ต่อป.ตรีประเทศเพื่อนบ้านทางเลือก #dek61
ถ้าต่อปริญญาตรีในประเทศไทยจะปวดหัวขนาดนี้ งั้นไปเสี่ยงโชคเอาต่างประเทศดีกว่า ทางเลือกใหม่ต่อ ป.ตรี ประเทศเพื่อนบ้าน
istockphoto
ดูเหมือนว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองไทย จะกลายเป็นปัญหาสำหรับเด็กยุคนี้ที่ถูกเรียนว่า #dek61 ไปแล้ว เพราะนอกจากจะเปลี่ยนระบบที่กระทบต่อเด็กจำนวนมากแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กในระดับมัธยมรู้สึกไม่มั่นใจกับระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทย
เมื่อระบบการศึกษาในเมืองไทยมีปัญหาแบบนี้ เรามาหาทางเลือกอื่นสำหรับน้องที่มีความตั้งใจ และ คุณพ่อคุณแม่ที่พร้อมให้ความสนับสนุนกับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และ จีนกันดีกว่าเพราะนอกจากจะได้ความรู้จากระบบการศึกษาที่เข้มแข็งแล้ว ยังได้ภาษาที่สองหรือสามติดตัวกลับมาด้วยส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้างนั้นมาดูกัน
ประเทศสิงคโปร์
ระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้นเรียกได้ว่าอยู่ระดับมาตรฐานโลก แม้ว่าแนวทางในการวางระบบการศึกษาจะคล้ายกับในเมืองไทย แต่ในเนื้อหานั้นเข้มข้นกว่ามาก ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานของสิงคโปร์ นั้นกำหนดให้เด็กอยู่ในระบบโรงเรียน 10 ปี และ การศึกษาภาคบังคับของสิงคโปร์จะต้องเรียนรู้ 2 ภาษาควบคู่กันไป ได้แก่ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเลือกเรียนภาษาแม่ (Mother Tongue) อีก 1 ภาษา คือจีน (แมนดาริน) มาเลย์ หรือทมิฬ (อินเดีย) ซึ่งตามมาตรฐานนี้ ทำให้คนที่ไปเรียนต่อสิงคโปร์ จะได้ภาษาที่สองกลับมาอย่างแน่นอนคือภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาที่สามอย่างภาษาจีน นั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเองแล้วว่าจะเลือกเรียนหรือไม่
มหาวิทยาลัย (Universities) สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore :NUS)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University : NTU)
- มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (Singapore Management University:SMU)
ขณะที่ มหาวิทยาลัยเอกชน ในสิงคโปร์ ก็ยังมีความน่าสนใจ เพราะมีมหาวิทยาลัยชื่อดังจากต่างประเทศที่มาตั้งวิทยาเขต ในประเทศสิงคโปร์ เหนืออื่นใดด้วยระบบที่เข้มงวดในสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยเอกชนจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากทางภาครัฐของสิงคโปร์ เสียก่อนจึงจะมีสิทธิในการเปิดการเรียนการสอนได้ เพราะสิงคโปร์ รักษาชื่อเสียงและมาตรฐานของตนเองทางการศึกษาไว้สูงมาก เช่นเดียวกับ วิทยาลัยผลิตครูของ สิงคโปร์มีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ National Institute of Education ซึ่งมีเป้าหมายในการผลิตบุคลากร ครูที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครูในการออกมาผลิตเยาวชนให้มีคุณภาพ
ทุนเรียนระดับปริญญาตรีที่สิงคโปร์
ทุนการศึกษาจากกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์สำหรับนักศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้ในทุกสาขาวิชา (ยกเว้นสาขาแพทย์ศาสตร์ และทันตกรรม) ในมหาวิทยาลัย
รัฐของสิงคโปร์ ทั้งนี้ ทุนการศึกษาดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขผูกมัด โดยมีความคาดหวังให้ผู้ได้รับทุนกลับไปทำงานในประเทศของตนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
ทุนการศึกษาจากสถาบันการศึกษา นอกเหนือจากทุนที่ได้จากหน่วยงานรัฐแล้ว ในทุกมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนของสิงคโปร์ ยังมีทุนให้กับนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งอาจจะเป็นทุนที่ไม่ได้ลดหย่อนค่าเล่าเรียน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือทุนที่ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุนเหล่านี้สามารถสมัคร และ สอบถามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ที่คุณสนใจ
สาธารณรัฐประชาชนจีน
การเรียนที่จีนมีลักษณะที่คล้ายกับสิงค์โปร์ ในแง่ของภาษา เพราะนอกเหนือจากจะได้ภาษาจีนเป็นภาษาที่สอง ซึ่งกลายเป็นภาษาที่กำลังถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว หากเรียนในภาคที่เป็น International ก็จะทำให้ได้ภาษาอังกฤษกลับมาด้วยเช่นกัน เหนืออื่นใดมหาวิทยาลัยหลายแห่งในจีน โดยเฉพาะในปักกิ่ง และ เซี่ยงไฮ้ นั้นได้มาตรฐานในระดับโลก ทำให้ผู้ที่จบการศึกษานั้นมีโอกาสในการทำงานมากกว่า เพราะภาษาจีนที่ได้ทำให้มีโอกาสหางานทำในภูมิภาคอาเซียนได้ไม่ยาก หรือทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ต้องการ คนรู้ภาษาจีน ก็เป็นโอกาสสำคัญเช่นกัน
มหาวิทยาลัยที่น่าเรียนในประเทศจีน
มหาวิทยาลัยในจีนที่ติดระดับท้อป 50 ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก นั้นมีด้วยกันหลายแห่ง จะขอยกตัวอย่างมาสองแห่งคือ Tsinghua University อันดับ 48 ของโลก และ Peking University อันดับที่ 46 ของโลก ซึ่งอัตราค่าเรียนต่อปี เรียกได้ว่าสูสีกับการเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนในเมืองไทย ที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาคือค่าใช้จ่ายในการอยู่หอพัก อาหารการกิน และค่าเดินทาง ซึ่งค่าครองชีพในจีนนั้นยังถือว่าไม่แพงมากถ้าเทียบกับในสิงค์โปร์ หรือ ออสเตรเลีย
ทุนเรียนในจีน
มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในจีน ที่เปิดสอบเพื่อมอบทุนให้กับนักศึกษาต่างชาติ มีทั้งทุนที่ยกเว้นค่าเล่าเรียน หรือ ทุนที่ยกเว้นค่าเล่าเรียน และ ให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆด้วย ทั้งนี้น้องที่กำลังจะเป็น #Dek62 และมีผลการเรียนที่ดี แต่ไม่อยากจะปวดหัวกับระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองไทย ลองเข้าไปทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยที่คุณสนใจจากเว็บไซต์ ซึ่งคุณจะได้รายละเอียดรวมไปถึงทุนที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดให้สอบชิง อีกด้วย