การคุมกำเนิด เรื่องสำคัญที่วัยรุ่นควรรู้ไว้
ถ้ารู้ตัวเองว่ายังไม่พร้อม ก็ควรที่จะป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อน จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง
เรื่องแบบนี้คงจะห้ามกันไม่ได้ แต่อย่าลืมเตือนตัวเองทุกครั้งว่าถ้าเรายังอยู่ในภาวะที่ยังไม่พร้อม ก็ควรที่จะรู้จักการป้องกันตัวเองไว้ก่อน ซึ่งสถิติในปีก่อนหน้านี้ก็เคยชี้มาแล้วว่าเด็กไทย ท้องก่อนวัยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว ดังนั้นการมีความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิดจึงเป็นสิ่งที่วัยรุ่นไทยไม่ควรมองข้าม
การคุมกำเนิดหรือการป้องกันการตั้งครรภ์ คือ การป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยมีกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์หลายกลไกเช่น
- การป้องกันไม่ให้มีการตกไข่
- การป้องกันไม่ให้ไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิ
- การป้องกันไม่ให้มีการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก
ควรคุมกำเนิดเมื่อไหร่?
ผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์คือ เริ่มมีการพัฒนาร่างกายทางเพศ เริ่มมีประจำเดือน ซึ่งส่งผลให้สามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงควรเริ่มคุมกำเนิดตั้งแต่เมื่อคิดจะมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ครั้งแรกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ
โดยการคุมกำเนิดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
การคุมกำเนิดชั่วคราว
เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะมีอยู่เพียง ชั่วคราว เมื่อหยุดใช้จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เอง เหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตรในอนาคต
- ถุงยางอนามัย
ผลิตจากยางลาเทค หรือบางชนิดผลิตจากยางเทียมคุมกำเนิดโดยการสวมใส่ที่องคชาตเพศชายขณะแข็งตัว เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อปฏิสนธิกับไข่ ทำให้ไม่มีการตั้งครรภ์ ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ประมาณ 2 - 15%
- ถุงยางอนามัยสตรี
เป็นถุงปลายตันผลิตจากยางเทียม Polyurethane คุมกำเนิดโดยการใส่คลุมในช่องคลอดสตรีป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก ไม่เป็นที่นิยมและหาซื้อได้ยาก ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ได้ประมาณ 5 - 12%
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
เป็นวิธีคุมกำเนิดที่แพร่หลาย มีผู้นิยมใช้มากที่สุด มีความสะดวกในการใช้ ประกอบ ด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestin) มีผลยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้นทำให้อสุจิไม่สามารถผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ได้ประมาณ 0.3 -8%
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว
ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว มีกลไกทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว ข้น อสุจิไม่สามารถเคลื่อนผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาได้ประมาณ 0.3 - 8%
- ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินในขนาดสูง มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์โดยป้องกัน หรือเลื่อนเวลาการตกไข่ ขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน โดยเป็นยาที่ใช้รับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ในกรณีที่ลืมคุมกำเนิดหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขณะมีเพศสัมพันธ์เช่น ถุงยางอนามัยรั่วหรือแตก ได้ผลดีที่สุดถ้ารับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ทันทีหรือในเวลาไม่เกิน 72 - 120 ชั่วโมง พบมีอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ประมาณ 25%
- แผ่นแปะคุมกำเนิด (ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง)
ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน มีกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ 0.3 - 8%
- ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
เป็นยาฉีดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
- ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว
เป็นยาฉีดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์โดยยับยั้งการตกไข่ นอกจากนั้นยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น อสุจิจึงไม่สามารถเคลื่อนผ่านเข้าโพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาได้ประมาณ 0.3 - 8%
- ยาฝังคุมกำเนิด
กลไกการคุมกำเนิดคล้ายกับยาเม็ดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาประมาณ 0.05% วิธีการฝังยา ทำโดยกรีดผิวหนังบริเวณท้องแขนข้างที่ไม่ถนัดขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร จากนั้นใช้อุปกรณ์สอดเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังแล้วใส่แท่งยาตาม ไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก ให้ใช้ผ้าพันบริเวณแผลไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำเป็นเวลา 7 วัน แบบ 1 แท่ง สามารถคุมกำเนิดได้ 3 ปี ส่วนแบบ 2 แท่ง สามารถคุมกำเนิดได้ 5 ปี
- ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง
เป็นอุปกรณ์พลาสติกที่มีขดลวดทองแดงพันโดยการใส่เข้าสู่โพรงมดลูก มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์โดยลดการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิทำให้เกิดการปฏิสนธิกับไข่ได้ลำบาก ร่วม กับทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ระยะเวลาในการคุมกำเนิด 3, 5 หรือ 10 ปีขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงคุมกำเนิด ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการใส่ห่วงคุมกำเนิดคือ ช่วงวันที่ 1 - 5 ของการมีประจำเดือนเนื่องจากแน่ใจได้ว่า ช่วงนี้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และเป็นช่วงใส่ห่วงได้ง่ายเนื่องจากปากมดลูกเปิด ทั้งนี้พบอัตราตั้งครรภ์หลังใช้ ประมาณ 0.6 - 0.8%
- วงแหวนคุมกำเนิด
เป็นวงแหวนพลาสติกซึ่งจะค่อยๆปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินเข้าสู่ร่างกายทีละน้อยๆ กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์คล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม โดยใส่วงแหวนคุมกำเนิดเข้าไปในช่องคลอด ให้วงแหวนคลุมปากมดลูก โดยใส่ในช่องคลอดนาน 21 วันถอดออก 7 วัน ในช่วงที่ไม่ได้ใส่วงแหวนคุมกำเนิด 7 วันนี้จะมีประจำเดือนมา หลังจากนั้นจึงใส่วงแหวนคุมกำเนิดอันใหม่
การคุมกำเนิดถาวร
เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ทำครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ตลอด ไม่สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เองอีก เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรอีกแล้ว
- การทำหมันหญิง
เป็นการคุมกำเนิดโดยการตัดผูกท่อนำไข่ 2 ข้าง ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเข้าปฏิสนธิ กับไข่ได้จึงไม่มีการตั้งครรภ์ ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังผ่าตัด ประมาณ 0.2 - 0.7%
- การทำหมันชาย
เป็นการคุมกำเนิดโดยผ่าตัดผูกหลอดนำอสุจิที่บริเวณอัณฑะ ทำให้ไม่มีตัวอสุจิออกมากับน้ำเชื้อจึงไม่มีการปฏิสนธิของอสุจิกับไข่
ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่เราเลือกแล้ว ว่าจะยับยั้งชั่งใจตัวเองให้ไม่คิดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนได้หรือไม่ ถ้าห้ามได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ได้นั้นก็อย่าลืมที่จะป้องกันตัวเองไว้ก่อน จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหน้า