"โรคซึมเศร้า-เปลี่ยนงานบ่อย" พบง่ายในกลุ่มชาวมิลเลนเนียล?

"โรคซึมเศร้า-เปลี่ยนงานบ่อย" พบง่ายในกลุ่มชาวมิลเลนเนียล?

"โรคซึมเศร้า-เปลี่ยนงานบ่อย" พบง่ายในกลุ่มชาวมิลเลนเนียล?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

workplacetn

“เปลี่ยนงานบ่อย - ไม่ทนกับการทำงาน” มักเป็นคำพูดที่คนรอบข้างมักใช้กับกลุ่มชาวมิลเลนเนียล แต่ถ้าดูให้ดีก็มีเหตุผล เพราะต้องการความเป็นตัวเอง แถมยังเป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหาโรคซึมเศร้ามากที่สุด

ผลสำรวจจากสำนักสถิติแห่งชาติ ประจำเดือน มี.ค. 2561 เรื่องภาวะการทำงานของประชากร พบว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 56.19 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 38.11 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.34 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.40 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.29 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 18.08 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น

ในจำนวนของผู้ที่เป็นกำลังแรงงานนั้นมีกลุ่มคนที่เรียกว่ามิลเลนเนียลอยู่ด้วย และข้อมูลเกี่ยวกับมิลเลนเนียลก็ได้รับความสนใจศึกษาโดนบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งวางเป้าการศึกษาเพื่อสร้างความพร้อมให้ตลาดการจ้างงานในไทยโตทันสภาพการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมเพื่อการสรรหาว่าจ้าง รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมคนทำงานสู่ยุคมิลเลนเนียล และผลการศึกษาของจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจพฤติกรรมของคน 3 เจนเนอเรชั่น เมื่ออยู่ในองค์กร พบว่า GEN X (คนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522) ยังเป็นกลุ่มคนที่มุ่งทำงานเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถและแสวงหาโอกาสการเติบโตในสายงานอยู่เสมอ ในขณะที่ GEN Y (คนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523-2540) เป็นช่วงวัยของการเริ่มต้นในหลายด้าน เช่น ชีวิตการทำงาน หรือแม้กระทั่งชีวิตครอบครัว ส่วน GEN Z (คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ขึ้นไป) จะเป็นมนุษย์เทคโนโลยี และยังไม่ใช่กลุ่มคนที่ภักดีต่อองค์กร 

ด้านผลวิจัยจากแมนพาวเวอร์กรุ๊ป เผยให้เห็นว่ากลุ่มคนมิลเลนเนียล ให้ความสนใจที่จะฝึกอบรม และพัฒนาตนเอง มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเอง ร้อยละ 51.92 ของชาวมิลเลนเนียลสมัครใจเข้าร่วมพัฒนาเส้นทางสายอาชีพของตนเอง 

สำหรับทักษะที่คนกลุ่มมิลเลนเนียลสนใจที่จะพัฒนาเพื่อให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อันดับแรกคือ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน รองมาคือทักษะคอมพิวเตอร์ และอันดับสาม คือทักษะทางภาษา และยังมีทักษะอื่นๆ อีก เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการบริหารจัดการ ทักษะการขายและการตลาด

แม้แต่ฟอร์บส์เองยังนำผลการศึกษามาแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนมิลเลนเนียลนั้นอาจไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ผลัดเปลี่ยนงานบ่อยหรือที่เรียกว่า 'Job Hopper'

ข้อมูลจากแกลลัป (Gallup) บอกไว้ว่า กลุ่มมิลเลนเนียลราว 60 เปอร์เซ็นต์ เปิดโอกาสในการทำงานใหม่ และเป็นช่วงอายุที่ต้องการเปลี่ยนงานมากที่สุด ในรายงานปี 2559 เปรียบเทียบกับกลุ่มมิลเลนเนียลด้วยกันและกลุ่มเจนเนอเรชั่นอื่น จำนวนการเปลี่ยนงานภายใน 1 ปีของคนรุ่นมิลเลนเนียลคือ 21 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ Gen X มีตัวเลขการเปลี่ยนงานอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์

แกลลัปยังบอกอีกว่าการทำงานที่มากเกินไปของกลุ่มมิลเลนเนียล สร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สูงกว่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

แม้จะมีหลักฐานว่ากลุ่มมิลเลนเนียลมักจะเปลี่ยนงานบ่อย แต่สิ่งที่ข้อมูลข้างต้นไม่ได้นึกถึงอายุของกลุ่มวัยของพวกเขา กล่าวคือ คนหนุ่มสาวมิลเลนเนียลกำลังถูกนำมาเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน ความจริงคือ กลุ่มมิลเลนเนียลอาจไม่ได้เป็นพวกเปลี่ยนงานไปเรื่อยมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ก็เป็นได้

พิว รีเสิร์ช (PEW Research) ได้พยายามเปรียบเทียบข้อมูลของชาวมิลเลนเนียล (ประมาณ 2559) กับคู่เปรียบเทียบอย่าง Gen X เมื่ออายุเท่ากัน (ประมาณ 2543) โดยเปรียบเทียบพนักงานที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างเป็นเวลา 13 เดือนขึ้นไป เปอร์เซ็นต์ของชาวมิลเลนเนียลที่อยู่กับนายจ้างเกิน 13 เดือน คือ 63.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะ Gen X ในช่วงที่อายุเท่ากัน (คือราวปี 2543) 59.9 เปอร์เซ็นต์

ส่วนเปอร์เซ็นต์ของชาวมิลเลนเนียลที่อยู่กับนายจ้างนานกว่า 5 ปี คือ 22 เปอร์เซ็นต์ (ย้อนไปดูตัวเลขเมื่อปี 2560) ส่วนชาว Gen X คิดเป็น 21.8 เปอร์เซ็นต์ (ย้อนไปดูตัวเลขจากปี 2543)

ซึ่งนั่นหมายความว่า การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านของชาวมิลเลนเนียลและความจงรักภักดีต่อนายจ้างมีความคล้ายคลึงกันอย่างน้อยหนึ่งช่วงเจนเนอเรชั่น

อย่างไรก็ตาม ชาวมิลเลนเนียลกลับเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหา "ภาวะซึมเศร้า" สูงสุดในที่ทำงาน จากรายงานวิจัยของบริษัท Bensinger, Dupont & Associates ที่ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสมดุลชีวิตและการงานให้พนักงานในประเทศสหรัฐฯ พบว่า ผู้ที่เข้ารับคำปรึกษากลุ่มวัยทำงานที่มีภาวะซึมเศร้าสูงที่สุดคือ กลุ่มมิลเลนเนียล คิดเป็น 1 ใน 5 ของผู้ที่เข้ารักการปรึกษากลุ่มอายุเดียวกัน

โดยบริษัทแบ่งกลุ่มที่วิจัยเป็น 3 กลุ่ม คือ Gen Y หรือ มิลเลนเนียล คือผู้ที่เกิดระหว่าง 2526-2542, กลุ่ม GenX คือผู้ที่เกิดระหว่าง 2508-2525 และกลุ่ม Babyboomer คือผู้ที่เกิดระหว่าง 2489-2507 พบว่าชาวมิลเลนเนียลมีภาวะซึมเศร้าสูงสุดคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ GenX กับ Babyboom มีภาวะซึมเศร้าอยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์

สำหรับประเทศไทย จากผลสำรวจสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต เมื่อปี 2556 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ทำการสำรวจทุก 5 ปี พบว่า คนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 7 ล้านคน พบใน 5 กลุ่มโรค ประกอบด้วย กลุ่มโรคซึมเศร้า กลุ่มที่มีภาวะจิตผิดปกติซึ่งเรียกว่าโรคจิตเภท กลุ่มที่มีความวิตกกังวล กลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด และกลุ่มที่มีปัญหาแทรกซ้อนจากสิ่งเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2551 พบปัญหาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม คาดว่าแนวโน้มในอนาคตปัญหาสุขภาพจิตจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและแอลกอฮอล์

วิธีที่จะทำให้ห่างไกลจากอาการซึมเศร้าหลักๆ คือ อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน อย่าตั้งความหวังไว้สูงจนเกินไป แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำ พยายามหากิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษตัวเองที่ไม่สามารถเป็นหรือทำได้ตามต้องการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook