วัยรุ่นอเมริกันพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเท่าตัวในรอบ 10 ปี
เด็กและเยาวชนที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลในสหรัฐฯ เนื่องจากพยายามฆ่าตัวตาย หรือคิดที่จะปลิดชีวิตตัวเอง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ผลการศึกษาโรงพยาบาล 31 แห่งทั่วสหรัฐฯ พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นเด็กและเยาวชน 35,000 ราย ที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล โดยมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย ระหว่างปี ค.ศ. 2008 - 2011
และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี ค.ศ. 2012 - 2015 นักวิจัยพบว่าจำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อยู่ที่ระดับ 80,000 รายเลยทีเดียว
โดย 66% ของจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กผู้หญิง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt) รัฐเทนเนสซี ชี้ว่าการคิดหรือพยายามที่จะฆ่าตัวตายมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง และจะลดลงในช่วงฤดูร้อน ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะเด็กๆ มีความกดดันในช่วงเปิดภาคเรียนมากกว่าตอนปิดเทอม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายในหมู่เด็กที่อายุระหว่าง 5 - 15 ปี จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ครึ่งหนึ่งของเด็กที่เข้าโรงพยาบาล พบว่าเป็นวัยรุ่นอายุ 15 - 17 ปี ซึ่งนับว่ามากที่สุด และอีกราว 40% เป็นวัยรุ่นอายุ 12 - 15 ปี
การคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายนั้น พบในเด็กอายุต่ำสุดเพียง 5 ขวบเท่านั้นเอง
การศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ Pediatrics ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การยิงกันตามโรงเรียน และการคุกคามในโลกไซเบอร์ในหมู่นักเรียน กำลังเป็นหัวข้อหลักในการถกอภิปรายในสหรัฐฯ
นายแพทย์ Greg Plemmons รองศาสตราจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ แห่งโรงพยาบาลเด็ก Monroe Carell Jr. มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ กล่าวว่า ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของปัญหาด้านสุขภาพจิตเด็ก ตามโรงพยาบาล และคลินิกต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทรัพยากรทางด้านสุขภาพจิตของเด็ก กำลังขาดแคลนอย่างมากในสหรัฐฯ
รายงานของศูนย์ป้องกันและควบคุมของโรคสหรัฐฯ ระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กวัยรุ่นมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากอุบัติเหตุ และการถูกฆาตกรรม