ผู้สูงวัยญี่ปุ่น "อยากเข้าคุก" เพราะเหงา
ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นตั้งใจทำผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะต้องการเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากเหงาและต้องการคนดูแล
ญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก โดยปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นที่มีอายุต้ังแต่ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสังคมสูงวัยได้เปลี่ยนแปลงระบบการเงินและอุตสาหกรรมค้าปลีกของญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีเทรนด์ที่หลายฝ่ายไม่ได้คาดคิดจากสังคมสูงวัย นั่นก็คือ ปัญหาการก่ออาชญากรรม
สำนักข่าวบลูมเบิร์กของอังกฤษรายงานว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นได้ก่ออาชญากรรมแบบลหุโทษ หรืออาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรง มากขึ้นประมาณ 4 เท่า และนักโทษในเรือนจำประมาณ 1 ใน 5 เป็นผู้สูงวัย และในจำนวนคดีทั้งหมดที่นักโทษสูงวัยผู้หญิงก่อ ประมาณ 9 ใน 10 คดี เป็นคดีลักขโมยของในร้านค้า
ปรากฏการณ์นี้มีต้นตอมาจากความยากลำบากหลายอย่างที่คนสูงวัยญี่ปุ่นต้องเผชิญ โดยบลูมเบิร์กรายงานว่าประชากรผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่คนเดียวในปี 2015 เพิ่มขึ้นจากปี 1985 ถึง 600 เปอร์เซนต์ และผู้สูงวัยที่ถูกจับกุมในข้อหาลักขโมยกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ลำพัง และ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้เปิดเผยว่า พวกเขาไม่มีครอบครัวหรือไม่ค่อยได้ติดต่อกันมากนัก
ยุมิ มุระนะกะ หัวหน้าวอร์ดเรือนจำหญิงอิวะคุนะให้สัมภาษณ์ว่าผู้สูงวัยอาจมีบ้าน มีครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขารู้สึกสบายใจเมื่ออยู่บ้าน หลายคนรู้สึกว่าชีวิตในเรือนจำดีกว่าการอยู่เพียงลำพัง
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าดูแลนักโทษในเรือนจำมากกว่า 625,000 บาทต่อปี แต่นักโทษสูงวัยจะทำให้ค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากต้องจัดหาบริการดูแลคนสูงวัยเป็นพิเศษ รวมถึงบริการทางการแพทย์ด้วย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหลายคนรู้สึกว่าตนเองต้องทำหน้าที่เหมือนพยาบาลดูแลคนสูงวัยมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นักโทษหญิงสูงวัยหลายคนได้ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่าพวกเธอรู้สึกถึงความเป็นชุมชนในเรือนจำ ซึ่งเป็นความรุ้สึกที่ไม่เคยได้สัมผัสนอกเรือนจำ หนึ่งในนักโทษให้สัมภาษณ์ว่าเธอมีความสุขกับชีวิตในเรือนจำมากกว่าชีวิตข้างนอก เพราะในเรือนจำมีคนอยู่ตลอดเวลา เธอจึงไม่รู้สึกเหงามากนัก เธอเล่าว่าตอนที่เธอถูกปล่อยตัวจากเรือนจำครั้งที่ 2 เธอสัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับมาอีก แต่เมื่อออกไปใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว เธอกลับรู้สึกโหยหาชีวิตในเรือนจำ
อัตราการก่ออาชญากรรมของประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นจนทางการญี่ปุ่นพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการปรับปรุงระบบ สวัสดิการและบริการด้านสังคม แต่คดีอาชญากรรมโดยผู้สูงอายุก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง โดยทาเคชิ อิซุมะรุ นักสังคมสงเคราะห์แสดงความเห็นว่า ชีวิตในเรือนจำไม่ใช่ชีวิตที่สะดวกสบาย แต่สำหรับบางคนแล้ว ชีวิตนอกเรือนย่ำแย่ยิ่งกว่า