เรื่องเล่าชวนหิว "ทุเรียน" ในหน้าประวัติศาสตร์
ในอดีต ความเป็นเมืองมาจากการมีทรัพยากรใดๆ ที่รัฐต้องการ เช่น ทองคำ หรือแร่อื่นๆ แต่ "ทวาย" ได้ตั้งเป็นเมืองก็เพราะมีทุเรียนล้วนๆ
ทำไมเราถึงชอบทุเรียน? คำถามนี้อาจผุดขึ้นในหัว เมื่อเราต้องพ่ายแพ้กับภาพบนฟีดเฟชบุ๊ค จนต้องฝ่าฝนออกไปซื้อ หรือทนไม่ได้หากเดินผ่านรถทุเรียน ต้องฝ่าฝืนกฎไดเอ็ท ขอชิมสักพูสองพู ...คำถามนี้อาจไม่ต้องการคำตอบอีกแล้ว เมื่อเราได้ลิ้มชิมรส แต่การกินอาจสนุกมากขึ้น เมื่อเรารู้จักราชาผลไม้ในหลายๆ แง่มุม รวมถึงเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งน่าจะทำให้เรามีอรรถรสมากขึ้น
เรื่องเล่าของชาวตะวันตกกับทุเรียน
อย่างที่รู้กันว่า "ทุเรียน" เป็นพืชท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในบริเวณตอนใต้ เช่น อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย สันนิษฐานกันว่าการแพร่ขยายขจรขจายของทุเรียน อาจมาจากมนุษย์หรือสัตว์ที่นำพาเมล็ดไปงอกงามเติบโตในพื้นที่อื่นๆ โดยในภาคกลางของไทย มีบันทึกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ของ "ลา ลูแบร์" นี่แหละ ที่ระบุว่าอยุธยาก็น่าจะมีทุเรียนกินกันแล้ว โดยบันทึกยังย้ำอีกว่า "เป็นผลไม้ที่มีผู้ชื่นชอบบริโภคกันมากในชมพูทวีป" แต่เจ้าตัวคนบันทึกอาจไม่ชอบเท่าไหร่นัก ถึงขนาด "ทนไม่ไหวเพราะกลิ่นอันเลวร้าย"
ถึงจะกลิ่นแรงเหมือนอาวุธชีวภาพสำหรับฝรั่งหลายคน แต่ทุเรียนก็เป็น "ของดี" ที่เหล่าเจ้าบ้านชาวเรานิยมนำมาต้อนรับขับสู้ฝรั่งอยู่เสมอ (หรืออาจหยอกเล่นรับน้องฝรั่งผู้มาเยี่ยมเยือนก็สุดแล้วแต่จะคิด)
ในปี พ.ศ.2393 "เซอร์ เจมส์ บรูก" นักผจญภัยชาวอังกฤษ ได้เดินทางมายังสยามเพื่อขอแก้หนังสือสัญญาที่ "เฮนรี เบอร์นี" ทำไว้ การมาถึงของเขาได้รับการต้อนรับอย่างดี ทางการสยามได้จัดหาข้าวของเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ ในจำนวนนี้รวมถึง "ทุเรียน" ด้วย ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 เรื่องทูตฝรั่งสมัยรัตนโกสินทร์ บันทึกเรื่องตอนนี้ว่า
"...เซอร์เชมสับรุก ให้เรียน ฯพณฯ ว่า ฯพณฯ ให้ขนมจีบกับทุเรียนไปนันมีความยินดีนัก ฯพณฯ ว่า เซอร์เชมสับรุกเคยกินแล้ว แต่มิศบรุกกับขุนนาง 4 คนเป็นคนมาแต่เมืองวิลาศใหม่ไม่เคยกิน จึงอุตส่าห์หาไปให้กิน จะได้รู้รสทุเรียน..."
เรียกได้ว่าแขกมาถึงเรือนชาน ต้องได้ลองทุเรียน เป็นความภาคภูมิของเจ้าบ้านอย่างยิ่ง โดยตลอดเวลา 38 วันที่เซอร์ เจมส์ บรูก อยู่กรุงเทพฯ ได้มีการจ่ายของหลวงสำคัญแก่การดำรงชีพให้เขาหลายประการ เช่น ให้เงินจับจ่าย 6 ชั่ง, นมโค 228 ทะนาน, ข้าวสาร 68 ถัง, น้ำมันมะพร้าว 380 ทะนาน ฯลฯ แถม "เจ้าพระยาพระคลัง" (ดิศ บุนนาค) ยังส่งผลไม้ดีๆ รวมถึง "ทุเรียน" ไปให้ทุกวันอีกด้วย
(ภาพทุเรียนของ "ลา ลูแบร์" ซึ่งในบันทึกเขียนว่า Durion และ Tourien ในความรู้สึกของเขาๆ มองว่ามันเหมือนผลเซท์นัทผสมกับขนุน)
เรื่องเล่าของชาวมอญ-พม่ากับทุเรียน
ตรงกันข้ามกับฝรั่ง ความชื่นชอบทุเรียนของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะอยู่ในสายเลือด ใน "พงศาวดารมอญพม่า" เล่าถึงความชื่นชอบทุเรียนจนก่อกำเนิดเรื่องใหญ่ในภูมิภาคเอาไว้เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือการกำเนิด "เมืองทวาย"
ประวัติศาสตร์กึ่งตำนานนี้เริ่มต้นจาก "พระเจ้าอลังคจอสู" ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพุกามประเทศ ได้ยกทัพมาตีเมืองมอญ เช่น หงสาวดี และสะเทิม จากนั้นได้ตั้งเมืองใหม่ชื่อ "เมาะตะมะ" ระหว่างปฏิบัติพระราชกรณียกิจขยายอำนาจ ได้เสด็จไปถึงตำบลตะแว ชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่นี่เองที่พระองค์ได้พบกับขุมทรัพย์ ดังบันทึกว่า
"ถึงตำบลตะแว มีต้นทุเรียนมาก ชาวบ้านจึงนำผลทุเรียนมาถวาย พระเจ้าอลังคจอสู่เสวยชอบพระหฤไทยนัก จึงให้สร้างเมืองลงในประเทศนั้นให้ชื่อว่าเมืองตะแว คือเมืองทวาย"
ฐานะความเป็นเมืองในอดีต มักมาจากการมีทรัพยากรใดๆ ที่รัฐต้องการ เช่น ทองคำ และแร่อื่นๆ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับ "ทวาย" ที่ได้เป็นเมืองก็เพราะมีทุเรียนอันอุดม โดยพระเจ้าอลังคจอสู ได้ตั้งขุนนางพม่าคนหนึ่งขึ้นเป็นเจ้าเมือง ให้ชื่อตำแหน่งว่า "ตะแววุ่น" แล้วรับสั่งว่าถ้าถึงหน้าทุเรียนเมื่อไหร่ ก็ให้ส่งทุเรียนขึ้นไปที่เมืองพุกามทุกปี เรียกว่า "ส่วยทุเรียน" ก็คงไม่ผิดนัก
พระเจ้าอลังคจอสูน่าจะทรงพระเกษมสำราญกับทุเรียนจนตราบสิ้นรัชกาล หากเมื่อพระองค์สวรรคตในศักราช 630 เสถียรภาพของส่วยทุเรียนก็สั่นคลอน เรื่องเริ่มจากกษัตริย์พุกามองค์ใหม่ ตั้งขุนนางมอญไปดูแลเมืองหงสาวดี ปรากฏว่าฮีแข็งเมือง ตั้งตัวเป็นใหญ่ไม่ขึ้นกับพุกามอีก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดไม่กี่ปีต่อมา ชาวรามัญนาม "มะกะโท" ได้กล้าแข็งขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ มีแสนยานุภาพมาก รวบรวมหัวเมืองมอญไว้เป็นปึกแผ่น สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "พระเจ้าฟ้ารั่ว" ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ "ตะแววุ่น" เจ้าเมืองทวาย จึงต้องไม่ทำตัวเป็นเป้าโจมตีของรามัญ ด้วยการยุติการส่งส่วยทุเรียนให้พุกาม
"ส่วนตะแววุ่นเจ้าเมืองทวายนั้น เมื่อรามัญกำลังแขงเมืองขึ้นดังนี้ ก็ไม่อาจจะมาส่งส่วยผลทุเรียนถึงเมืองภุกามได้ ด้วยเมืองมอญกั้นน่าอยู่คิดเกรงรามัญจะย่ำยี จึงมาขึ้นแก่พระเจ้าฟ้ารั่ว ณ เมืองเมาะตมะ"
เรื่องเล่าของชาวเรากับทุเรียน
สำหรับบ้านเราเรื่องเล่าเกี่ยวกับทุเรียนมีมากมายเหลือคณา ที่น่าสนใจก็เช่น ย่านทุเรียนเริ่ดๆ ก็มีบันทึกไว้เหมือนกัน โดยเฉพาะย่านฝั่งธนที่เป็นย่านสวน บันทึกนี้อยู่ใน "ตำราแม่ครัวหัวป่าก์" ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผูกเป็นกลอนไว้อย่างดีว่า
"ทุเรียนนั้นที่ชั้นบางขุนนนท์ แต่ละต้นผลดกใจหาย ทั้งรสหวานเนื้อดีไม่ระคาย จะซื้อขายแคล่วคล่องเป็นของดี ถึงตำบลบางคอแหลมและบางโคล่ ผลก็โตต้นก็งามตามเนื้อที่ อีกตำบลวัดทองคลองสานมี ทั้งบางลำภูหมู่นี้ต้นก็งาม แต่รสเนื้อไม่สู้ดีเหมือนบางขุนนนท์ เป็นรองบางบนนั้นสองสาม ที่อื่นนอกกว่านี้ถึงมีก็ไม่งาม ผลก็ทรามรสก็คลายแล้วไม่ทน"
ในกลอนนี้เราจะเห็นคำว่า "บางบน" ซึ่งท่านผู้หญิงอธิบายไว้อีกตอนว่า ทุเรียนแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ทุเรียนบางบน และทุเรียนบางล่าง บางบนนั้นยวงใหญ่เนื้อหยาบสีเหลืองรสมันมากกว่าหวาน ส่วนทุเรียนบางล่างนั้นผลย่อมเนื้อละเอียด มีรสหวานมากกว่ามัน และทุเรียนทั้งสองบางมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปอีก ไม่นิยมปล่อยให้สุกหล่นเองเพราะจะเละและเหม็น แต่ก็มีบางพันธุ์ที่สามารถปล่อยสุกจนร่วงจากต้นและยังกินได้ เช่น ก้านยาว, เขียวตำลึง, การะเกด, ทองสุกทองย้อย เป็นต้น
ถึงตรงนี้ท่านผู้หญิงมีหมายเหตุไว้ว่า "ทุเรียนนี้ บางท่านเกลียดกลิ่นและตัวด้วยเห็นไม่ได้ก็มี ถ้ารู้ว่าไม่ชอบแล้วควรจะยกเลิกเสีย ไม่ควรตั้งสำรับให้รับประทาน"
นานาจิตตังบ้างว่าหอมบ้างว่าเหม็น แต่ที่เห็นชัดๆ ก็คือทุเรียนเป็นของคู่บ้าน-คู่ภูมิภาค จากวันนี้จะเอาเรื่องเล่านี้ไปเม้าท์ในวงบุฟเฟ่ทุเรียนหรือไม่ก็สุดแท้แต่ความสนใจ แต่สำหรับฉันเขียนเสร็จวันนี้คงต้องหามากินสักลูก
เอกสารวชิรญาณวิเศษ เล่ม 9 แผ่นที่ 37 วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 113 ได้ลงเรื่อง "จริยวัตรฝรั่ง" แนะแนวมารยาทชาวเราในการปฏิบัติต่อชาวตะวันตก นอกจากจะบอกว่าห้ามขากเสลด สั่งน้ำมูก นัดยา ในที่สาธารณะแล้ว ยังมีบางตอนบอกว่า "...ควรที่ไทยผู้ดีจะรวังตนจงหนัก ในเวลาที่เข้าไปอยู่ในพวกผู้ดี ก้ามอย่าให้เรอสิ่งกลิ่นอาหารที่ได้บริโภค โดยถือว่าโอชารสแต่เปนที่รังเกียจแก่ท่านผู้อื่น เช่น กระเทียมดอง หรือทุเรียนเปนต้นนั้นจงกวดขัน..."
----------------------------------
เผื่ออยากอ่านต่อ
เดอะ ลาลูแบร์, มร., จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2) แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.
เปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ท่านผู้หญิง, ตำราแม่ครัวหัวป่าก์, (พิมพ์ครั้งที่ 9), นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2557.
ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลายและภาค 2), พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506.
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 เรื่องทูตฝรั่งสมัยรัตนโกสินทร์, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสรรพกิจปรีชา (ชื่น โชติกเสถียร) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479