ตามรอยบุพเพสันนิวาส รู้จัก “ฮอลันดา – จีน – แขก” 3 ชนชาติสำคัญในสมัยพระนารายณ์
ในขณะที่แฟนละครบุพเพสันนิวาสพุ่งความสนใจไปที่ตัวละครเทาๆ อย่างคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือฉากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างการต้อนรับราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และการส่งโกษาปานและขุนศรีวิสารวาจา หรือ “คุณพี่หมื่น” ไปฝรั่งเศส ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับต่างประเทศ แต่รู้หรือไม่ว่า ที่จริงแล้วในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังมีชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และขับเคลื่อนสังคมการเมือง สร้างสีสันให้กับยุคสมัย ขณะเดียวกันก็หยั่งรากลึกจนกรุงศรีอยุธยากลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ยังมีร่องรอยหลงเหลือในปัจจุบัน
แต่ด้วยพื้นที่และระยะเวลาของละครที่มีอยู่จำกัด ทำให้บทบาทของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก ดังนั้น เหล่านักวิชาการจึงรวมตัวกันในงานเสวนา “บุพเพสันนิวาส : ภาพสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายในสังคมอยุธยา สมัยนั้นมีใครมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาบ้าง มาทำความรู้จักกัน
ฮอลันดา: คู่ค้าและคู่แค้น
ที่ผ่านมา ฮอลันดาได้ชื่อว่าเป็นผู้ร้ายที่คอยกดขี่และพยายามผูกขาดการค้าในกรุงศรีอยุธยา ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชต้องดึงฝรั่งเศสเข้ามาคานอำนาจ อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหานี้กลับมาจากชนชาติอื่น ในขณะที่เราได้ยินเสียงของฮอลันดาน้อยมาก ดังนั้น ผศ.ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฮอลันดา จึงขอทำความเข้าใจฮอลันดาใหม่
ผศ.ดร.ภาวรรณ เล่าว่า ชาวฮอลันดาเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาในฐานะบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือ VOC โดยส่งทูตมาครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนเรศวรใน พ.ศ. 1604 แต่สมเด็จพระนเรศวรก็สวรรคตไปก่อน การติดต่อการค้าก็เป็นอันต้องหยุดชะงักไป แต่หลังจากนั้นไม่นาน ชาวฮอลันดาก็กลับเข้ามาใหม่อีกครั้ง โดยโฟกัสไปที่สินค้าอย่างหนังสัตว์ ที่สามารถนำไปขายที่ญี่ปุ่นได้ ทำให้ฮอลันดาตัดสินใจลงหลักปักฐานในอยุธยา
จากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างฮอลันดากับอยุธยาก็ดำเนินไปแบบทั้งรักทั้งชัง คือเป็นทั้งคู่ค้า เป็นทั้งผู้ที่แลกเปลี่ยนทางการทูต และเป็นพันธมิตรทางการเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นคู่แข่งทางการค้า จากการที่ทั้งสองฝ่ายเป็นนักผูกขาด โดยราชสำนักอยุธยาถือว่าเขาเป็นเจ้าของทุกชีวิต ทุกสรรพสิ่ง และในทางปฏิบัติก็คือเป็นเจ้าของสินค้าส่งออกที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหนังสัตว์ ข้าว ดีบุก ส่วนฮอลันดาก็พยายามทำสนธิสัญญาเพื่อผูกขาดสินค้าที่ตนเองต้องการ
ความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างกรุงศรีอยุธยาและฮอลันดา เกิดขึ้นเมื่อพ่อค้าจากกรุงศรีอยุธยาพยายามแต่งเรือด้วยลูกเรือจีน เข้าไปทำการค้ากับญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นปิดประเทศและอนุญาตให้จีนกับฮอลันดาเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้เท่านั้น ทำให้ชาวฮอลันดาคิดว่ากรุงศรีอยุธยาไม่ตรงไปตรงมา ประกอบกับการที่ราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มีท่าทีเป็นมิตรกับขุนนางของราชวงศ์หมิงที่เข้าไปปักหลักในไต้หวัน และขับไล่ชาวฮอลันดาออกมา ทำให้ฮอลันดาไม่พอใจ ยิ่งกว่านั้น ขุนนางแขกและขุนนางจีนในราชสำนักอยุธยาก็โหมความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น ด้วยการขู่ทำร้ายร่างกาย และบีบฮอลันดาให้ออกไปจากการค้าของประเทศ ในที่สุด เรื่องราวก็ไปถึงจุดพีคใน พ.ศ. 1663 - 1664 เมื่อฮอลันดาเอาเรือติดอาวุธสองลำมาปิดปากอ่าว และไล่ปล้นเรือของกรุงศรีอยุธยาที่เดินทางกลับมาพร้อมสินค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ปัญหานี้จบลงที่การลงนามในสนธิสัญญาไทย – ฮอลันดาฉบับแรก ใน พ.ศ. 1664 ที่มีสาระสำคัญคือการให้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่กับชาวฮอลันดาที่ค้าขายในราชอาณาจักร และให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือหากคนในบังคับของ VOC ทำผิดในอยุธยา ไม่ต้องถูกพิจารณาโดยศาลไทย และในที่สุดความสัมพันธ์ก็กลับมาเป็นปกติ เนื่องจากทั้งสองต่างก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อผลประโยชน์ ทั้งการซื้อขายสินค้าจากต่างแดน และการส่งทูตออกไปโพ้นทะเลโดยใช้เรือของฮอลันดา
จีน: ชนชาติที่ไม่ได้มีดีแค่ตีกระทะ
แฟนละครบุพเพสันนิวาสน่าจะได้รู้จักกับ “จีนฮง” ที่แม่การะเกดว่าจ้างให้ช่วยสร้างกระทะรุ่นพิเศษ รวมทั้งฉากที่นางเอกต้องไปต่อยตีกับคนจีนที่คุมซ่อง แต่ที่จริงแล้ว คนจีนที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้มีแค่สองอาชีพนี้เท่านั้น ดังนั้น เพื่อขยายภาพของคนจีนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อ.เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษา จึงรับหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนให้เราฟัง
รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงกับสมัยของจักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์กันใน 2 ระดับ คือระดับราชสำนักด้วยกัน กับระดับพ่อค้า ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เดินทางไปกับเรือทูตหรือเรือบรรณาการ ที่จะได้รับการอนุญาตให้ค้าขายเฉพาะกิจ แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นพ่อค้าชาวบ้าน ที่มีการค้าขายอย่างถูกกฎหมายในช่วงที่มีการเปิดอ่าวหรือท่าเรือของจีน และลักลอบค้าขายในช่วงที่ปิดท่าเรือ
ชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ตั้งชุมชนอยู่ด้านตะวันออกสุด นอกกำแพงเมืองแถบป้อมเพชร ไปจนถึงบริเวณที่ตั้งวัดพนัญเชิง และมีวิถีชีวิตกลมกลืนไปกับคนไทย บันทึกคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ ระบุว่ากรุงศรีอยุธยามีการนำเข้าเหล็กจากจีน รวมทั้งมีการตีเหล็ก ทั้งเหล็กที่นำเข้าและเหล็กของอยุธยาเอง โดยมีหลักฐานคือระฆังเหล็กที่พิพิธภัณฑ์วังจันทร์เกษม ซึ่งหล่อถวายศาลเจ้าก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก 2 ปี โดยหล่อมาจากเมืองฝอซานในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งแร่เหล็กชั้นดีที่ราชสำนักมักจะมาใช้ในการหล่อสิ่งของเครื่องใช้ นอกจากนี้ ยังมีกระทะขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีการหล่อขั้นสูง ซึ่งกรุงศรีอยุธยานิยมสั่งซื้อด้วย และสินค้าอย่างหนึ่งที่จีนหวงแหนมากก็คือทองแดง ที่ใช้สำหรับจัดทำยุทธภัณฑ์ แต่กรุงศรีอยุธยามักจะสั่งซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปหล่อพระพุทธรูป แต่จากหลักฐานเอกสารของจีนบ่งบอกว่าทางการจีนไม่ได้เชื่อคำกล่าวอ้างนี้
นอกจากหลักฐานการสั่งซื้อเหล็กและทองแดง ยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปศิลปะจีนที่แกะสลักโดยช่างชาวจีนจำนวนมาก บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าช่างฝีมือชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่ได้มีแต่ช่างตีกระทะ แต่เป็นศิลปิน รวมทั้งตำรับอาหารที่ทุกวันนี้ยังผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น น้ำปลาที่แม่การะเกดนำมาทำน้ำปลาหวาน ก็มาจากชาวจีนนั่นเอง
แขก: พ่อค้าและขุนนางใหญ่ในราชสำนัก
ในละครบุพเพสันนิวาส เราอาจจะเห็นบทบาทของแขกไม่มากนัก มีเพียงหลวงศรียศ หรือพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) แต่รู้หรือไม่ว่าแขกมีบทบาทมากกว่านั้น โดย ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุคทองของแขกในราชสำนักอยุธยา จากการค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับดินแดนฝั่งมหาสมุทรอินเดียที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมเรื่อยมาถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อแขกจากทุกสารทิศเดินทางเข้ามามากขึ้น ก็กลายเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อราชสำนัก ทั้งในทางการเมืองและการค้าทางทะเล และสำหรับคนไทยเอง เมื่อเห็นคนหน้าตาประหลาด จมูกงุ้ม หนวดเครารุงรัง ผิวหลากสีตั้งแต่สีเข้มไปจนกระทั่งสีขาว ก็เรียกรวมว่าแขกได้หมด แขกกลุ่มหลักๆ ที่เข้ามาตั้งชุมชนมีอยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่
(1) แขกจาม แขกมักกะสัน และแขกมลายู เป็นแขกกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของกรุงศรีอยุธยา มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแขกจามถูกพวกเวียดนามขับไล่มาจากอาณาจักรจามปา ทางตอนใต้ของเวียดนาม และบางส่วนได้เข้ารับราชการในกรมที่ทำการรบทางเรือ หรือที่เรียกว่ากรมอาสาจาม โดยมีเจ้ากรมคือ พระยาราชวังสันหรือพระยาราชบังสัน ส่วนแขกมักกะสันและแขกมลายูเข้ามาทีหลัง ทั้ง 3 กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ตั้งรกรากอยู่นอกกำแพงเมือง บริเวณคลองคูจามน้อยและคลองคูจามใหญ่หรือคลองตะเคียน และมีตลาดปากคลองคูจาม ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ตลาดใหญ่ที่สุดของอยุธยา ปัจจุบันก็ยังมีชุมชนอยู่ในบริเวณนี้ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แก่ ศาสนสถานที่เรียกว่าตะเกี่ย และสุสานของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) จุฬาราชมนตรีคนสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
(2) แขกใหญ่ หรือแขกใหญ่เจ้าเซน เป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ที่มาจากเปอร์เซีย หรือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน เข้ามาตั้งชุมชนอยู่กลางกำแพงเมือง ถัดจากชุมชนพราหมณ์เทศและชุมชนจีน บนถนนอิฐก้างปลาที่ฝรั่งในยุคนั้นเรียกว่า “ถนนแขกมัวร์” เอกสารบางฉบับเรียกว่าถนนชีกุน ซึ่งเป็นถนนที่ขายเครื่องประดับและอัญมณี ทุกวันนี้ร่องรอยของชุมชนแขกใหญ่เจ้าเซน เหลือเพียงสะพานประตูเทพหมี หรือ เทศมี ในภาษาเปอร์เซียที่แปลว่าประตู ที่มีรูปแบบเหมือนสะพานในอิหร่าน เชื่อกันว่าในอดีตเป็นสะพานขนาดใหญ่และแข็งแรงมาก สำหรับให้ช้างเดินข้ามและขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังมีที่ฝังศพของเฉกอะหมัด ขุนนางที่เป็นต้นสกุลบุนนาคด้วย
บ้านเรือนของชาวเปอร์เซียในอยุธยาเป็นอาคารหลังคาทรงจั่วแบบปั้นหยา เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนในแคว้นกิลาน ประเทศอิหร่าน บ้านเกิดของข้าราชการแขกเปอร์เซียส่วนใหญ่ในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนี้ สภาพอากาศในแคว้นกิลานยังคล้ายกับอากาศในประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาปัตยกรรมจะคล้ายคลึงกัน ตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่ยังพอเห็นได้ในประเทศไทยก็ได้แก่ ตึกปิจูกับตึกโคระส่าน ในวัดเสาธงทอง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นบ้านพักของทูตเปอร์เซียและพ่อค้าอินเดียที่นำเพชรพลอยมาขายนั่นเอง
(3) แขกฮินดู หรือพราหมณ์เทศ ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศอินเดีย ยึดอาชีพค้าขายเครื่องประดับ อัญมณี และลูกปัดสี ตั้งชุมชนอยู่บริเวณถนนชีกุนที่แม่การะเกดไปซื้อเครื่องประดับเพชรพลอยต่างๆ ตรงข้ามกับชุมชนพราหมณ์เทศก็คือเทวาลัย หรือว่าเสาชิงช้านั่นเอง ซึ่งเป็นจุดที่เป็นแกนกลางของเมือง
(4) แขกแพ เป็นแขกหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในแพผูกต่อกันเป็นตับขนานไปกับแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ทางใต้ของเมือง บริเวณนั้นจึงกลายเป็นตลาดค้าขาย และมีพ่อค้าแขกอาศัยอยู่
อยุธยา = ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมถือเป็นเรื่องปกติสำหรับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายและปะทะสังสรรค์กับคนต่างถิ่นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติเดินทางเข้ามา นอกจากนี้ ความหลากหลายนี้ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กรุงศรีอยุธยา หลังจากการเสียกรุงครั้งที่ 1 นั่นคือการสั่งสมประชากรขึ้นใหม่ หลังจากที่ประชาชนถูกกวาดต้อนไปในศึกสงคราม ซึ่ง ผศ.ดร.ภาวรรณ ยืนยันว่ากรุงศรีอยุธยาไม่ใช่ไทย แต่เป็นสังคมที่เติบโตขึ้นจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม และใครที่สามารถให้ทักษะความสามารถบางอย่างให้กับรัฐได้ ก็จะได้รับการยอมรับ โดยรัฐเองก็ใช้วิธีการ “บริหารจัดการความหลากหลาย” ตั้งใจให้ชุมชนต่างชาติเหล่านี้สามารถเติบโตและทำประโยชน์ให้กับอยุธยาได้ ทั้งการพระราชทานที่ดินสำหรับก่อตั้งชุมชน และให้อิสระในการปกครองชุมชนของตัวเองภายใต้กฎหมายของอยุธยา ขณะเดียวกันก็มีการผนวกชาวต่างชาติที่พอมีฐานะเข้าสู่ราชสำนัก โดยการแต่งตั้งเป็นขุนนาง ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ประโยชน์จากทักษะของคน วัตถุสิ่งของ ความคิดของคนที่มาจากหลากหลายถิ่น
ด้าน ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกับ ผศ.ดร.ภาวรรณ เรื่องความต้องการกำลังคนที่มีความรู้และความชำนาญเพื่อฟื้นฟูบ้านเมือง และวิธีการที่สามารถหากำลังคนได้เร็วที่สุดก็คือการ “อิมพอร์ต” คนเข้ามาใช้งาน โดยเฉพาะชนชาติที่มีความสามารถรอบด้านอย่างแขก เมื่อเข้ามาอยู่ต่างถิ่น แขกเองก็แสวงหาพันธมิตรชั้นดีอย่างชนชั้นนำ จนทำให้แขกกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลในราชสำนักอยุธยาในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างขุนนางฝรั่ง ขุนนางแขก และขุนนางท้องถิ่นตลอดเวลา ทั้งจากการที่สมเด็จพระนารายณ์พยายามสนับสนุนเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เพื่อลดอำนาจขุนนางแขกที่มีอิทธิพลมาก ตามด้วยการสนับสนุนฟอลคอน หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์กบฏมักกะสัน ที่ขุนนางแขกเกรงว่าสมเด็จพระนารายณ์จะเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาตามฝรั่งเศส จึงก่อการกบฏ และทำให้ทหารทั้งของแขกมักกะสันและทหารฝรั่งเศสล้มตายเป็นจำนวนมาก ก่อนที่ขุนนางแขกอย่างหลวงศรียศจะหันไปร่วมมือกับพระเพทราชา ยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์และสังหารพระปีย์กับฟอลคอนในที่สุด
สำหรับความสัมพันธ์กับชาวจีนนั้น อ.เศรษฐพงษ์ระบุว่า ทั้งอยุธยาและชาวจีนต่างก็ได้รับผลประโยชน์จากความหลากหลายนี้ โดยสำหรับชาวจีนที่เคยอยู่กับระบบการปกครองที่มีระเบียบ และไม่ค่อยย้ายถิ่นฐาน ถือว่าอยุธยาได้ให้โอกาสใหม่และชีวิตใหม่ที่มีอิสระมากกว่า โดยเฉพาะโอกาสทางการค้าและอาชีพ ขณะเดียวกัน อยุธยาก็ได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมของจีนเข้ามาผสมกลมกลืน จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน