บทบาทของหน่วยงานรัฐ เพื่อดูแลสุขภาพที่ดีแก่เด็กให้พวกเขา "เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง"
ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ เป็นสุภาษิตที่เราต่างรู้แจ้ง แต่ทำอย่างไรจึงจะให้คนของประเทศเติบโตเป็นคนที่ไม่มีโรคและมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อเป็นกำลังของประเทศชาติในอนาคต มาดูวิธีการดูแลและสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้แก่เด็กญี่ปุ่นจากประสบการณ์ตรงกันนะคะ
การจัดตารางฉีดวัคซีนสำคัญตามช่วงวัยและส่งจดหมายแจ้งเตือนการฉีดวัคซีนสำคัญจากสำนักงานเขต
โดยทั่วไปในช่วงวัยที่ต้องฉีดวัคซีนสำคัญแต่ละชนิด (ประมาณ 15 ครั้งในวัย 0-1 ปี และประมาณ 7 ครั้งในวัยประมาณ 1 ปี) สำนักเขตจะส่งจดหมายแจ้งเตือนและแบบฟอร์มสำหรับกรอกเพื่อนำเด็กไปฉีดวัคซีนตามคลินิกต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (ยกเว้นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนเสริมบางตัว) เด็กญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเกิดจะมีสมุดบันทึกการฉัดวัคซีนที่คุณแม่ต้องนำติดตัวไปเสมอตอนพบหมอ ดังนั้นเจ้าหน้าที่มักจะช่วยดูและบอกผู้ปกครองหากพบว่ายังฉีดวัคซีนไม่ครบ
การตรวจสุขภาพเด็กอย่างสม่ำเสมอ
ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต เด็กจะได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดฟรีในช่วงอายุ 1 เดือน 3-4 เดือน 6-7 เดือน 9-10 เดือน 1 ปี 1 ปีครึ่ง และ 3 ปี เป็นต้น โดยการตรวจสุขภาพอาจจะเป็นการนัดตรวจรวมกันที่สำนักเขตหรือรายบุคคลที่คลินิก และเมื่อเข้าสู่วัยอนุบาลจะมีหมอเฉพาะทางมาตรวจสุขภาพที่โรงเรียนให้แก่เด็กทุกปี
ตรวจสุขภาพอย่างละเอียดที่โรงเรียน
ก่อนเข้าประถมหนึ่งเด็กทุกคนจะต้องไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียดที่โรงเรียนที่จะเข้าไปเรียน และเมื่อเข้าสู่วัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทุกปีจะมีหมอเฉพาะทางมาตรวจสุขภาพเด็กอย่างละอียดตามวันเวลาที่โรงเรียนได้กำหนดไว้ และหากพบผลอะไรที่ผิดปกติทางโรงเรียนจะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบโดยทันที
การจัดกิจกรรมให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
ในระบบการศึกษาญี่ปุ่นตั้งแต่วัยก่อนอนุบาล โรงเรียนมักเน้นให้เด็กได้มีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วิ่งเล่นอย่างอิสระแทนการเรียนอ่านเขียน ออกกำลังกายจากวิชาพละที่จัดให้มีเรียนอาทิตย์ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ การออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่อย่างสม่ำเสมอและให้เด็กทุกคนร่วมซ้อมและร่วมแข่งขันกีฬาโรงเรียน เป็นต้น นอกจากโรงเรียนแล้วก็มีหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น ใช้เวลาว่างที่มีเปิดการฝึกสอนกีฬาการต่อสู้ประจำชาติ เช่น เคนโด้ คาราเต้ และยูโด เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ไปพร้อมกับการสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
การจัดอาหารเที่ยงที่มีคุณค่าอาหารครบถ้วนทางโภชนาการ
สำหรับโรงเรียนของรัฐบาลแล้วจะมีการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนให้แก่เด็ก ซึ่งดูแลโดยนักโภชนาการประจำโรงเรียน ทุกเดือนโรงเรียนจะแจ้งเมนูอาหารประจำวัน ซึ่งมีรายละเอียดของวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร ปริมาณพลังงานและโปรตีนที่ได้รับต่ออาหารมื้อกลางวันอย่างละเอียดให้ผู้ปกครองทราบ อีกทั้งสำหรับเด็กที่แพ้อาหารก็จะมีการจัดเมนูพิเศษเพื่อให้เด็กได้มีสุขภาพที่แข็งแรงและหลีกเลี่ยงอาการแพ้อาหารอย่างใส่ใจ
หนึ่งชีวิตที่เกิดมาบนโลกล้วนมีความหมาย หากดูแลเขาให้มีสุขภาพที่แข็งแรงด้วยความใส่ใจเป็นอย่างดี เขาเหล่านั้นก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ และจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพที่แข็งแรงและตระหนักถึงวิธีการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยตนเองได้ การดูแลสุขภาพที่ดีให้เด็กตั้งแต่เล็กเป็นปัจจัยสำคัญในการลดงบประมาณที่จะใช้ในการรับมือกับสังคมสูงอายุที่เข้ามาในอนาคตอันใกล้ได้ดีแน่ๆ