30 มีนาคม "วันไบโพลาร์โลก" World Bipolar Day
วันนี้เป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวัน วันของโรคไบโพลาร์ (World Bipolar Day) Sanook! Campus จะพาไปรู้จักและเข้าใจถึงโรค ไบโพลาร์ และ การควยคุมรักษาโรคนี้ รวมถึงการเข้าใจและให้กำลังใจ
โรคไบโพลาร์ เป็นโรคอารมณ์ 2 ขั้วของคนที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาจนยากจะควบคุมซึ่งโรคนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และการเข้ากับสังคม โรคนี้เป็นโรคหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีผู้ป่วยโรคนี้ถึงอันดับ 6 ในโรคทั้งหมด และรวมทั้งโรคนี้ยังทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่คาดคิดขึ้นอีกด้วย
วันไบโพลาร์กำเนิดขึ้นเพื่อ ให้สังคมตระหนักและเข้าใจถึงโรคนี้ และความสำคัญของโรค นั่นเอง
อาการของผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร บางช่วงผู้ป่วยอาจซึมเศร้า บางช่วงอารมณ์ดี ครึกครื้น หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ
ช่วงซึมเศร้า (depressive episode) จะมีอาการต่อไปนี้ โดยเป็นเกือบทั้งวัน ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ คือ
1. มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้) ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้
2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก อะไรที่เคยชอบทำก็จะไม่อยากทำ แรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็จะลดลง
3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหาร หรือเจริญอาหารมาก
4. นอนไม่หลับ อาจมีอาการนอนหลับยาก หรือนอนแล้วตื่นเร็วกว่าปกติ อาจนอนหลับๆตื่นๆ ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนอนหลับมากไป ต้องการนอนทั้งวัน กลางวันหลับมากขึ้น
5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
6. อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรงไม่อยากทำอะไร
7. รู้สึกตนเองไร้ค่า บางรายอาจรู้สึกสิ้นหวัง มองสิ่งรอบ ๆ ตัวในแง่มุมที่เป็นลบไปหมด รวมถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย
8. สมาธิ และความจำแย่ลง
9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
ช่วงอารมณ์ดี ครึกครื้น หรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ หรือ แมเนีย (manic episode) จะมีอาการต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ร่าเริงมีความสุข เบิกบานใจ หรือหงุดหงิดง่าย ซึ่งญาติใกล้ชิดของผู้ป่วยมักจะสังเกตได้ว่าอารมณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนผิดปกติ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1 สัปดาห์
2. มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ผู้ป่วยอาจจะมีความเชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถมาก เชื่อว่าตนเองสำคัญ และยิ่งใหญ่ หรืออาจมีเนื้อหาของความคิดผิดปกติมาก ถึงขั้นว่าตนเองสำคัญหรือยิ่งใหญ่ เช่น เชื่อว่าตนเองมีอำนาจมาก หรือมีพลังอำนาจพิเศษ เป็นต้น
3. การนอนผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีความต้องการในการนอนลดลง เช่น อาจรู้สึกว่านอนแค่ 3 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น
4. ความคิดแล่นเร็ว (flight of idea) ผู้ป่วยจะคิดค่อนข้างเร็ว บางครั้งคิดหลาย ๆ เรื่องพร้อม ๆ กัน คิดเรื่องหนึ่งไม่ทันจบก็จะคิดเรื่องอื่นทันที บางครั้งอาจแสดงออกโดยการมีโครงการต่าง ๆ มากมาย
5. พูดเร็วขึ้น เนื่องจากความคิดของผู้ป่วยแล่นเร็ว จึงส่งผลต่อคำพูด ผู้ป่วยมักจะพูดเร็ว และขัดจังหวะได้ยาก ยิ่งถ้าอาการรุนแรงคำพูดจะดัง และเร็วขึ้นอย่างมากจนบางครั้งยากต่อการเข้าใจ
6. วอกแวกง่าย ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน และความสนใจมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามากระตุ้น
7. การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยบางรายจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งที่ทำงาน ที่โรงเรียน หรือที่บ้าน มีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นชัดเจน ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้
8. ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ผู้ป่วยอาจจะแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากการยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เช่น ดื่มสุรามากๆ โทรศัพท์ทางไกลมากๆ เล่นการพนัน หรือเสี่ยงโชคอย่างมาก ใช้เงินมากขึ้นได้
ซึ่งการรักษานั้น ต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจัง พร้อมกะยาควบคู่กันไป เพราะเนื่องจากโรคไบโพลาร์นี้จะเป็นโรคเรื้อรัง จะใช้ยาจะเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมมันได้
นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเป็นซ้ำ เช่น การอดนอน การใช้ยาเสพติด หรือความเครียด เป็นต้น
ซึ่งโรคนี้เป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้อยู่หลายราย ดังนั้น วันไบโพลาร์ เป็นอีกวันหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจและยอมรับผู้ป่วย ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ได้เป็นอย่างดี โดยกิจกรรมในวันนี้ก็จะเป็นการรณรงค์ให้ความรู้แก่คนทั่วไป มีการสร้างกิจกรรมต่างๆ และการแนะนำของผู้เชี่ยวชาญนั่นเอง