มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นสิ่งที่ชาติต้องการหรือไม่ ?
แตกประเด็น “ยุบภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากร” สาขามนุษย์ฯ – สังคม ยังจำเป็นอยู่ไหม?
ท่านนายก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีการกล่าวถึงในเรื่องของการศึกษา ในการเน้นสาขาที่เป็นประโยชน์ทางเทคโนโลยีให้เป็นพิเศษและลดบางสาขาวิชาลง เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต เช่นการปรับลดภาควิชาปรัชญา ให้เป็นเพียงแค่สาขาวิชา ของมหาวิทยาลัยศิลปากร : ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากร เตรียมถูกปรับให้เป็นเพียงแค่ "สาขาวิชา"
จากประเด็นเหล่านี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ "มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ที่ชาติ (ไม่) ต้องการ" เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้น และเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้
สายวิทยาศาสตร์ vs สายมนุษยศาสตร์
สายวิทยาศาสตร์เป็นอีกสายวิชาหนึ่งที่สามารถสร้างผลงาน และสร้างผลผลิตให้กับประเทศที่ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ รวมทั้งสร้างผลงานให้ออกมาชัดเจนได้ยากกว่า ทำให้การทำงานของสายวิทยาศาสตร์จึงเวิร์คกว่าของคณะ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์
อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า กระบวนการทำงาน การเรียนหรืออะไรต่างๆ สายวิทยาศาสตร์นั้นสามารถทำขึ้นมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ มองง่ายๆ งบประมาณที่ถูกเข็นลงไปในสายวิทยาศาสตร์กลับเติบโตขึ้น เรียกได้ว่าสะท้อนถึงความขยันของนักวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้ การทำงานของสายนี้มันเลยเวิร์คกว่าของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ขณะเดียวกัน ในกระบวนการผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ประเทศเราผลิตบุคลากรในสายวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มากเกินความจำเป็นของประเทศ ที่จริงแล้วถ้าเราจะผลักดันให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า นักเรียนสายอาชีพจะได้เปรียบกว่าสายสามัญด้วยซ้ำในตลาดอาชีพ แต่เรากลับให้ความสำคัญกับสายสามัญ จนกระทั่งสัดส่วนของสายสามัญกับสายอาชีพไม่สอดคล้องกัน เช่น ประเทศเราผลิตครูเกินกว่าความต้องประเทศ รวมทั้งบัณฑิตที่ผลิตออกมาแล้วไม่สามารถทำงานได้ด้วยสาเหตุหลายประการก็ยังมีอยู่มาก จึงกลายเป็นที่มาของประเด็น "การพัฒนาเศรษฐกิจกับการศึกษาไทย" ที่ท่านนายกได้พูดถึงไป
ความท้าทายของภาคการผลิต
ภาคการผลิตในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ด้วยระบบทางเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งหลาย ที่กำลังเปลี่ยนแพลตฟอร์มโดยสิ้นเชิง กลายเป็นการปรับตัวขนานใหญ่ และจะส่งผลกระทบกับสายวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ด้วยเหมือนกันในอีกไม่นานแน่นอน ถ้าระบบเทคโนโลยีเหล่านี้ล้ำหน้าไป จะส่งผลกระทบต่อสายการเรียน เพราะว่าจะทำให้ความรู้ที่เหล่าเยาวชนได้รับมาทั้งหมดกลายเป็นความสูญเปล่าไปในทันที แปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบต่ออาชีพในหลายภาคส่วนอุตสาหกรรม โจทย์นี้เป็นสิ่งที่ต้องควรรับรู้และหาทางออกให้ได้ในอนาคตต่อไปด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าในอนาคตนั้น มันจะส่งผลกระทบต่อแทบจะทุกสาขาวิชาเลยทีเดียว
คนแบบไหนที่ภาคการผลิตต้องการ
