"TCAS" อัศวินขี่ม้าขาวด้านการศึกษา ที่พลาดท่าตกหลังม้าตั้งแต่เริ่ม

"TCAS" อัศวินขี่ม้าขาวด้านการศึกษา ที่พลาดท่าตกหลังม้าตั้งแต่เริ่ม

"TCAS" อัศวินขี่ม้าขาวด้านการศึกษา ที่พลาดท่าตกหลังม้าตั้งแต่เริ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ระบบ TCAS ถ้าดูตามเนื้อผ้าแล้ว ถือว่าเป็นระบบที่ออกแบบมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของการสอบคัดเลือกได้เป็นอย่างดี แต่ทำไมพอเอามาใช้จริงแล้วถึงเกิดปัญหา?

tcas-ok1700x420
จากเวที จุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 13 เรื่อง “ทีแคส - ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย” ที่จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร.วิชาญ ลิ่วกีรติยุตกุล ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และคุณมนัส อ่อนสังข์ (ลาเต้) บรรณาธิการข่าวการศึกษา และแอดมิชชั่น เว็บไซต์ DEK-D เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมการเสวนา ทำให้ทาง Sanook! Campus เกิดความคิดที่ว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราผู้ใหญ่ควรเอาจริง เรื่องการศึกษาของเด็กไทยยุคนี้

ในตลอดระยะเวลาช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาในประเทศไทย ได้เปลี่ยนระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่มหาวิทยาลัยไปแล้วถึง 3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นระบบ Admission, GAT/PAT และล่าสุดเข้าสู่ระบบ TCAS นั่นเอง ซึ่งนั่นทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่าระบบแบบไหนกันแน่ถึงจะครอบคลุมและตอบโจทย์สำหรับนักเรียนมากที่สุด ซึ่งก่อนที่จะเข้าประเด็นนั้น เรามาศึกษาระบบ TCAS โดยย่อกันก่อน

TCAS คืออะไร

istock-802531350-700

TCAS หรือ Thai University Center Admission System เป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมี 5 ขั้นตอนได้แก่ คัดเลือกโดยการส่งแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio), สมัครโควตาแบบมีสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนในพื้นที่, การรับตรงร่วมกัน, Admission และ การรับตรงแบบอิสระ

ทำไมถึงต้องยกให้ TCAS เป็นเหมือน อัศวินขี่ม้าขาวด้านการศึกษา

istock-639595424istockphoto

เพราะในปัจจุบันนั้นระบบการเปิดรับบุคลากรด้านการศึกษานั้นมีความไม่เป็นระเบียบ เช่นเปิดรับไม่ตรงกันในแต่ละมหาวิทยาลัย ผู้สมัครต้องใช้เงินในการเดินทางไปสอบในมหาลัยต่างๆ ที่ตัวเองต้องการ และยังทำให้การใช้ชีวิตในช่วงมัธยม 6 ของนักเรียนถูกการสอบตรงต่างๆ ดูดและดึงเวลาไป จนเหมือนไม่ได้ใช้ชีวิตนักเรียน มัธยม 6 อย่างเต็มที่

ดังนั้น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จึงเข้ามาจัดระเบียบทำให้การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้นทำการเปิดรับพร้อมๆ กันตัดปัญหา เรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางและค่าที่พัก ในกรณีที่มหาวิทยาลัยที่นักเรียนต้องการนั้นอยู่ต่างจังหวัด โดยจะเป็นข้อสอบกลางเมื่อได้คะแนนมาแล้วค่อยไปยื่น และรวมไปถึงการให้นักเรียนใช้ชีวิตในช่วงมัธยมปลายในโรงเรียนให้เต็มที่อีกด้วย เพราะการสอบ TCAS จะเริ่มเมื่อช่วงหลังจบ มัธยม 6 นั่นเอง นอกจากนั้นระบบการกั๊กที่ยังลดลง เพราะว่า 1 คนสามารถติดได้มากที่สุดแค่ 4 ที่ แตกต่างจากการสอบแบบเก่าที่มีสูงมากถึง 8 ที่เลยทีเดียว

ถึงจะเป็นเหมือน อัศวินขี่ม้าขาวด้านการศึกษา แต่ทำไมดันมาตกม้าตั้งแต่เริ่ม

istock-665394574istockphoto

ถึงแม้ว่าวิสัยทัศน์ของระบบ TCAS จะฟังแล้วดูสวยหรูเหมือนพร้อมที่จะแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของนักเรียนสบายขึ้นก็จริง แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และยังเป็นแผนงานแบบทฤษฎีไม่เคยปฏิบัติจริง โดยเผยข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2017 และประกาศใช้จริงเดือนตุลาคม 2017 หรือเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น จึงทำให้นักเรียนรู้สึกแตกตื่นกับระบบใหม่ ไม่เข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียจากระบบอย่างถูกต้อง ประกอบกับการประชาสัมพันธ์การให้ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐยังไม่เต็มที่ด้วย

ซึ่งจะว่าไปแล้วระบบ TCAS ที่ตั้งใจออกมาช่วยลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่มากมายในระบบเก่า ดูเหมือนจะมีช่องโหว่อยู่หลายทางที่ทำให้เหล่านักเรียนอาจที่จะต้องเสียเงินมากกว่าเดิม เพราะถึงแม้ว่ารอบแรก คัดเลือกโดยการส่งแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) จะถูกบังคับให้ไม่มีการสอบให้ดูที่ผลงานแต่อย่างเดียว แต่ว่าบางคณะจะต้องใช้ผลคะแนนจากหน่วยงานเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการประกอบแฟ้มสะสมผลงาน และรวมไปถึงบางมหาวิทยาลัยก็มีข้อกำหนดไว้ว่า แฟ้มสะสมผลงานที่ส่งเข้ามานั้นจะต้องมีจำนวนหน้าที่กำหนด และจะต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งในบางครั้งในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีข้อแม้ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้นักเรียนต้องทำแฟ้มสะสมผลงานหลายเล่ม และสิ้นเปลืองมากยิ่งขึ้น และสำหรับการที่จะช่วยให้นักเรียนได้ใช้เวลาในโรงเรียนมากขึ้นนั้น อาจจะทำให้นักเรียนเครียดมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะว่าระยะเวลาการสอบ TCAS นั้นเรียกได้ว่าอัดแน่นใน 1 เดือนแบบเต็มๆ ทำให้สร้างความกดดันในเด็กมากกว่าเดิม

ความกดดันของระบบ TCAS ที่ส่งผลต่อนักเรียน

istock-647187996istockphoto

สำหรับความกดดันจากระบบ TCAS นั้นเรียกว่ามาเป็นลูกโซ่ต่อกันไป เริ่มจากการที่ การเคารพตนเองของตัวเองจะลดลง เพราะการสอบแบบ TCAS นั้นทุกคนต้องผ่านการสอบทุกรอบ ไม่เหมือนแบบในระบบเก่าๆ ที่แยกสอบออกไปใครได้ก่อนก็ยืนยันสิทธิของตัวเองไป ทำให้คนที่สอบไม่ติดในรอบแรก ต้องเข้าสอบรอบต่อไป และถ้ายังไม่ติดอีก ก็ต้องสอบรอบต่อไป เรื่อยๆ จนกว่าจะจบ 4 ขั้นตอน ความรู้สึกที่ไม่ติดวนไปเรื่อยในแต่ละรอบก็จะยิ่งเพิ่มความกดดันให้กับตัวเอง เพราะการสอบแบบนี้ก็เหมือนกับว่า คนเก่งได้สิทธิก่อน คนอ่อนได้สิทธิทีหลัง ต้องเข้าสอบวนไปจนกว่าตัวเองจะได้ หรือบางคนอาจจะถอดใจไม่เลือกคณะที่ตัวเองชอบ แต่เลือกคณะที่ได้เพราะคะแนนพาไป ซึ่งจะส่งผลทำให้ไม่มีความหลงใหล หรือความชื่นชอบในสิ่งที่เรียน อาจจะทำให้ต้องซิ่วในปีถัดไปได้ นอกจากนั้นความไม่รู้ถึงระบบการสอบของพ่อแม่ก็อาจจะไปเพิ่มความกดดันให้กับตัวนักเรียนอีกด้วย

