นักวิจัยรุ่นใหม่ โชว์ 5 กลุ่มงานวิจัย สู่การดันประเทศสู่ ประเทศ “เทียร์ 1” ในด้านนวัตกรรมของโลก
การจะพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมระดับสูงได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ และมีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่เป็นสถาบันผลิตมันสมองของประเทศนั่นคือมหาวิทยาลัย สำหรับบทบาทมหาวิทยาลัยยุคใหม่จะต้องเป็นแหล่งกำเนิดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ นำความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดขยายผลให้เกิดการใช้งานได้จริงทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำผลงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งต้องตอบโจทย์แก้ปัญหาให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทัดเทียมประเทศในกลุ่ม “เทียร์ 1” ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทปอ. ได้จัดงาน “ยูนิเวอร์ซิตี้ เอ็กซ์โป 2018 มหกรรมอุดมศึกษา พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” เพื่อแสดงศักยภาพของภาคอุดมศึกษาผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่าเปลี่ยนแบบหักศอก (Rapidly Change) ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยไปเหมือนความเคยชินของคนไทยแบบที่ผ่านมา มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงแบบเต็มรูปแบบที่ใช้เวลาเพียง 20 ปี ปัจจุบันเกาหลีใต้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนไทยรู้จักดีได้แซงหน้าแบรนด์ระดับโลกจากญี่ปุ่นบางแบรนด์ไปแล้ว หากเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง อาจจะต้องกลับมาคิดว่า เราจะแข่งขันกับเกาหลีใต้ และประเทศในกลุ่ม อาเซียน +3 หรือเราจะแข่งกับประเทศ CLMV สำหรับนโยบายในการสนับสนุนศูนย์รวมนวัตกรรม (Innovation Hubs) ก้าวต่อไป ของ ทปอ. จะเร่งผลักดันให้มหาวิทยาลัยภายใต้เครือข่าย ทปอ. พลัสพลัส ทั้ง 160 แห่ง หยิบนำความโดดเด่นจากนวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้มาผนวกและพัฒนาให้เกิดชิ้นงานแบบใหม่ ๆ ร่วมกัน ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดย 5 กลุ่มนวัตกรรม ที่ ทปอ. ให้ความสำคัญ ได้แก่ กลุ่ม Agriculture & Food กลุ่ม Ageing Society กลุ่ม Smart City กลุ่ม Bioenergy และกลุ่ม Creative Economy
Agriculture & food หรือ ศูนย์นวัตกรรมเกษตรและอาหาร
ดร.อรพดี จูฉิม หัวหน้าโครงการ และนายวีระชาติ ค้ำคู นักวิจัยผู้ช่วย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พัฒนา “โครงการพัฒนาโดรนอัจฉริยะเพื่อใช้ในการเกษตรสําหรับประเทศไทย” พัฒนาโดรนเพื่อสังเกตุการณ์แทนคน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในการทำการเกษตร แต่โดรนอัจฉริยะที่ มจธ. วิจัยขึ้นนั้น จะช่วยตรวจดูศัตรูพืชของต้นไม้ ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าการสังเกตุด้วยคน โดยจะใช้คอมพิเตอร์ประมวลผลด้วยเซ็นเซอร์จับภาพตรวจหาศัตรูพืชและทำการฉีดพ่นสารเคมมีจากส่วนบนของลำต้นทำให้สารเคมีตกลงมาใส่ลำต้นได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังมีกล้องตรวจจับระบบอินฟาเรดเพื่อใช้ค้นหาแมลงหรือศัตรูพืชได้แม้ในเวลากลางคืน มีระบบจัดเก็บข้อมูลนําไปวิเคราะห์โดยใช้การเก็บแบบ HDFS (ระบบจัดการไฟล์แบบพิเศษ) และประมวลผลได้ด้วยคลาวด์ (Cloud) มีระบบการสร้างแผนที่สามมิติจาก RP Lidar (เทคโนโลยีวัดแสงแบบใหม่คล้ายเรดาร์) แล้วใช้เทคโนโลยี SLAM (Simultaneous localization and mapping) เช่นเดียวกับกูเกิ้ล ซึ่งประโยชน์ของโดรนอัจฉริยะฯ นั้นทำให้ลดการใช้ยาศัตรูพืชของต้นไม้เกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังเป็นการลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของเกษตรกร และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เกษตรกรไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร อีกทั้งลักษณะการผลิตจะเน้นในเรื่องการเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีขายในประเทศไทยมาสร้างเป็นหลัก
กลุ่ม Ageing Society หรือ ศูนย์นวัตกรรมสังคมสูงอายุ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล “ผลงานการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์หุ่นยนต์แพทย์เคลื่อนที่อัจฉริยะเพื่อการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช” รองรับสังคมผู้สูงอายุ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้พิการที่กำลังทวีคูณเพิ่มขึ้นในสังคม ซึ่งโครงการนี้เป็นการสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับต่อยอดการออกแบบหุ่นยนต์ประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน ได้แก่ ระบบรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ ระบบเชื่อมต่อกับแพทย์เพื่อทำการปรึกษาแบบประชุมสายออนไลน์ ระบบประเมินผลวินิจฉัยดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยใน การติดตามประเมินผลร่างกายประจำวันในสถานดูแลบุคคลต่าง ๆ เช่น บุคคลติดเชื้อ และเป็นแพลตฟอร์มในการเก็บค่าต่าง ๆ และส่งต่อเข้าสู่ระบบกลางเพื่อทำการเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ใช้งาน สำหรับขั้นตอนการพัฒนาหุ่นยนต์แพทย์เคลื่อนที่ฯนี้ ได้แบ่งขั้นการพัฒนาหลัก ๆ ออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ การออกแบบพัฒนาต้นแบบและการต่อยอดผลิตภัณฑ์ การออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย และการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์
กลุ่ม Smart City หรือ ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ
ดร.อรทัย สังข์เพ็ชร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำทีมวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ดร.สรรเสริญ เจียมอนันท์กุล ดร.ฆนัท ตั้งวงศ์ศานต์ ดร.วีรพงศ์ ผดุงศักดิ์อนันต์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.นัทที นิภานันท์ ร่วมกันพัฒนา “โครงการคลาวด์แพลตฟอร์มเพื่อบูรณาการเมืองอัจฉริยะ (Integrated Smart City Cloud Platform)” แนวคิดนี้มาจากความยุ่งยากในการพัฒนาเมือง เพราะติดปัญหาเรื่องข้อมูล (Data) ที่ไม่ได้บูรณาการ เช่น ด้านคมนาคม ด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นักศึกษาและนักวิจัยจากสามสถาบันจึงร่วมกันคิดระบบคลาวด์แพลตฟอร์มฯ ขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบแพลตฟอร์มให้กับทุกเมืองสามารถใช้งานร่วมกัน มุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูลด้านคมนาคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสาธารณูปโภค และพัฒนามาตรฐานสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเมือง (Data Exchange) ระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับข้อมูล 5 ด้านได้แก่ Smart Mobility (การจราจร การขนส่ง) Smart Living (ด้านความเป็นอยู่และความปลอดภัย) Smart Economy (การลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ) Smart Environment (ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน) Smart Utility (การบริหารจัดการสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะของเมือง) ซึ่งจะเชื่อมโยงสั่งการในด้านต่าง ๆ ของเมืองผ่านระบบอัตโนมัติ (API) และแสดงสถานะของเมืองในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อการบริหารจัดการ (Visualization) โดยปัจจุบันมีบางบริการที่เปิดใช้แล้ว อาทิ ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก การวัดความสุขของคนในแต่ละโลเคชั่น และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมจากหาดใหญ่ เป็นต้น
กลุ่ม Bioenergy หรือกลุ่มนวัตกรรมด้านพลังงานชีวภาพ
ผศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ และนายอุเทน กันทา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจัย “ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (Compressed Biomethane Gas; CBG) ด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน (Membrane)” เป็นระบบที่ช่วยแก้ปัญหาด้านราคาและแนวโน้มความขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวี (Natural Gas for Vehicles) ในอนาคต โดยสามารถเปลี่ยนก๊าซชีวภาพเหลือทิ้งด้วยกระบวนการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพ เพื่อให้ได้ก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ CBG ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซเอ็นจีวี สามารถนำไปใช้สำหรับยานยนต์ แต่มีต้นทุนต่ำเพียง 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาก๊าซเอ็นจีวีในท้องตลาด โดยจะนำก๊าซที่ผลิตได้จากโครงการฯไปจำหน่ายยังสถานีบริการน้ำมันเอ็นจีวี ของ ปตท. ที่อยู่ใกล้เคียง มีกำลังผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัมต่อวัน ประโยชน์ที่ได้รับนอกจากเกิดต้นแบบเชิงพาณิชย์ ในการเปลี่ยนก๊าซชีวภาพให้เป็นก๊าซ CBG ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนมูลค่าสูง และไม่กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ ลดปัญหามลพิษและสภาวะโลกร้อนอย่างครบวงจร ตลอดจนเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับก๊าซ CBG อีกด้วย
กลุ่ม Creative Economy หรือ ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านสินค้าหรือการบริการสร้างสรรค์
ผศ.ดร.ดนัย เรียบสกุล ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าในการวิจัยและพัฒนา “โครงการผ้าทอ Now Laplae (Tradition-Innovation)” เป็นผ้าทอที่ไม่ใช่ผ้าทอธรรมดา แต่เป็นผ้าทอทีมีคิวอาร์ โค้ด (QR Code) โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามี 2 รูปแบบ คือ 1. ผ้าทอเมืองลับแล ด้วยการนำเรื่องราวที่เป็นตำนานมาพัฒนาออกแบบเป็นลายผ้าทอโดยเทคโนโลยีนาโนกันน้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาภาพยนตร์แอนิเมชั่น(Animation) เล่าเรื่องราวตำนานเมืองลับและใช้คิวอาร์ โค้ดสำหรับเชื่อมต่อไปที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่น เพื่อทำการตลาดให้น่าสนใจ และ 2 เครื่องประดับที่นำเทคโนโลยี 3D Printing มาสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยการออกแบบลายจากสัญลักษณ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ประตูเมือง ทุเรียน ข้าวแคบ มาออกแบบและจัดพิมพ์ด้วย 3D Printing ที่มีลักษณะสามมิติ ซี่งโครงการนี้นอกจากจะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ที่สามารถกระตุ้นการซื้อผ้าทอได้ในระดับชุมชนและกำลังจะขยายไปสู่ตลาดระดับประเทศ เพื่อยกระดับสินค้าเป็นพรีเมี่ยมโอทอป ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าทอลับแลได้มากกว่า 50% และยังเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากการนำลายผ้าที่ปรากฎ เช่น สวนทุเรียนบนดอย ประตูเมืองลับแล ฯลฯ ด้วยการนำภาพไปใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย