับชีวิตของเขา
คุณ Luchins ยกตัวอย่างฉากในการ์ตูนที่ คามาลา ต้องไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มัสยิด การที่เธอต้องปิดบังตัวตนในฐานะซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ เพราะขัดกับหลักการทางศาสนา ได้สะกิดใจเขาอย่างมากกว่า หากเขามีพลังพิเศษแบบซูเปอร์ฮีโร่แล้ว เขาจะปฏิบัติตนขัดกับหลักการทางศาสนาเพื่อใช้พลังเหล่านั้นหรือไม่?
คามาลา ข่าน หรือ Ms Marvel เกิดที่เจอร์ซีย์ ซิตี้ รัฐนิวเจอร์ซีย์ หนึ่งในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่โรงเรียนมัธยมในการ์ตูนเรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก McNair Academic High School ซึ่งมีอยู่จริง และนักเรียนที่นั่นก็ให้การตอบรับที่ดีด้วย
Mohammad Mirza หนึ่งในนักเรียนโรงเรียนมัธยม McNair Academic High School บอกว่า ทุกที่ๆ คามาลาไปนั้นมีอยู่จริงในโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก และเธอเปรียบได้กับซูเปอร์ฮีโร่ของโรงเรียนนี้ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างที่ปรากฏในการ์ตูน
ด้าน Holly Smith อาจารย์จากโรงเรียนแห่งนี้ บอกด้วยว่า สำหรับหลายคน Ms Marvel อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ของเจอร์ซีย์ ซิตี้และชาวมุสลิม แต่สำหรับเธอ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง และความหวาดกลัวชาวมุสลิมในประเทศที่ลุกลามในตอนนี้ ทำให้ Ms Marvel ถือเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ทลายความเชื่อผิดๆของผู้คนที่มีความแตกต่างทางศาสนาได้ดี
ที่ผ่านมา ชาวปากีสถานให้การต้อนรับซูเปอร์ฮีโร่หญิงมาโดยตลอด โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การ์ตูน The Burka Avenger ซูเปอร์ฮีโร่อีน ที่กลางวันเป็นครูสอนหนังสือ และเป็นซูเปอร์ฮีโร่ชาวมุสลิมที่คลุมผ้าคุลมฮิญาปในยามค่ำคืน คอยปกป้องผู้คนจากความชั่วร้าย และสะท้อนปัญหาในสังคมปากีสถานให้กับเด็กๆ ผ่านเส้นลายบนการ์ตูนเรื่องนี้ ทั้งปัญหาแรงงานเด็ก การเลือกปฏิบัติ ความเชื่อเรื่องโชคลาง ความสำคัญของการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวปากีสถานอย่างท่วมท้น
ขณะที่ เมื่อปี 2558 การ์ตูน Ms Marvel ได้รับรางวัล Hugo Award ที่ถือเป็นรางวัลสูงสุดของผู้เขียนนวยิยายแฟนตาซีและไซไฟ จึงเป็นเครื่องชี้วัดได้เหมือนกันว่า หาก Ms Marvel เชื้อสายมุสลิมรายนี้ได้โลดแล่นบนจอเงินหรือจอแก้ว ก็จะเป็นการสร้างมิติใหม่ในวงการซูเปอร์ฮีโร่ได้เช่นกัน