นามบัตรญี่ปุ่น สำคัญไฉน? บอกอะไรในตัวผู้ให้บ้าง?
บรรดามนุษย์เงินเดือน หรือ ซารารีมังทั้งหลายคงจะคุ้นเคยกันดีกับ “นามบัตร” สิ่งเล็กน้อยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งสำหรับการนัดพบพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่โตเพียงใดก็ตาม เป็นต้องเตรียมไว้ให้พร้อม หยิบแลกได้สะดวก เป็นประตูด่านแรกที่ใช้ตัดสินว่าคน ๆ นั้นมีตัวตน มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่แรกพบ แถมยังมีมารยาทอีกมากมายเกี่ยวกับการแลกนามบัตรที่จำเป็นต้องศึกษาเอาไว้ถ้าต้องทำงานกับคนญี่ปุ่น
แต่สำหรับบทความนี้ ผมจะมาชำแหละสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนนามบัตรญี่ปุ่นให้เพื่อน ๆ เห็นว่า มันไม่ใช่แค่กระดาษใบน้อยที่บอกชื่อ อีเมล์ เบอร์โทร และอื่น ๆ เพื่อใช้ในการติดต่อกันเท่านั้น มันมีความซับซ้อนชวนปวดหัวแต่น่าสนใจอย่างมากซ่อนอยู่ถึง 4 ประการเลยทีเดียวครับ!
1. คุณเป็นใคร ตำแหน่งใหญ่แค่ไหนกัน?
เมื่อรับบัตรมาแล้ว สายตาที่กวาดไปหาสิ่งแรกที่ผู้รับอยากเห็นพอ ๆ กับชื่อของผู้ให้ ก็คือ “ตำแหน่ง” ของเจ้าของนามบัตรใบนั้นนั่นเองครับ!! เพราะการนัดหมายพูดคุยทางธุรกิจถือเป็นต้นทุนทางเวลาที่บริษัทต้องเสียไปอย่างแน่นอน จะนัดมานั่งคุยเล่น กินกาแฟกันขำ ๆ คงไม่ดีแน่ ๆ ดังนั้น การนัดกันหนึ่งครั้งต้องคุ้มค่าพอกับเวลาที่เสียไป เรื่องที่คุยกันจำเป็นต้องได้รับการสานต่อ ตำแหน่งในบริษัทของทั้งสองฝ่ายจะบ่งบอกว่าเขาคนนั้น มีอำนาจจะดำเนินการอะไรต่อไปจากนี้ได้บ้าง? ใหญ่พอจะสั่งการให้คืบหน้าได้หรือไม่? มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่ควรเสียเวลาพูดคุยกันต่อ…ตำแหน่งบนนามบัตรจึงสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ชี้เป็นชี้ตายได้ยิ่งดีครับ
2. บริษัทอะไร มีดีแค่ไหน?
เรื่องต่อมาคือ ชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ของบริษัทจะถูกตัดสินจากที่ตั้งของบริษัทตามที่ระบุไว้บนบัตรนั่นแหละครับ!! ใช่แล้วครับ “ที่อยู่” ถูกจัดให้เป็นเครื่องมือสร้างภาพพจน์ให้กับบริษัทญี่ปุ่นโดยเฉพาะในโตเกียว ถ้ายิ่งบริษัทตั้งอยู่ในย่านที่ดินราคาแพงใจกลางโตเกียวอย่างกินซ่าแล้วหล่ะก็ ภาพพจน์ของบริษัทนั้น ๆ จะเป็นที่ยอมรับ ยิ่งใหญ่ มีเกียรติ มีความมั่งคั่ง แค่เห็นที่อยู่ก็ดูเป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพน่าคบค้าสมาคมด้วย ในขณะที่บริษัทที่อยู่ตามแถบชานเมือง แถบที่อยู่อาศัย หรือแหล่งบันเทิงต่าง ๆ ดูจะไม่เป็นที่นับหน้าถือตามากนัก…แหม อยากแจกนามบัตรแล้วได้ยืดอก ก็ต้องควักค่าเช่าหนักหน่อยนะครับเนี่ย
3.เช่าเขาอยู่ หรือ เป็นตึกของตัวเองหล่ะนั่น?
ที่อยู่ของบริษัทนอกจากจะบอกตำแหน่งที่ตั้งว่าอยู่ในย่านเมืองหรูหราหรือไม่แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าบริษัทนั้น ๆ ตั้งอยู่ในที่ดินหรือตึกของตัวเอง หรือเพียงแค่เช่าที่เขาทำออฟฟิศเอาไว้เท่านั้น เพราะมันบ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทได้อย่างชัดเจน บริษัทจำนวนไม่น้อยที่จดทะเบียนเอาไว้เป็นบริษัทก็จริง แต่ใส่ที่อยู่ไว้เฉย ๆ ไม่มีออฟฟิศก็มีมากมาย ตามไปหาก็กลายเป็นบ้านซะอย่างงั้น แต่เพื่อน ๆ สังเกตไหมครับ ว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จทั้งน้อยใหญ่ นิยมที่จะมีตึกเป็นของตนเอง พร้อมกับประกาศศักดาด้วยป้าย Billboard ให้รู้เห็นกันไปทั้งโลกเลยทีเดียวครับ
4.เบอร์โทรซับซ้อนแค่ไหน?
เบอร์โทรที่ซับซ้อน โอนแล้วโอนอีก กว่าจะถึงเจ้าตัวได้ก็ปาไปหลายบาทหลายนาที แม้ไม่สร้างความประทับใจเวลาโทร แต่มันสะท้อนภาพความซับซ้อนของโครงสร้างการบริหารงานในบริษัทนั่นเองครับ!! นามบัตรญี่ปุ่นโดยส่วนมากจึงระบุเป็นเบอร์กลางไว้ก่อน แล้วจึงกำกับเลขหมายสำหรับต่อสายเข้าไปที่โต๊ะทำงานของซารารีมังเจ้าของนามบัตรคนนั้น ๆ นั่นเองครับ!
แค่นามบัตรใบเล็ก ๆ เพื่อน ๆ คงจะไม่คิดว่ามันจะซับซ้อนขนาดนี้ใช่ไหมหล่ะครับ!? แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเล็กน้อยบางเรื่องก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว นามบัตรญี่ปุ่นจึงสำคัญด้วยเหตุนี้ ถือเป็นประตูด่านแรกที่จะนำพาไปสู่อะไรอีกหลายอย่าง ถ้าเพื่อน ๆ ต้องทำงานกับคนญี่ปุ่นแล้ว ลองพลิกนามบัตรตัวเองดูอีกทีดีไหมครับ…ว่าเราสร้างประตูด่านแรกไว้ดีพอแล้วหรือยัง