เปิดใจ 2 นักแสดงขวัญใจแฟน "บุพเพสันนิวาส"
นางปริก และนางผิน สองคู่ปรับที่สร้างสีสันให้กับละครบุพเพสันนิวาส จนกลายเป็นขวัญใจของผู้ชม เบื้องหลังพวกเธอต้องเจอกับความท้าทายในชีวิตนักแสดงมาอย่างหนักกว่าจะประสบความสำเร็จในวันนี้
นางปริก หรือ แอ๊ว-อำภา ภูษิต มิสอินเตอร์เนชั่นแนลไทยแลนด์ 1977 และนักแสดง ที่ขณะนี้โด่งดังในฐานะ ‘อีปริก บ่าวช่างยุ’ เริ่มต้นก่อนเข้าวงการบันเทิงจากการเดินตามพี่สาว “ผดุงศรี โสภิตา” และแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ‘ฟ้าหลังฝน’ จากนั้นก็ได้รับบทเป็นนักแสดงนำในละครอีกมากมาย เช่น สามใบเถา, พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ, ทองเนื้อเก้า, และบุพเพสันนิวาส
เธอเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของละครไทย จากละครบอกบทเป็นละครพูด ทำให้เธอรู้สึกท้อใจในช่วงแรกที่ต้องเปลี่ยนวิธีการแสดง คือการพูดด้วยน้ำเสียงตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลานั้นไม่มีการเรียนการสอนแสดงอย่างจริงจัง เธอจึงต้องใช้วิธีครูพักลักจำจากนักแสดงรุ่นพี่ และพี่สาว ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาบทละครอย่างละเอียดทั้งของตัวเอง และบทของคนอื่น เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของเรื่อง และรู้จังหวะในการเล่น ในการหยอดมุก บางเรื่องแม้บทจะน้อย แต่ถ้าเรารู้จักตัวละครนั้นดีพอ ก็จะทำให้ตัวละครมีสีสัน มีชีวิตชีวา และเป็นที่จดจำของคนดู ซึ่งแม่แอ๊วมักจะเสนอไอเดีย หรือมุกใหม่ๆให้ผู้กำกับเสมอ เช่น มุกไม่กินข้าวเย็นเพราะไดเอ็ท-กลัวโดนเอ็ด ในละครบุพเพสันนิวาส เป็นต้น ดังนั้นเธอจึงไม่เคยคิดน้อยใจว่าจากนางเอกจะต้องมารับบทคนใช้ คิดเพียงแค่ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง จะเล่นบทไหนก็ไม่สำคัญ
“เราเป็นนักแสดงคนหนึ่ง เล่นให้เค้ารู้สึกว่าเราเล่นได้ดีกว่า จะเป็นตัวไหนก็ได้ ไม่มีบทดิฉันก็เอาตัวรอด ถ้านั่งนิ่งๆมา ไม่อ่านบท ก็ตายสนิท”
ส่วนเคล็ดลับที่ทำให้ อำภา ภูษิต เป็นที่รักในวงการบันเทิงมานานกว่า 40 ปี คือการให้เกียรติทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เช่น นักแสดง ช่างแต่งหน้า ช่างไฟ ช่างภาพ เพราะพวกเขาคือคนที่ทำให้เราดูดีเวลาอยู่หน้าจอทีวี ให้เกียรติแฟนคลับละคร ที่แม้หลายเรื่องจะอินเกินจนชี้หน้าด่าเราในชีวิตจริง เราก็จะต้องพูดจาดีทำตัวดีต่อเขา ให้เขารู้ว่าตัวจริงกับตัวละครต่างกันอย่างไร และสุดท้ายคือความรับผิดชอบ ไม่เกี่ยงงาน และความตรงต่อเวลาที่พ่อปลูกฝังไว้ให้ตั้งแต่เด็ก แม่แอ๊วบอกว่าการเป็นนักแสดงในวงการบันเทิงมีแต่โอกาส ถ้าเราทำตัวดีให้เป็นที่รัก ตั้งใจทำงาน ผลงานที่ออกมาก็จะส่งเสริมตัวเราให้มีช่องทางทำงานอื่นๆ เช่น อีเว้นต์, โฆษณา, หรือการต่อยอดอื่นๆจากละคร แต่ถ้าหากเราไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่พื้นที่ตรงนี้ก็จะกลายเป็นข้อเสียที่ปิดโอกาสหลายๆอย่างในชีวิตได้เช่นกัน
พี่ผิน หรือ หยา-จรรยา ธนาสว่างกุล อาจารย์ศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยหอการค้า จบการแสดงมาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และทำงานในฐานะนักแสดงมากว่า 20 ปี เธอเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมารับบทเป็นคนใช้ หรือตัวละครสมทบในระดับเดียวกันมาโดยตลอดเกือบ 50 เรื่องจนตัวเองรู้สึกน้อยใจ และรับตัวเองไม่ได้ ทั้งที่ตนเองเรียนด้านนี้มาอย่างลึกซึ้ง เคยรับบทนักแสดงนำมาตลอดในช่วงวลาเรียน แต่กลับถูกคนในกองถ่ายบางคนปฏิบัติกับเธอเป็นเพียงแค่ตัวประกอบ ไม่เห็นคุณค่า จนแทบจะตัดสินใจออกจากวงการบันเทิง แต่ก็ฉุกคิดคำถามขึ้นมาถามตัวเองว่า "แล้วแกเป็นนักแสดงที่ดีแล้วหรือยัง? ถ้าเป็นนักแสดงที่ดีก็ต้องเล่นเป็นใครก็ได้ แล้วทำไมฉันต้องเกลียดความเป็นคนใช้ ดังนั้น เมื่อต้องเป็นคนใช้ ฉันขอเป็นคนใช้ที่โลกจะต้องจดจำ" หลังจากนั้นเธอจึงมีแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป โดยใช้งานอดิเรก คือ การแสดงละครเวทีเป็่นเครื่องชำระล้างจิตใจจากความเหนื่อยล้าในวงการบันเทิง
'บุพเพสันนิวาส' เป็นละครที่ผู้กำกับ 'ใหม่-ภวัต พนังคศิริ' เปิดพื้นที่ให้กับทุกตัวละคร แม้กระทั่ง ไก่ ทำให้ทุกตัวละครซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกจดจำ ได้ถูกจดจำ ทุกตัวละครมีมิติ ขณะที่ตัวเองก็ตั้งใจทำการบ้านกับบทบาท 'พี่ผิน' อย่างเต็มที่ เวลาอยู่ในฉากที่ไม่มีบท ไม่มีอะไรทำก็จะหารายละเอียดของตัวละครเพิ่มว่าจะทำอะไรได้บ้าง เช่น คุย พับผ้า หรือแอบมอง ต้องเก็บละเอียดทุกเม็ด ซึ่งนักแสดงบางคนพอทำงานมานานๆก็จะรู้มาก เวลากล้องไม่ได้โฟกัสไปที่ตัวเองก็จะเลิกเล่น ทั้งๆที่ยังอยู่ในฉาก และเป็นมวลหนึ่งของฉาก ทำให้เมื่อละครออกอากาศตัวละครตัวนั้นก็จะหายไปจากสายตาคนดู ดังนั้น สิ่งที่เธอทำมาตลอดคือเล่นทุกฉากโดยไม่ถอยตัวเองออกมาก่อน จนกว่าผู้กำกับจะสั่งคัท ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวละคร 'ผิน' เป็นที่รักของผู้ชม ถึงขนาดมีคนโพสต์ว่า ในชีวิตนี้ขอมีเพื่อนอย่างพี่ผินพี่แย้มก็เพียงพอแล้ว ซึ่งในฐานะนักแสดงมันคือที่สุด และเพียงพอแล้วที่ได้เห็นตัวละครที่เราค่อยๆละเมียดสร้างจนมีตัวตน ทุ่มเท และอุทิศตัวเองกับมันจนกลายเป็นที่รัก
"ในฐานะนักแสดงมันคือที่สุด ไม่ต้องมารักเราหรอก"
เมื่อละครเรื่องนี้โด่งดัง และตัวละครในเรื่องกลายเป็นที่นิยม หยาเปิดเผยว่า รู้สึกปลื้มปริ่มมาก ทุกครั้งที่พูดถึง หรือจะต้องทำอะไรที่เกี่ยวกับตัวละครผิน ทำให่้ตัวเองนึกขึ้นมาเสมอว่า "ในที่สุดมันก็มาถึงแล้ว...คนใช้ทีี่คนต้องจดจำ" ซึ่งต่างกับละครมงกุฎดอกส้ม ที่แม้ตัวละครอาเง็กจะโด่งดังและกลายเป็นที่พูดถึง แต่ก็ไม่ได้เชื่อมโยงมาถึงตัวเรา ซึ่งตอนนั้นก็คิดแค่ว่า เราทำหน้าที่ของนักแสดงให้เต็มที่ก็พอ ใครจำเราได้หรือไม่ได้ ก็ไม่สำคัญ ผู้จัดจำเราได้ก็พอแล้ว เพราะเค้าคือคนที่จ้างงานเรา แต่วันนี้เรามีพื้นที่เป็นของตัวเอง มีสปอตไลท์เป็นของตัวเอง หลังจากเดินหามากว่า 20 ปี ซึ่งตอนถ่ายทำเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าละครเรื่องนี้จะโด่งดังขนาดนี้ คิดแค่ว่าเต็มที่ก็คงจะเป็นแค่ละครสนุกเรื่องหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา
"แต่มันก็ทำให้เราได้รู้ว่า หลังจากนี้เรายังคงต้องอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป ไม่ว่าที่ที่เรายืนจะเฉี่ยวแสงบ้าง ตกแสงบ้าง แต่เราก็โอเคกับมัน แม้ว่าจะวันหนึ่งจะหาสปอตไลต์ของตัวเองไม่ได้แล้ว แต่อย่างน้อยเราเองรู้ว่าเราเป็นใคร ต้องการอะไร เมื่อเราเลือกแล้ว เราก็จะเคารพในการตัดสินใจของตัวเองเสมอ ...นี่คืออาชีพนักแสดง ฉันจะทำมันให้ดี"