เคล็ดลับจัดการกับสภาวะความกดดันจากระบบ TCAS

istock-464410900istockphoto

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งไหนที่มาใหม่ ผู้คนยังไม่มีความเคยชิน ยังไม่มีความแน่นอน เลยสร้างความไม่มั่นใจให้กับเด็กรุ่น 61 เป็นอย่างมาก และยังรวมไปถึงประเด็นที่การสื่อสารทำความเข้าใจกับระบบยังไม่ดีอีก เลยทำให้เรายิ่งมีความเครียดไปกว่าเดิม แต่อย่าลืมว่าชีวิตของเราผ่านการแข่งขันหลายๆ อย่างมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมที่ตัวเองเรียนอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นการแย่งซื้อบัตรคอนเสิร์ตศิลปินที่ตัวเองชอบเพื่อจะให้ได้ที่นั่งที่ดีที่สุด ถ้ามองในมุมนี้ก็จะเห็นได้ว่าชีวิตของคนเราแข่งขันอยู่ตลอดเวลา TCAS เป็นแค่บททดสอบหน้าใหม่ที่เราเพิ่งจะได้เจอเท่านั้นเอง

ดังนั้นเคล็ดลับที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับเรื่องดังกล่าวนี้ก็คือ การควบคุมตัวเองให้ได้ ลองคิดในสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองไว้ก่อน แล้วคิดแผนสำรองเตรียมเอาไว้ ถึงจะใช้หรือไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นไร แค่เตรียมเอาไว้ก่อน อย่าเปิดประตูเอาไว้บานเดียว เปิดประตูเอาไว้หลายๆ บาน เมื่อโอกาสมาแล้วเราจะได้เข้าไปหาได้ทัน เพราะตามหลักจิตวิทยาแล้ว การมีแผนสำรองเตรียมเอาไว้จะช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยและมีความเครียดน้อยลงได้เป็นอย่างดี

อีกหนึ่งสิ่งก็คือ คนเป็นพ่อแม่ไม่ควรที่จะไปสร้างความกดดันให้กับลูกมากเกินไป นี่เป็นปัญหาหลักที่สร้างความกดดันให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ในจุดนี้คนที่เป็นพ่อแม่ควรที่จะเป็น Back up ที่ดี เป็นสติให้กับลูก และที่สำคัญอย่าลงไปเล่นเกมของลูก เรามีหน้าที่แค่คอยเป็นแรงผลักดันให้ลูกเดินไปในทางที่ชอบ ไม่ใช่ไปสร้างความกดดันและกำหนดอนาคตของลูก การสอบได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดหรือชี้ว่าลูกของคุณจะเติบโตเป็นคนที่ดีของสังคม

สุดท้ายนี้เราก็ต้องขอเป็นกำลังใจให้กับ #dek61 ทุกๆ คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนหนูทดลองกับระบบ TCAS และเอาใจช่วยน้องๆ รุ่นถัดไปที่ต้องใช้ระบบนี้ ขอให้เตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ เอาไว้ก่อนถึงเวลาจะได้ไม่เกิดความเครียดมาก และที่สำคัญเราอยากจะฝากเอาไว้ว่า ความสำเร็จ ความรู้ ความสามารถของคน ไม่ได้วัดกันที่ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่วัดกันที่ตัวของเราต่างหาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook