สารภาพความกลัว กับ 10 อันดับความวิตกกังวลของคนไทย
สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นจากคนไทยทั่วประเทศ จำนวน 1,273 คน เกี่ยวกับความวิตกกังวลและความหนักใจของคนไทยที่มีต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขให้ตรงกับความต้องการของประชาชน จากผลสำรวจดังกล่าว แยกออกเป็น 10 อันดับความวิตกกังวลของคนไทยที่มี ดังต่อไปนี้
อันดับ 10 : คุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคม
คนไทยร้อยละ 40.93% วิตกกังวล เรื่องคุณธรรมจริยธรรม เป็นอันดับที่ 10 เพราะสังคมไทยทุกวันนี้เริ่มเสื่อมถอยลง คนไม่มีน้ำใจเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เห็นแก่ตัวมากขึ้น มีพฤติกรรมรุนแรง เห็นได้จากข่าวสารที่มีการก่ออาชญากรรมไม่เว้นแต่ละวัน มีอารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย บางคนแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่โหดร้าย เช่น ทารุณกรรมสัตว์ ทำร้ายร่างกายคนอื่นด้วยอาวุธ หรือฆ่าข่มขื่น เป็นต้น
วิธีการแก้ไข : เริ่มจากสถาบันครอบครัว ฉะนั้นการอบรมบ่มนิสัยที่ดีจากพ่อแม่ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรก ๆ ที่จะต้องปฏิบัติ และช่วยปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ฝึกมารยาทการอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมให้ตั้งแต่เยาว์วัย พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรเป็นแบบที่ดีให้แก่เด็ก ๆ หรืออาจจะส่งเสริมให้ใกล้ชิดกับศาสนา เข้าวัดทำบุญบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้จิตใจสงบขึ้นเช่นกัน
อันดับ 9 : การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน
คนไทยร้อยละ 42.81% วิตกกังวล เรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน เป็นอันดับที่ 9 เนื่องจากข่าวสารในบ้านเมืองที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างจนชินตา แต่ถึงอย่างไรคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงหนักใจในความไม่ยุติธรรมและสองมาตรฐาน ระหว่างคนจนกับคนรวยที่ถูกเปรียบเทียบตลอดว่ามีสถานภาพที่ต่างกัน ทำให้หลายครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับการจับกุมหรือคดีดังต่าง ๆ คนจนมักจะตกเป็นจำเลยก่อนคนรวยเสมอ ทำให้เห็นช่องโหว่ของกฎหมายที่ไม่เด็ดขาดและเป็นปัญหาสะสมมานาน
วิธีการแก้ไข : มีมาตรการที่จริงจังและเด็ดขาด ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นกลางและยุติธรรมที่สุด เพิ่มช่องทางร้องเรียนให้กับคนในทุกระดับ เจ้าหน้าที่ควรมีจิตใจเมตตา โปร่งใส ไม่ยึดไม่แบ่งแยกสถานภาพความเป็นอยู่ระหว่างคนรวยกับคนจน มีบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเหมาะสม
อันดับ 8 : คุณภาพการศึกษาไทย
คนไทยร้อยละ 43.12% วิตกกังวล เรื่องคุณภาพการศึกษาไทย เป็นอันดับที่ 8 เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติที่จะเติบโตมาพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นรากฐานที่สำคัญที่ควรปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีติดตัวไปใช้ประกอบอาชีพได้ อีกส่วนหนึ่งของการศึกษาก็คือครูและบุคลากรที่เหมือนจะมีอยู่มาก แต่ความจริงแล้วครูในชนบทในถิ่นทุรกันดาร ครูจิตอาสายังขาดแคลนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว และสิ่งที่น่าหนักใจที่สุดก็คือการศึกษาไทยรั้งท้าย เนื่องจากการสื่อสารภาษาที่ 2 ยังด้อยกว่าประเทศอื่น ๆ
วิธีการแก้ไข : หลายคนอยากจะให้ปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างจริงจัง และมีระบบระเบียบที่ถูกต้อง รวมถึงปรับโครงสร้างการศึกษาใหม่ให้เหมาะสม และเน้นในสิ่งที่นักเรียน นักศึกษาเอาไปใช้ได้จริงในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งการเรียนพิเศษหรือเรียนเสริมนอกห้องเรียน จัดการศึกษาให้ทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นบนดอย บนเขา ก็ควรให้ความสำคัญด้านการศึกษากับเด็กเหล่านั้น ถึงแม้ปัจจุบันเขาจะมีโอกาสได้เรียนรู้น้อยกว่าเด็กคนอื่น ๆ
อันดับ 7 : สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ สภาพอากาศ
คนไทยร้อยละ 45.17% วิตกกังวล เรื่องสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ สภาพอากาศ เป็นอันดับที่ 7 เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นประจำในช่วง ๆ หลังทำให้ประเทศไทยมีหลายฤดูใน 1 วัน สาเหตุเบื้องต้นก็คงมาจากมีคนบุกรุกพื้นป่าธรรมชาติ มีการทำร้ายสัตว์ป่า ล่าสัตว์สงวน ทำให้ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลงทุกวัน และยังทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย
วิธีการแก้ไข : ประชาชนบางคน ก็ยังหวังพึ่งรัฐบาลให้เอาจริงเอาจังกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียที แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ควรกระตุ้นปลูกฝังให้ทุกคนมีจิตสำนึกรักพื้นแผ่นดินที่ตนเองอาศัยอยู่ ช่วยกันรักษาปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของพื้นป่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและไม่ทำลาย รวมถึงไม่ทำร้ายสัตว์ป่าด้วย
อันดับ 6 : หน้าที่การงาน งานที่ทำ ธุรกิจ ค้าขาย
คนไทยร้อยละ 61.67% วิตกกังวล เรื่องหน้าที่การงาน งานที่ทำ ธุรกิจ ค้าขาย เป็นอันดับที่ 6 เพราะด้วยเศรษฐกิจที่ซบเซา รายได้และกำไรของบริษัทลดลงหรือขาดทุน ทำให้มีปัญหาการเลิกจ้าง ลดค่าแรงตามมา ประชาชนในวัยทำงานหลายคนจึงหนักใจในเรื่องนี้พอสมควร เพราะนอกจากจะเสี่ยงธุรกิจล้มเหลวและว่างงานแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย ความเป็นอยู่อีกด้วย
วิธีการแก้ไข : ไม่ย่อท้อและช่วยเหลือตนเอง โดยการให้กำลังใจตัวเอง ขยันทำงานให้มากขึ้น หรืออาจจะหารายได้จากทางอื่นเสริม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว อยู่อย่างพอเพียง หาจุดเด่นเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ทำ
อันดับ 5 : โรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพอนามัย
คนไทยร้อยละ 63.08% วิตกกังวล เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพอนามัย เป็นอันดับที่ 5 นอกจากค่าครองชีพสูงแล้ว ค่ารักษาพยาบาลก็สูงตามขึ้นไปด้วย ประชาชนมีโรคประจำตัว บางคนบอกว่าไม่อยากป่วยเลย เพราะกลัวกระทบต่อการทำงาน และกลัวไม่มีคนคอยดูแลเวลาไม่สบายหรือต้องนอนโรงพยาบาล
วิธีการแก้ไข : ออกกำลังกายอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ไปในที่เสี่ยงเป็นโรค ฉีดวัคซีนป้องกัน ตรวจสุขภาพประจำปี กินอาหารให้ครบ 5 หมู่และกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ไม่เครียด ไม่คิดมาก ไม่นอนดึก หาสิ่งบันเทิงทำ เช่น ดูหนัง ช้อปปิ้ง เพื่อเป็นการผ่อนคลายสมอง
อันดับ 4 : การเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งและความขัดแย้ง
คนไทยร้อยละ 63.45% วิตกกังวล เรื่องการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งและความขัดแย้ง เป็นอันดับที่ 4 เพราะยังมีความขัดแย้งให้เห็นอยู่และยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ทำให้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ผู้ใหญ่ไม่มีใครรับฟังเสียงความคิดเห็นจากประชาชน ฉะนั้นจึงอยากให้มีการจัดการเลือกตั้ง
วิธีการแก้ไข : ให้รัฐบาลดำเนินการตามโรดแมปและจัดการเลือกตั้งอย่างจริงจัง มีการปฏิรูปอย่างเหมาะสม ให้ทุกคนฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า พัฒนาประเทศให้เทียบเท่าประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญคือประชาธิปไตยที่แท้จริงควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน
อันดับ 3 : อุบัติเหตุบนท้องถนน การจราจร
คนไทยร้อยละ 66.46% วิตกกังวล เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน การจราจร เป็นอันดับที่ 3 เนื่องจากทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็มีรถไว้ใช้ออกไปทำงานกันแทบจะทุกคน จึงทำให้มีกังวลในส่วนของอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนนบ้าง เพราะเห็นได้จากข่าวที่มีบ่อยครั้งและทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ทำตามกฎระเบียบก็มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ อีกทั้งกฎหมายยังไม่รุนแรงพอที่จะเอาผิดกับคนที่ฝ่าฝืนกฎจราจร
วิธีการแก้ไข : ช่วยกันรณรงค์ห้ามฝ่าฝืนกฎจราจร ดื่มไม่ขับ กระตุ้นให้มีจิตสำนึกในการขับขี่รถบนท้องถนน ระวังไม่ให้เกิดความสูญเสีย ปลูกฝังให้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ไม่มักง่าย ไม่ประมาทและขับรถอย่างมีสติ
อันดับ 2 : เศรษฐกิจตกต่ำ การค้าการลงทุนไม่ดี
คนไทยร้อยละ 69.05% วิตกกังวล เรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ การค้าการลงทุนไม่ดี เป็นอันดับที่ 2 เพราะมีคนตกงานมากขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจการว่างงานของนักเรียน นักศึกษาจบใหม่ ปริญญาตรีไม่มีงานทำ ไม่มีกำลังจ้างคนงานส่งผลให้ประเทศไม่ก้าวหน้าไม่พัฒนา ล้าหลังช้ากว่าประเทศอื่น ต่างชาติไม่ลงทุนกับผู้ประกอบการไทยหรือลงทุนกับธุรกิจในประเทศไทยน้อยลง ผลกระทบยืดเยื้อและส่งผลต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
วิธีการแก้ไข : รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการท่องเที่ยว กีฬา อาหาร และอื่น ๆ ส่งเสริมการลงทุนในด้านต่าง ๆ รวมถึงธนาคารเปิดให้กู้ยืมเงินในดอกเบี้ยที่ต่ำ สามารถผ่อนจ่ายได้แบบสบาย ๆ ควรยกเว้นภาษีที่ไม่จำเป็น เพราะทำให้ส่งผลกระทบต่อปากท้องประชาชน เร่งรัดให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
อันดับ 1 : ชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพสูง ของกิน-ของใช้แพง
คนไทยร้อยละ 78.32% วิตกกังวล เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพสูง ของกิน-ของใช้แพง เป็นอันดับที่ 1 เพราะถึงอย่างไรเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ก็ต้องมาก่อนเรื่องอื่น ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากทุกวันนี้แต่ละคนต่างมีหนี้สินติดตัวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ ค่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิตต่าง ๆ จึงทำให้เงินเดือนที่ได้มาไม่พอใช้ รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย อีกทั้งปัญหาเด็กจบใหม่เตะฝุ่น ปริญญาตรีว่างงานเยอะ ก็เข้ามาเพิ่มภาระให้กับทางครอบครัวอีก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเป็นอยู่ของประชาชนจึงยากลำบากขึ้นด้วยข้าวของที่แพงขึ้นทุกวัน
วิธีการแก้ไข : วิธีที่ดีที่สุดคือเริ่มจากเราเองก่อน อันดับแรกต้องประหยัดได้เท่าที่ควรประหยัด ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย จดบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งสัดส่วนออกมาใช้ หากมีพอเหลือเก็บบ้างก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หรืออีกวิธีคือหารายได้เพิ่ม อาจจะทำงานเสริม เช่น ขายของออนไลน์ เป็นต้น ส่วนการแก้ไขปัญหานี้ในด้านอื่น ๆ ก็คงจะเป็นการกู้ยืมเพื่อหมุนเงิน และให้รัฐบาลช่วยเหลือ