จากสถานการณ์ในภาคการผลิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ “สเปก” ของแรงงานที่ภาคการผลิตต้องการก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่ง คุณธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และเครือเจียไต๋ ได้ให้ความเห็นเปรียบเทียบระหว่างแรงงานไทยและแรงงานจีนว่า การสร้างคนของประชาชนจีนจะเล็งเห็นและสร้างคนมาจากจุดเริ่มต้น เขาต้องการคนที่มีประสบการณ์การเรียนเก่งๆ คนที่มีแววเพื่อที่จะทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ ด้วยการพิสูจน์และไต่เต้าขึ้นมาและแนวคิดที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตและผลักดันให้ประเทศจีนมีแนวโน้มและเติบโตทางเศรษฐกิจในลำดับต้นๆ พอมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ประเทศเรามีการผลิตสร้างคนในยุคใหม่ออกมามากมายเช่นเดียวกัน ซึ่งในระบบการทำงานต่างๆ ในภาคสาขาสังคมศาสตร์ หรือ มนุษย์ศาสตร์ นั้นยังมีความจำเป็นอย่างมาก มันไม่เกี่ยวกับภาควิชาสาขา แต่ที่เราต้องเปลี่ยนคือ ความคิดให้ทันสมัยมากขึ้น เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมหาศาล ถ้าให้มองภาพรวมคนไทยนั้นไม่ค่อยมีความทันสมัยเท่าไหร่ กลับกลายเป็นคนมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน กลายเป็นคนที่แอคทีฟมากกว่า ซึ่งไม่ใช่เหนือกว่าในเรื่องความเก่งความฉลาด แต่เหนือกว่าในเรื่องความคิด ความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงซะส่วนใหญ่ ถ้าประเทศไทยสร้างคนแบบนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์มากๆ สาขาวิชาแบบนี้จึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก
สายวิทย์กับสายสังคม สายไหนควรถูกพัฒนากันแน่
วัชระ สินธุประมา อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า ถึงแม้เราจะพัฒนาวิทยาศาสตร์มากเพียงใด หรือเราจะตามให้ทันแนวคิดของคนรุ่นใหม่เพียงใด สิ่งที่ต้องพัฒนาขึ้นตามไปด้วยคงจะหนีไม่พ้นวิชาของ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ แน่นอน พอยุคสมัยเปลี่ยนไปโจทย์เหล่านี้ก็ตามมา สิ่งที่ต้องแก้ไขคงจะต้องเป็นหลักสูตรของวิชาและความเข้าใจมากกว่าการบั่นทอนวิชานั้นๆ ลง การพัฒนาหลักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ควบคู่กับวิทยาศาสตร์ เท่านั้นจึงจะตอบโจทย์เสียมากกว่า
มองง่ายๆ ประเทศไทยจะนำประเทศอื่นได้อย่างไรถ้าเน้นแต่วิทยาศาสตร์ ต่อให้เทคโนโลยีจะก้าวไกลแค่ไหน เราก็ไม่สามารถสู้ประเทศอื่นๆ ได้เหมือนเดิม เพราะความเป็นสังคม มนุษยชน ก็ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจอยู่ดี
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวและสรุปไว้ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเลยคือ คนไม่เข้าใจ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์มากกว่าหรือเปล่า? คณะเหล่านี้ไม่ใช่ที่จะต้องไปมองย้อนอดีต ค้นหาประวัติศาสตร์ ทำอะไรย้อนยุค โลกเปลี่ยนไปหลักสูตรก็คงต้องเปลี่ยนไปจากเดิมๆ ที่เจอกันมา เพราะปัญหาที่พวกท่านทั้งหลายพบเจอนั่นแหละ ที่ความเป็นสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะตอบโจทย์มัน และต้องร่วมกันพัฒนามากกว่าจะลดทอนลงด้วยซ้ำ ด้วยประชากรในยุคต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ในการศึกษาและทำความเข้าใจคนเหล่านี้ เราต่างหากที่ควรพัฒนาให้ตามโลกและความคิดคนให้ทัน
คำถามสุดท้ายคือ แล้วมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์นั้น มีข้อจำกัด ที่สามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้แค่ไหน ในเมื่อจริยธรรม สอนกันได้ มันก็สามารถสอนให้คนซื่อสัตย์ได้ นี่ก็คือส่วนหนึ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องการไม่ใช่หรือ ? อีกทั้งเราสอนให้คนคิดได้ว่าความถูกผิดดีงามในโลกนี้มีอะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นวิชาที่สามารถสอนให้คนคิดเป็นทำเป็น ทำไมเราจึงมองข้าม เราควรคิดไหมว่า ทำอย่างไรให้เนื้อหาสาระดังกล่าวเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการสอนของคณะเหล่านี้ได้ จำเป็นหรือที่ต้องลดทอนคณะเหล่านี้ลง เราจะสามารถผลักดันคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นคนที่ชาติต้องการ ด้วยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้หรือไม่ ? เป็นสิ่งที่อยากฝากไว้ให้ขบคิดกัน