ตัวอย่างการแก้ปัญหา "สัตว์ไร้ที่อยู่" ของ 4 ประเทศชั้นนำ

ตัวอย่างการแก้ปัญหา "สัตว์ไร้ที่อยู่" ของ 4 ประเทศชั้นนำ

ตัวอย่างการแก้ปัญหา "สัตว์ไร้ที่อยู่" ของ 4 ประเทศชั้นนำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

staysdog

กลายเป็นประเด็นมาให้ถกเถียง กันจนบางทีแทบจะมองหน้ากันไม่ติด กับปัญหาเรื่องสุนัข และแมวจรจัดทั้งหลาย ที่ไม่ว่าใครๆ จะเดินไปไหนในกรุงเทพ ก็มักจะเห็นได้เกือบทุกที่ แม้ว่าหลายๆคนจะหวังดีที่จะพยายามหาทางแก้ปัญหา และนำเสนอความคิดต่างๆ ที่ทั้งดู “โอเค” และดู “ไร้สาระ” เช่นการ Set Zero หรือการฉีดยาฆ่าสัตว์จรจัดเหล่านี้หากไม่สามารถหาผู้เลี้ยงได้ (ฟังดูโหดร้ายจริงๆ) หรือการเรียกเก็บภาษีผู้เลี้ยงสัตว์ (อันนี้ก็แปลกๆ นะ)

แต่ปัญหาที่หลายๆ ฝ่ายกำลังกังวลอยู่อีก คือเรื่องที่ “พิษสุนัขบ้า” กำลังระบาดในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มพยายามหาทางแก้ และพยายามเสนอทางแก้ต่างๆ ทีนี้ Tonkit360 จะลองพาไปดูสถานการณ์ของ “สัตว์จรจัด” ในต่างประเทศและวิธีการแก้ปัญหาของพวกเขา ว่าเขาจะแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง ทั้งในระยะสั้นและยาว เผื่อว่าจะเป็นแนวทางนำมาใช้กันได้

 1Alex Ranaldi

เนเธอร์แลนด์

อ้างอิงข้อมูลจาก petguide.com ประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นประกาศว่าพวกเขาไม่มีสุนัข หรือแมวจรจัดอยู่เลย (ใช่ อ่านไม่ผิดหรอก คือไม่มีเลย) เพราะว่าในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น มีการตั้งกฎที่เรียกว่า “Adopt, Don’t Shop” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “รับเลี้ยง แทนที่จะซื้อ” นั่นเอง ซึ่งกฎนี้มีจุดสำคัญ คือการตั้งภาษีที่สูงมากในการซื้อสัตว์เลี้ยง ตรงกันข้าม หากเราเลือกจะ “รับเลี้ยง” สัตว์แทนนั้น ค่าใช้จ่ายที่ผู้เลี้ยงจะต้องจ่าย หากต้องการจะรับเลี้ยงสัตว์จากสถานสงเคราะห์นั้นจะถูกกว่ามาก

นอกจากเรื่องนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์เองยังมีกฎทำหมันฟรีของสัตว์ด้วย เพราะฉะนั้นในแง่ของการออกลูกนั้น ก็สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้ เรื่องกฎหมายของการทารุณสัตว์เองก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เนเธอร์แลนด์นั้นไม่ค่อยมีสัตว์จรจัดเยอะ เพราะพวกเขามีกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรงหากพบเจอการทารุณสัตว์ ซึ่งการทำแบบนี้ ทำให้คนรู้จักที่จะรักสัตว์มากขึ้น และการลงทุนเรื่องการปลูกฝังการรักสัตว์ในประเทศเองก็ถือว่าทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง และหลายๆ ฝ่ายก็มองว่า การปลูกฝังเรื่องการรักสัตว์นั้น จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการทอดทิ้งสัตว์ได้ในระยะยาว

 2Andrey

อังกฤษ

องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า (PETA) เคยเขียนรณรงค์ในเว็บของพวกเขา ว่าในอังกฤษนั้น ปัญหาเรื่องสัตว์ไร้ที่อยู่นั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่ซับซ้อน แต่ก็มีทางออกง่ายในเบื้องต้น คือการ “รับเลี้ยง” แทนการ “ซื้อ” โดยทาง PETA นั้นมุ่งเป้าไปว่าสาเหตุที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นนั้น มาจากผู้ประกอบการในตลาดซื้อขายสัตว์เลี้ยง ถือว่าผิดมาก เพราะพวกเขาปล่อยให้มีสัตว์เกิดขึ้นมาบนโลก เกินกว่าจำนวนที่ควรจะเป็น โดยไม่ยอม “ทำหมัน” ให้กับสัตว์เหล่านี้ การไม่ทำหมันนั้น สุนัขและแมว(เป็นต้น) จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆแบบควบคุมกันไม่อยู่

อีกเรื่องที่รัฐบาลอังกฤษพยายามจัดการ คือการบังคับให้ฝังชิป หรือไมโครชิปลงไปในตัวสุนัขแบบฟรีๆ ซึ่งการแก้ปัญหาตรงนี้ นอกจากจะแก้เรื่องการ “ทอดทิ้ง” สัตว์แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องสุนัขหาย หรือถูกขโมยด้วย ซึ่งระบบนี้ จะทำงานด้วยการจัดรหัส 15 หลักให้กับสุนัข และฝังรหัสนี้ไว้ในตัวชิปที่ว่า ซึ่งหากมีคนพบเจอสุนัขและแจ้งไปที่เขต ทางเขตก็จะสามารถสแกนหาเจ้าของได้

3wikimedia

ญี่ปุ่น

มาดูประเทศตัวอย่าง อย่างญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อถึงเรื่องความมีระเบียบกันบ้าง แต่ปัญหาเรื่องสัตว์จรจัด หรือไม่มีที่อยู่เองก็ถือว่าเป็นปัญหาอยู่พอสมควร เพราะในปี 2012 นั้นมีการรายงานจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่าในประเทศนั้นมีการจับสุนัขจรจัดไปถึง 210000 ตัว และต้องฆ่าสัตว์เหล่านี้ไปถึง 160000 ตัวซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 ทางรัฐบาลของญี่ปุ่นก็พยายามจะแก้ปัญหา ด้วยการฝังชิปลงไปในสุนัข และต้องมีการติดที่อยู่ รวมถึงชื่อของผู้เลี้ยงไว้ที่สัตว์เลี้ยงทุกชนิด เพื่อระงับการปล่อยทิ้ง (เพราะถ้าปล่อย คนที่พบก็สามารถส่งคืนได้)

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ผู้ขายสัตว์เลี้ยงเองก็ต้องรับหน้าที่สอนการเลี้ยงดูให้กับผู้ซื้อ และดูให้ออกว่า คนที่มาซื้อสัตว์เลี้ยงนั้น อยากจะเลี้ยงจริงๆ หรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันคนที่อาจจะไม่ได้มีความตั้งใจจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในระยะยาว และป้องกันการทิ้งสัตว์ด้วย รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับผู้เลี้ยง ให้ดูแลสัตว์ได้ตามความจำเป็นของสัตว์ โดยรวมแล้วนอกจากญี่ปุ่นจะพยายามป้องกันการทิ้งสัตว์เลี้ยงแล้ว พวกเขายังพยายาม “สกรีน” ผู้ที่ต้องการจะซื้อสัตว์เลี้ยง และให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงดูอีก นับว่าเป็นการปลูกฝังที่ดี และสร้างความเข้าใจถึงความยากลำบากในการเลี้ยงดูสัตว์ด้วย

 4pxhere.com

สิงคโปร์์

สำหรับประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์์เองก็มีปัญหาเรื่อง “สัตว์ไร้ที่อยู่” เหมือนกัน แต่พวกเขาก็พยายามจะจัดการปัญหาเรื่องนี้

โดยเป้าหมายของหน่วยงานงานอย่าง Agri-Food and Veterinary Authority หรือ AVA ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ไปจนถึงเรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์ และพืชต่างๆ และขึ้นกับรัฐบาลสิงคโปร์์ มีแพลนจะทำหมันให้กับสุนัขจรจัด 70% ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ และจะพยายามหาคนรับเลี้ยงสัตว์ไป ส่วนสัตว์ที่ไม่เหมาะกับการรับเลี้ยง หรือหาคนเลี้ยงไม่ได้ ทางการก็จะจัดหาที่ให้สัตว์ที่ว่าได้อาศัยจนกว่าจะตายจากไป ซึ่งขั้นตอนในส่วนนี้ ทางรัฐบาลของสิงคโปร์์ก็จะกำชับกับหน่วยงานต่างๆที่จะมารับหน้าที่ ว่าจะต้องฉีดวัคซีนตัวไหนบ้าง และจะต้องตรวจเช็กสุขภาพอย่างไร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์เหล่านี้

โดยตัวเลข 70% ที่ทางการสิงคโปร์์เลือกนั้น มีหลักการจากงานค้นคว้า คิดคำนวณต่างๆแล้ว ว่าการทำหมันสุนัขจรจัดถึง 70% นั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อการควบคุมการเกิดของสุนัขในประเทศ และจะสามารถลดจำนวนสุนัขจรจัดในระยะยาวได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook