เทคนิคเด็ด ในการจดจำคำศัพท์ให้ได้ขึ้นใจ
อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ก็คือ การนึกคำศัพท์ที่เหมาะสมไม่ออก หรือแปลความหมายของคำศัพท์ที่พบไม่ได้ เพราะถึงจะรู้หลักแกรมม่าแน่นปึ๊ก แต่คำศัพท์ไม่ได้ ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน แล้วทีนี้จะทำอย่างไรกันดี ถึงจะจำคำศัพท์ได้แม่นแบบติดแน่นฝังลึกอยู่ในสมองของเรา เคล็ดลับมีอยู่ 5 ประการ ก็คือ
1. ขยันอ่านภาษาอังกฤษ
อ่านมันให้หมด อะไรที่เป็นภาษาอังกฤษ อ่านได้หมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร การ์ตูน ใบปลิว ป้ายโฆษณา ไปจนกระทั่งรอยจารึกข้างกำแพงห้องน้ำ (ถ้าคนมือบอนเขียนเป็นภาษาอังกฤษนะ) เรียกได้ว่าขยันอ่านอะไรที่มันเป็นภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ
อาจเกิดคำถามว่า จะอ่านไปให้มันได้อะไร ถ้ามันไม่รู้ความหมาย คำตอบคือ ได้ความคุ้นเคย ยิ่งอ่านมากก็จะยิ่งเจอคำศัพท์มาก เจอคำศัพท์ที่เราเคยเจอมาแล้วบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดคุ้นเคยกับศัพท์คำนั้น...
2. เล่นเกมประเภทฝึกคำศัพท์
มีอยู่หลากหลายเกม เช่น Scrabble, Word Chain, Hangman, Crosswords เป็นต้น เกมพวกนี้จะช่วยกระตุ้นให้เราจดจำและพัฒนาการใช้คำศัพท์ได้เป็นอย่างดี แถมยังให้ความสนุกสนานอีกด้วย เวลาเล่นก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดกับกฎแบบเอาเป็นเอาตาย เล่นเพื่อความสนุกสนาน มันจะได้ไม่เบื่อเร็ว อย่างเช่นเกม Scrabble ก็แอบเปิดพจนานุกรมไปด้วยก็ได้ จะได้เจอคำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ใช้แต่คำศัพท์ไม้ตายอย่าง "ant", "red" หรือ "hat"...
3. หัดใช้พจนานุกรมให้ติดเป็นนิสัย
อุปกรณ์สำคัญของการเรียนคำศัพท์ก็คือ "พจนานุกรม" (Dictionary) มีทั้งแบบอังกฤษ-ไทย, อังกฤษ-อังกฤษ และไทย-อังกฤษ ถ้ามีทุนทรัพย์พอก็ซื้อให้ครบทุกแบบเลยยิ่งดี หรืออาจจะเลือกแค่หนึ่งจากสองแบบแรกก็ได้...
4. จดบันทึกคำศัพท์ใหม่ไว้ทบทวน
เมื่อพบคำศัพท์ใหม่ควรจดคำศัพท์และความหมายใส่ในกระดาษไว้ทบทวนกันลืมในภายหลัง ได้หลายๆ แผ่นเข้าก็เย็บรวมเป็นเล่ม กลายเป็น "สมุดจดคำศัพท์" ที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของเราเอง ข้อดีที่เห็นได้ชัดของการทำสมุดจดคำศัพท์ส่วนตัวก็คือ ช่วยให้เราจำคำศัพท์ได้แม่นขึ้น เพราะขณะที่เราท่องคำศัพท์ตามปกติ จะใช้ทักษะเพียงด้านเดียวคือ การอ่าน แต่เมื่อเราจดคำศัพท์ลงในกระดาษ เราจะต้องใช้ทั้งทักษะการอ่านและการเขียน ทำให้สมาธิของเราจดจ่ออยู่กับคำศัพท์นั้นมากขึ้น...
5. ใช้เพื่อนเป็นตัวช่วย
บางครั้งนั่งท่องศัพท์คนเดียวนานๆ เข้ามันก็เบื่อ ลองหาเพื่อนสักหนึ่งคนหรือหนึ่งกลุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับเรา คือ อยากฝึกภาษาอังกฤษให้เก่งขึ้น แล้วเอาสมุดจดคำศัพท์ของตัวเองขึ้นมา ผลัดกันถาม-ตอบความหมายของคำศัพท์ นอกจากจะช่วยให้จำคำศัพท์ได้อย่างสนุกสนานแล้ว ในกรณีที่เจอคำศัพท์ซึ่งเราจดความหมายไว้ไม่ตรงกับของเพื่อน ก็ไปเปิดดูความหมายที่แท้จริงในพจนานุกรม ถือเป็นการเช็คความถูกต้องไปด้วยในตัว