ชุบชีวิต "ขยะ" ให้กลับมามีค่าดั่ง "ทอง" ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ชุบชีวิต "ขยะ" ให้กลับมามีค่าดั่ง "ทอง" ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ชุบชีวิต "ขยะ" ให้กลับมามีค่าดั่ง "ทอง" ด้วยความคิดสร้างสรรค์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

aw1hz2uvmjaxoc0wns8yzji2ngfjn

‘วอยซ์ ออนไลน์’ ร่วมสำรวจนิทรรศการสัญจรระดับโลก ‘Pure Gold: Upcycled! Upgraded!’ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมนำเสนอความมหัศจรรย์ของการเปลี่ยนขยะเหลือใช้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ และมูลค่าดุจดั่งทองคำ

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปลายปีก่อน นิทรรศการ ‘Pure Gold: Upcycled! Upgraded!’ เริ่มจัดแสดงครั้งแรก ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ต่อมาประเทศไทยได้รับเลือกเป็นพื้นที่ที่ 2 ด้วยความร่วมมือครั้งสำคัญของ 4 องค์กร ได้แก่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ, สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, สถาบันอีฟ่า (Institut für Auslandsbeziehungen : IFA) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

 1

เนื้อหาหลักของ ‘Pure Gold’ เกี่ยวกับการหันกลับมามองปัญหาขยะล้นหลามเกินจัดการ และพยายามนำเสนอมุมมองการชุบชีวิตขยะผ่านความคิดสร้างสรรค์ โดยวางเป้าหมายหลักไว้ตรงการหมุนเวียนไปจัดแสดงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เมียนมา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นเป้าหมายลำดับถัดๆ ไป

คอนเซ็ปต์โดดเด่นของนิทรรศการนอกจากสะท้อนปัญหาปริมาณขยะแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนเห็นศักยภาพของแนวคิด ‘Upcycling’ หรือกระบวนการแปลงขยะด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ เเละมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งนับเป็นหัวข้อเร่งด่วนที่มนุษย์ทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญ

‘Pure Gold’ สร้างสรรค์จากความตั้งใจของภัณฑารักษ์ 7 คน รวบรวมผลิตภัณฑ์จาก 56 นักออกแบบใน 8 ภูมิภาคทั่วโลก จัดเต็มด้วยผลงานร่วมแสดงทั้งสิ้น 79 ชิ้น แสดงถึงความหลากหลายในการเพิ่มคุณค่า ความงดงาม และสุนทรีในบริบทที่แตกต่างกัน

ศาสตราจารย์ โฟลเคอร์ อัลบุส (Prof. Volker Albus) นักออกแบบ และภัณฑารักษ์ผู้นำชมนิทรรศการเล่าให้ฟังว่านิทรรศการ ‘Pure Gold’ ไม่ได้เล่าเรื่องรีไซเคิลธรรมดาๆ แต่เป็นการนำสิ่งที่ทุกคนสามารถพบเจอในชีวิตประจำวันกลับมารังสรรค์ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับความงดงาม และการสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ในกระบวนการรีไซเคิลของผลงานทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงปราศจากการใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง แต่เป็นการนำเศษวัสดุมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ โดยที่ทุกคนสามารถสังเกตเห็นได้ว่า เดิมทีผลิตภัณฑ์เคยเป็นอะไรมาก่อน ” ภัณฑารักษ์กล่าวระหว่างเดินพาชมนิทรรศการ

สำหรับตัวอย่างผลงานบางส่วนที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ ‘Pure Gold’ ได้แก่

 2

 พรมจากเศษพลาสติกวัสดุ และกระดาษแข็ง ผลงานของ Juli Foos นักออกแบบจากเยอรมนี

 3

◉ เก้าอี้สตูลจากถังซักสเตนเลสของเครื่องซักผ้าเก่า ตะแกรงพัดลม เส้นไหมพรม และผ้าทอ ผลงานของ Junk Munkez นักออกแบบจากเลบานอน

 4

◉ ตู้ใส่ไวน์ทำจากเครื่องทำน้ำอุ่นรุ่นเก่า ผลงานของ Piratas do pau บริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กจากโมซัมบิก

 5

◉ เก้าอี้บาร์จากผงขี้เลื่อยผสมเรซิน ก่อนเปลี่ยนสภาพเป็นโฟมที่มีความคงทนสูง และสามารถนำมาขึ้นรูปได้ ส่วนด้านล่างตั้งใจคงผิวขรุขระไว้ เพื่อยึดติดกับขาเก้าอี้ ผลงานของ Marjan van Aubel และ James Michael Shaw

 6

◉ ถาดใส่ผลไม้ทำจากกระดาษลัง ผลงานของ Domingos Tótora จากประเทศบราซิล

 7

 ชั้นวางผลไม้จากวัสดุพลาสติกที่จำหน่ายอยู่ตามร้านทุกอย่าง 20 บาท โดยนำมาเชื่อมต่อด้วยท่อ และข้อต่อเหลือใช้ ทำให้ชิ้นงานที่รูปทรง และสีสัน แตกต่างกันออกไป ผลงานของ Brunno Jahara นักออกแบบจากละตินอเมริกา

ฝั่งนักออกแบบไทยน่าจับตามองอย่าง ‘ปิ่น - ศรุตา เกียรติภาคภูมิ’ ผู้ก่อตั้งบริษัทพิน เมททัล อาร์ต จำกัด ได้นำผลงานชื่อ ‘พาน’ (Paan) มาจัดแสดง โดยเธอชุบชีวิตเศษเหล็กเป็นเฟอร์นิเจอร์ดังระดับโลก พร้อมบอกเล่ามุมมองของงานรีไซเคิลที่ผสานวัฒนธรรมไทย จนเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า ความงาม และความหมาย ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาสร้างสรรค์เพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น

“ปิ่นเริ่มทำงานมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว พื้นฐานทางบ้านเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก และหลังจากเรียนจบด้านศิลปะก็อยากพัฒนาต่อยอดสินค้า จึงตัดสินใจเอาเศษเหล็กเหลือใช้ ดูเหมือนไร้คุณค่า มายกระดับเป็น ‘พาน’ ซึ่งเป็นเครื่องรองรับสิ่งของดีงาม เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมไทย”

 8

◉ ชุบชีวิตเศษเหล็กเป็นเฟอร์นิเจอร์ดังระดับโลก ผลงานของศรุตา เกียรติภาคภูมิ

จากความรู้สึกเสียดายความงามของขยะ ส่งผลให้ ‘พาน’ ตระเวนแสดงตัวในต่างประเทศมาแล้ว เป็นการเพิ่มมูลค่าเศษเหล็กธรรมดาๆ ราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินด้วยภูมิปัญญาไทย ทำให้กลายเป็นผลงานร่วมสมัยที่หลายหมื่นบาท

“เศษเหล็กที่ปิ่นมองเห็นเป็นชีวิตของคนงาน เป็นชีวิตของครอบครัว เป็นชีวิตของตัวปิ่น แล้วมันเต็มไปด้วยคุณค่า ความงาม ความหมาย เราเลยอยากชุบชีวิตเศษเหล็ก ชุบชีวิตคนงาน เพื่อให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่เรารวยอยู่คนเดียว เพราะทุกอย่างเป็นความสุขของตัวปิ่น ความสุขของคนงาน ความสุขของครอบครัว ความสุขของโลก”

สำหรับนิทรรศการ Pure Gold ในประเทศไทย ปิ่นเล่าว่าเธอรู้สึกตื่นเต้นที่เห็นหลายคนแสดงแนวคิดคล้ายๆ กัน แต่รูปลักษณ์ และบุคลิกของผู้สร้างสรรค์แตกต่างกันไป จึงเต็มไปด้วยความสนุก ความน่ารัก และเป็นเรื่องดีที่คนไทยมีโอกาสเห็นไอเดียการรีไซเคิลจากทั่วทุกมุมโลก

“จริงๆ แล้วกระแสรีไซเคิลมานานมากแล้ว แต่เหมือนแรงกระเพื่อมเด่นชัดมากขึ้น จากข่าวที่ทุกคนเห็นหลอดติดในจมูกเต่าทะเล มันเลยทำให้หลายฝ่ายหันมาสร้างจิตสำนึก และตระหนักเรื่องการจัดการขยะบนโลก”

ใครสนใจการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม - 22 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.30 – 21.00 น. ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ณ ห้องแกลอรี ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook