ย้อนกลับไปดู "ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย" มีรูปแบบไหนบ้าง?

ย้อนกลับไปดู "ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย" มีรูปแบบไหนบ้าง?

ย้อนกลับไปดู "ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย" มีรูปแบบไหนบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

examtn

ระบบการสอบ การแข่งขัน เพื่อช่วงชิงการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา มีการจัดการอย่างเข้มข้น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ตรงตามยุคและสมัยมากยิ่งขึ้น

วันนี้ทาง Sanook! Campus จะพาย้อนกลับไปเกือบ 60 ปีที่แล้ว และไล่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันว่า วัยรุ่นสมัยก่อน ถึง วัยรุ่นยุคปัจจุบัน เจอระบบการสอบแบบไหนกันบ้าง?

ระบบ Entrance ยุคแรก ในปี 2504 - 2542 

ถือได้ว่าเป็นระบบสอบยุคแรกๆที่อยู่มาอย่างยาวนาน เกือบ 40 ปี เป็นการสอบที่ไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแล แต่เป็นทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกันจัดสอบขึ้นเอง อาทิเช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ  โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน

การจัดสอบรูปแบบนี้มีขึ้นเพื่อ แก้ปัญหานักเรียนสละสิทธิ์การสอบหลายครั้ง เพื่อไม่ให้เสียค่าใช้จ่ายเยอะแยะมากมาย จึงเป็นการสอบแบบครั้งเดียวและสามารถนำคะแนนไปยื่นได้เลย ในคณะที่เลือกไว้ 4 อันดับ บางปีเลือกได้ถึง 6 อันดับด้วยกัน

แต่ระบบนี้ทำให้มีปัญหาของการที่เด็กไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน และสามารถสอบเทียบได้ รวมอีกทั้งเด็กที่สอบไม่ติดจะไม่มีโอกาสแก้ตัวเลยต้องรอถึงปีหน้า ทำให้ระบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ สถาบันกวดวิชามากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

ระบบ Entrance ยุคที่สอง ในปี 2542-2549

เนื่องจากปัญหาในยุคแรกคือการที่นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนในห้องทำให้มีการ นำเอาคะแนน  GPA และ PR มาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มอีก 10 เปอร์เซ็นต์ และทั้งนี้ยังเพิ่มการสอบเป็น 2 ครั้ง และยังสามารถเก็บคะแนนไว้ใช้ได้ถึง 2 ปี เพื่อให้เด็กๆได้เลือกอันดับคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย

แต่มีข้อเสีย ตรงที่ว่า ทำให้โรงเรียนถูกกดดันจากการสอบครั้งนี้รวมทั้งนักเรียนด้วย จึงทำให้โรงเรียนต่างๆต้องเร่งสอนให้จบก่อนการสอบนี้ภายในเดือนตุลาคม เพื่อมีเวลาให้นักเรียนได้เตรียมพร้อม ซึ่งทำให้เสียระบบการเรียนการสอนตามปกติ เลยเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในระบบการสอนของโรงเรียน

ระบบ Admission ในปี 2549-2552

ปัญหาที่ไม่หมดไปของการเรียนในห้องเรียน ทำให้เกิดการแก้ไข และจัดทำโครงสร้างการสอบในรูปแบบใหม่ โดยครั้งนี้มีการนำคะแนนต่างๆมาเพิ่มมากขึ้นใช้คำนวณร่วมด้วยถึง 30 เปอร์เซ็นต์ อาทิเช่น GPAX คะแนนสะสมในระดับ ม.ปลาย GPA ผลการเรียนเฉลี่ยรวม 

เป็นจุดเริ่มต้นของการสอบ O-NET (การสอบขั้นพื้นฐานทั่วไปของนักเรียนมัธยมปลายทุกคน โดยจะต้องสอบ 8 วิชาทุกคน) และ A-NET (เป็นการสอบที่ยากขึ้นกว่า O-NET เน้นความรู้ทางความคิด วิเคราะห์ อีก 5 วิชา) ซึ่งปีหนึ่งสามารถสอบได้มากกว่า 1 ครั้ง 

ทางมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มองว่าข้อสอบ O-NET และ A-NET จากส่วนกลางไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ถูกตั้งคำถามขึ้นมา ถ้าเกิดมาในรูปแบบนี้ซึ่งการให้เกรด แต่ละโรงเรียนอาจจะมีมาตรฐานที่ไม่เท่ากัน และการสอบรับตรง จากมหาวิทยาลัยเป็นที่น่าสนใจกว่า เพราะการสอบ A-NET นั้นหนักหนาเอาการ

ระบบ Admission ยุคที่ 2 ในปี 2553- 2560

เป็นระบบการสอบที่พึ่งผ่านไปไม่นานและวัยรุ่นสมัยใหม่คงรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยปีนี้จะไม่มีการสอบ A-NET แล้ว (ถูกยกเลิก) แต่กลายเป็นสอบวิชาความถนัดในด้านๆไปนั่นก็คือ GAT(ความถนัดทั่วไป) และ PAT(ความถนัดทางด้านวิชาชีพ)  มีการลดจำนวนการสอบจาก 4 ลดลงไปเหลือ 2 ครั้งต่อปี และผู้ที่มีสิทธิ์สอบคือนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น

แถมยังมีการเพิ่มการสอบ 7 วิชาสามัญ เพิ่มขึ้นมาเนื่องมาจาก ทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ยังมองว่าไม่ตอบโจทย์สักเท่าไหร่ แต่มีดีตรงที่ มีระบบ เคลียร์ริ่งเฮ้าส์ เพื่อลดปัญหาการกั๊กที่นั่งในการเข้าเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

ภายหลัง 7 วิชาสามัญถูกเพิ่มเป็น 9 วิชาสามัญ เพราะมีความเห็นว่าวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ยากเกินไปสำหรับเด็กสายศิลป์ จึงมีการเพิ่มคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สำหรับสายศิลป์เพิ่มนั่นเอง

ระบบ TCAS (Thai University Central Admission System) ในปี 2561 นี้

เป็นระบบใหม่ป้ายแดง ที่นำมาแก้ปัญหาความเครียดในการเรียน การสอบของเด็ก รวมทั้งยังมีการเสียเงินหลายครั้งต่อการสอบ โดยเลื่อนการสอบไปเริ่มสอบหลังเด็กจบ ม.6 แล้ว และสอบ GAT/PAY เพียงครั้งเดียว และได้เพิ่มวิธีการรับสมัครมา 5 รูปแบบทำให้ เด็กมีโอกาสเพิ่มขึ้นในแต่ละรอบ

รอบที่ 1 ยื่นด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ไม่มีการสอบข้อเขียน และให้สถาบัน/มหาวิทยาลัย สามารถคัดเลือกเด็กได้โดยตรง

รอบที่ 2 รับแบบโควต้า ที่เหมาะสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่/ภาคที่มีโควต้าโรงเรียน และโครงการความสามารถพิเศษ ที่ได้เห็นกันอยู่บ่อยๆก่อนหน้านี้

รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน เลือกได้ 4 สาขา โดยไม่มีลำดับ หมายความว่าอาจจะผ่านได้ทั้งหมด 4 อันดับเลย แล้วค่อยเลือกสาขาที่ต้องการ 

รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชั่น เลือกได้ 4 สาขา โดยมีลำดับ คล้ายๆกับระบบ Admission เดิม

รอบที่ 5 รับตรงแบบอิสระ ซึ่งบางแห่งเรียกว่ารอบเก็บตก คัดเลือกโดยสถาบัน/มหาวิทยาลัย โดยตรง เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กมีที่เรียนในสถาบันต่างๆมากเพิ่มขึ้น

โดยการสอบรูปแบบนี้จะบอกว่าไม่มีปัญหาเลยก็ไม่ได้ อย่างแรกเลยคือ เด็กสามารถสอบได้แค่เพียงหนเดียว ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัวอย่างเช่นวิชา GAT/PAT เลย หรือ มีปัญหาในการกั๊กที่นั่งเรียน เพื่อมาสมัครในรอบต่อไปได้ หรือข้อเสนอให้ลดค่าใช้จ่ายในการสอบ รวมอีกทั้ง การสอบที่เข้มข้นทำให้เด็กเกิดอาการเครียดกว่าเดิมหรือเปล่า เนื่องมาจาก การสอบทั้งหมดอัดแน่นอยู่ในตารางเวลาเพียง 1- 2 เดือน อีกทั้งล่าสุด มีปัญหาระบบล่มทำให้ต้องเลื่อนออกไปเป็นครั้งที่ 3

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ระบบคอมพ์ล่มอีกแล้ว! "ทปอ." ขยายเวลารับสมัคร TCAS รอบที่ 3

นี่คือสิ่งที่น่าติดตามต่อไปในระบบการศึกษาไทย ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน หรือ เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบได้เพื่อให้การสอบนั้นสมดุลและเท่าเทียม ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วคงขึ้นอยู่กับโชคชะตาและความสามารถของเด็กปีนั้นๆแล้วว่าจะสามารถผ่านมันไปได้หรือไม่ ต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook