ทำไมถึงต้อง "กร่าง" และชนชั้นสัมพันธ์กับความ "กร่าง" อย่างไร

ทำไมถึงต้อง "กร่าง" และชนชั้นสัมพันธ์กับความ "กร่าง" อย่างไร

ทำไมถึงต้อง "กร่าง" และชนชั้นสัมพันธ์กับความ "กร่าง" อย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

781968

คนไทยมีความกร่างมาแต่โบราณ ติดตามได้ในคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง วันนี้

ในช่วงชีวิตนึงของคนเรา ต้องมีสักครั้งที่ได้เจอเข้ากับ "คนกร่างๆ" โชคดีหลีกเลี่ยงได้ก็ดีไป โชคร้ายปะทะกันจนตายไปข้างก็มีให้เห็น ซึ่งเอาเข้าจริงเป็นเรื่องที่โคตรไร้สาระ

แต่ถึงจะบอกว่าไอ้พวกชอบกร่างเป็นพวกไร้สาระ แต่ก็ต้องยอมรับว่าพวกนี้เป็นปัญหาของสังคมเหมือนกัน และสะท้อนความ "เสพติดอำนาจ" อย่างหนึ่ง ดังจะเห็นว่าพวกกร่างนั้น มักอวดเบ่งจนเป็น "นิสัย" ไปอยู่ไหน เวลาใด กร่างได้หมด เช่น ครอบครัวกร่างต่อยตำรวจมาบตาพุด ที่พอเรื่องดังก็มีคลิปกร่างทั่วสารทิศแชร์ออกมาชนิดเหนือกลางอีสานใต้ เห็นได้ชัดว่าติดอยู่ในพฤติกรรม

"กร่าง" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า "อาการที่ทำท่าทางหรือพูดจาวางโต"

สำหรับฉันมองว่าไม่ใช่อาการทางจิต แต่ก็เกี่ยวกับจิตวิทยาอยู่เหมือนกัน และอาจเชื่อมโยงไปถึงสังคมแบบชนชั้นวรรณะ ผู้มีสถานะทางสังคมสูงกว่าอาจวางโตต่อคนผู้น้อย ถือเป็นการ "แสดงอำนาจ" อย่างหนึ่ง

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "ยศถา" และ "ความกร่าง" อย่างแนบแน่น เช่น พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าถึงครั้งพระเจ้าตากสิน ยกทัพไปปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝาง ปรากฏว่าครั้งนั้นเหล่าทหารอาจมีการอวดเบ่ง จนต้องทรง "สั่งให้แต่งกฎประกาศ กองทัพบกทัพเรือไทยจีนทั้งปวง อย่าให้ข่มเหงรีดราษฎรชาวบ้านแล ฆ่าโคกระบือ"

ขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ยกทัพไปปราบฮ่อที่หนองคาย ระหว่างทางแวะเมืองนครราชสีมา ก็ปรากฏไพร่บ้านชาวเมืองมาร้องเรียนว่าถูกข้าราชการกรมการเมืองในท้องที่มาโชว์กร่างยึดข้าวสารของชาวบ้านไป ทำให้เจ้าคุณฯ ต้องเรียกมาสอบและคืนข้าวให้ชาวบ้าน

๏ เจ้าพระยาแม่ทัพสดับเรื่อง                บัญชาเยื้องถามไต่ปราศรัยสาร

สั่งขุนศรีกะดาลพลคนชำนาญ             เป็นตระลาการชำระความถามซัก

ท่านขุนศรีคำนับรับบัญชา                   แล้วออกมาถามไถ่ให้ประจักษ์

กรมการรู้ตัวคิดกลัวนัก                      ไม่เยื้องยักสารภาพลงกราบลน

ท่านขุนศรีเรียกเอาซึ่งข้าวสาร              คืนชาวบ้านก็มารับอยู่สับสน

ล้วนยกมือไหว้ทั่วทุกตัวคน                  ต่างก็ขนข้าวสารไปบ้านเรือนฯ

แม้เปลี่ยนผ่านจากยุครัฐจารีตสู่ยุคสมัยใหม่ การแสดงอำนาจ อวดกร่าง ก็ยังเกี่ยวข้องกับยศถาบรรดาศักดิ์ลำดับชั้นทางสังคม ทุกวันนี้เรายังได้ยินเรื่อง ตำรวจเบ่งกินฟรี, ลูกนักการเมืองกร่างในสถานบันเทิง คุ้นเคยกันดีกับวลี "รู้ไหมกูลูกใคร?" หรือแม้แต่ข้าราชการเบ่งกับชาวบ้านตาดำๆ ที่มาขอรับบริการของรัฐ และไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่การเป็นเพียง "รุ่นพี่" ในมหาวิทยาลัยก็ยังสามารถกร่างกับรุ่นน้องได้ โดยอ้างสิทธิ์จากลำดับชั้น "เข้ามาก่อนเป็นพี่ มาทีหลังเป็นน้อง" เรียกว่าสังคมเรานั้นอยู่กับความ "กร่าง" จนสนิทแนบแน่นเป็นเนื้อเดียว

Advertisement

ถึงตรงนี้บางคนอาจค้านในใจว่า ความกร่างไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่เบ่งใส่ผู้น้อยอย่างเดียว ดูอย่างข่าวสิ ครอบครัวกร่างทำอาชีพก่อสร้างยังกร่างจนตำรวจเฉามาแล้วทั่วราชอาณาจักร

สำหรับฉันมองว่านี่เป็นเรื่องของชนชั้นอยู่ดีนั่นแหละ เพราะที่เห็นๆ คือครอบครัวกร่างมีความฝังใจอย่างมาก ที่จะข่มขวัญเอาชนะบุคคลที่มีชั้นยศ (จากคำสัมภาษณ์ที่ว่ามีปมกับตำรวจเพราะเคยโดนจับ) ซึ่งหากได้ชัยชนะนั่นหมายถึงการมีอำนาจเหนือกว่า เป็นการบอกว่าฉันไม่ใช่คนธรรมดาๆ ขนาดตำรวจยังต้องยอม

อาจกล่าวได้ว่าสังคมชนชั้นวรรณะ หล่อหลอมให้ความ "กร่าง" เป็นเครื่องแสดงอำนาจ ที่แม้แต่คนธรรมดาก็ยังอยากแสวงหา ส่วนคนมียศถาก็อยากสงวนไว้ นั่นจึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นผู้มีอำนาจ พูดจาเหมือนหมาสะบัดน้ำร้อน กระโชกโฮกฮาก มีถ้อยคำกร่างไม่สนสังคม

นั่นก็เพราะ "กร่างคืออำนาจ" และ "มีอำนาจถึงกร่างได้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้