รู้จัก “หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์” สำนักข่าวสายติสต์จาก ม.ศิลปากร

รู้จัก “หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์” สำนักข่าวสายติสต์จาก ม.ศิลปากร

รู้จัก “หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์” สำนักข่าวสายติสต์จาก ม.ศิลปากร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ณ จุดนี้คงจะปฏิเสธไม่ได้แล้วจริงๆ ว่าโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตมนุษย์เกือบ 100% แต่ละสาขาอาชีพต่างก็ต้องปรับตัวตามโลกที่หมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงวิชาชีพ “สื่อมวลชน” ที่ต้องแข่งขันกันภายใต้กติกาหลักๆ คือความรวดเร็วและความหวือหวาในการนำเสนอข่าว ใครโพสต์ได้เร็วหรือดึงดูดความสนใจด้วยภาพหรือพาดหัวข่าวแรงๆ คนนั้นก็ได้กอบโกยตัวเลขผู้อ่านไปครองก่อน ทำให้หลายครั้งเกิดการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาด และที่ร้ายกว่านั้นคือสื่อกลับกลายเป็นผู้ที่ละเมิดสิทธิของแหล่งข่าวเสียเอง นอกจากนี้ ความพยายามนำเสนอข่าวอย่างรวดเร็ว ทันกระแส กลับทำให้เสน่ห์บางอย่างของข่าวหายไป นั่นคือการวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อแตกประเด็นและนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อโลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว แต่คนเรายังคงต้องการเสพข่าวสารที่มีคุณภาพจากสื่อที่มีจรรยาบรรณ จึงถือเป็นความท้าทายของสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ที่ต้องนำเสนอข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และมีจรรยาบรรณ และนับว่าเรายังไม่หมดหวังเสียทีเดียว หลังจากที่ได้รู้จักกับ “ลูกศิลป์” หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติรายปีของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ 

รู้จัก “ลูกศิลป์”
หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์แบ่งออกเป็นหนังสือพิมพ์เล่มและออนไลน์ ดำเนินงานทั้งหมดโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยมีบรรณาธิการฝ่ายต่างๆ 7 คน ได้แก่ บรรณาธิการบริหาร, บรรณาธิการการพิมพ์และโฆษณา, บรรณาธิการข่าว, บรรณาธิการศิลปกรรม, บรรณาธิการออนไลน์ และบรรณาธิการหน้าพิเศษ พร้อมแนวคิดเรื่องการรักษาสิทธิ และทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงตามหน้าที่ของสื่อมวลชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างขัดกับสไตล์เด็กมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ ที่เน้นความสนุกสนานบันเทิง แถมยังดูไม่เข้ากับภาพลักษณ์ “มหาวิทยาลัยศิลปะ” อย่างที่ศิลปากรเป็นมาตลอด อย่างไรก็ตาม เรื่องสังคมและการเมืองกลับหลอมรวมกับศิลปะได้อย่างน่าสนใจในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ โดยรชา เหลืองบริสุทธิ์ หรือ เจน บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์มองว่าเรื่องสิทธิ การเมือง สังคม เป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป จึงถือว่าเป็นประเด็นที่ควรถูกพูดถึง

แต่กว่าจะได้ตั้งกองบรรณาธิการลูกศิลป์ได้ในชั้นปีที่ 3 นักศึกษาทุกคนต้องผ่านประสบการณ์เรียนรู้การทำข่าวด้วยตัวเองมาตั้งแต่ชั้นปี 1 โดยเริ่มฝึกเลือกประเด็นและทักษะต่างๆ จากข่าวในมหาวิทยาลัย รวมทั้งทักษะด้านกราฟิก ตามด้วยการทำข่าวในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี โดยส่วนใหญ่จะเป็นข่าวสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นข่าวที่มีคุณค่าข่าว และส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง ดังนั้น ลูกศิลป์จึงเหมือนเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่ไปด้วย จนกระทั่งทำหนังสือพิมพ์เล่มในชั้นปีที่ 3 ซึ่งเน้นประเด็นในระดับประเทศ และกระทบกับวิถีชีวิตของคนจำนวนมาก

จุดเด่นของลูกศิลป์นอกจากเนื้อหาก็คือ วิธีการนำเสนอและการออกแบบที่สร้างสรรค์ เหมือนพอเราเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร มันก็ต้องมีความสร้างสรรค์ สีในเล่ม เราใช้สีของมหาวิทยาลัย คือเป็นสีที่ทางศิลปากรออกแบบและตั้งชื่อเป็นสีไทย เพราะเราคิดว่ามันก็สื่อความเป็นมหาวิทยาลัยของเราด้วย แล้วก็เพราะว่าเราเรียนศิลปากรแล้วก็มีการเรียนทางศิลปะด้วย พวกกราฟิกเราก็คิดว่าทำได้ค่อนข้างดี” พระจันทร์ เอี่ยมชื่น บรรณาธิการศิลปกรรมกล่าวเสริม

กระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการลูกศิลป์จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม ทั้งการเลือกบรรณาธิการแต่ละฝ่าย จากนั้น ก็จะมาประชุมกันเพื่อหาประเด็นข่าว และแบ่งการทำข่าวเป็นแบบกลุ่มและแบบเดี่ยวตามขนาดของประเด็น โดยมีอาจารย์และรุ่นพี่มาช่วยแนะนำประเด็น รวมทั้งข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เรียนรู้จากรุ่นก่อนๆ และมีการอัพเดตความคืบหน้าในการทำงานทุกสัปดาห์

“ในห้องข่าวของเรา เราจะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น อย่างเช่น เมื่อได้ประเด็นแล้วก็จะบอกว่าได้อะไรมาบ้าง แล้วเราก็มาซักกันว่าสิ่งที่ขาดหายไปคืออะไร แล้วเพื่อนก็ต้องไปหามาเพิ่มให้ได้ในอาทิตย์หน้าที่ต้องประชุมกันอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งข่าวนั้นเสร็จสมบูรณ์ แล้วก็มาเรื่องการจัดหน้า หนังสือพิมพ์ของเราจะเป็นประเด็นข่าวเจาะ ไม่ใช่ข่าวรายวัน ยังเกาะกระแสช่วงนั้นบ้าง แต่ก็ต้องดูว่าข่าวนั้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าอยู่ได้ไม่นาน เราก็ลงออนไลน์ แต่ถ้าอยู่ถึงช่วงที่เราออกเล่ม เราก็ลงในหนังสือพิมพ์” เจนเล่า

เรียนสื่อ เปลี่ยนชีวิต
“เราไม่ได้มีหน้าที่สอนใคร เรามีหน้าที่รายงานข่าวออกไปแล้วให้เขาตัดสินเองว่าเป็นอย่างไร” คำสอนจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เจนบอกว่าเป็นคำพูดที่ “ดับฝัน” ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเรียนในคณะนี้ จากเด็กที่เลือกเรียนเป็นสื่อมวลชนเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละครในนวนิยาย บัดนี้ ความคิดของเจนและเพื่อนๆ ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนโดยสิ้นเชิง

“พอมาเรียนแล้วเราได้อ่านมากขึ้น มันก็เปิดโลก อาจารย์จะสอนว่าอย่าเชื่อทันที ให้ดูที่กระบวนการคิดของเรื่องนั้นๆ แทน เพราะเรื่องราวมันสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา มันยังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเปิดรับความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ เราเคยได้ยินคนพูดว่า เรียกร้องแต่สิทธิ แต่ทำไมไม่ทำหน้าที่ให้ดี เราจะจำตลอดว่าเราต้องทำหน้าที่ให้ดี อาจารย์ก็สอนว่าจริงๆ สองเรื่องนี้มันแยกกัน หน้าที่ก็คือหน้าที่ สิทธิคือสิ่งที่เราควรได้รับอยู่แล้ว ไม่ว่าเราทำหน้าที่ดีแค่ไหน สิทธิที่มีอยู่ เราก็ต้องได้ ก็เปลี่ยนเรื่องการคิดแบบนี้ด้วย” เจนเล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเรียนในสาขาวิชานี้

นอกจากจะเปลี่ยนความเชื่อแล้ว การเรียนในสาขาวิชาวารสารศาสตร์และกระบวนการพูดคุยกันในกองบรรณาธิการ ยังทำให้มุมมองของนักศึกษากลุ่มนี้เกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคมเปลี่ยนไปอีกด้วย

“เราได้คุยกันเยอะขึ้น แล้วเราก็เคารพคนอื่นมากขึ้น เมื่อก่อนเราจะ ‘เฮ้ย เราคิดแบบนี้น่ะ เราน่าจะถูก คนอื่นต้องคิดแบบเราสิ’ พอผ่านการเรียน การคิด ก็กลายเป็นว่าเราก็คิดแบบเรา คุณก็คิดแบบคุณ ก็ไม่เป็นไร เราไม่ต้องคิดเหมือนกันก็ได้ ไม่ต้องพยายามให้คนอื่นคิดเหมือนเรา” พระจันทร์เล่า

“อาจารย์เคยให้เราพูดเกี่ยวกับว่า ‘ความขัดแย้งมันไม่ดีจริงหรือเปล่า’ ซึ่งหลายคนก็มองว่าความขัดแย้งทำให้คนสองคนทะเลาะกันแล้วแตกหัก แต่ความจริงแล้ว ในสังคมเราต้องมีความขัดแย้งอยู่แล้ว แต่ต้องมีการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่าไม่สนใจกัน แต่เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อมาคุยกัน ทำความเข้าใจกัน ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอย่างน้อยความแตกต่างตรงนี้ต้องสามารถทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นจิรัชญา ชัยชุมขุน หรือ สปาย บรรณาธิการข่าว เล่าเสริม

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ เข้ารับรางวัลพิราบน้อย ประจำปี 2560 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561ลูกศิลป์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ เข้ารับรางวัลพิราบน้อย ประจำปี 2560 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561 

รางวัลของ “พิราบน้อย”
นอกจากการฝึกทำข่าวลงหนังสือพิมพ์แล้ว อีกหนึ่งภารกิจที่ทีมลูกศิลป์ทุกรุ่นจะต้องทำทุกปีคือการส่งข่าวของตัวเองไปลงสนามประกวดสื่อ ซึ่งในปีนี้ หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ได้คว้า 6 รางวัล จากการประกวดรางวัลพิราบน้อย ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยสปายและเจนยอมรับว่าเป็นการประกวดที่กดดันมาก เพราะเห็นรุ่นพี่ได้รับรางวัลจากเวทีนี้ไปถึง 5 รางวัลเมื่อปีที่แล้ว

ทุกๆ ข่าวที่จะได้ลงหนังสือพิมพ์เล่มนี้ต้องมีความสมบูรณ์และมีคุณค่าข่าวอยู่แล้ว แต่ที่จะส่งประกวดก็จะเลือกที่มีผลกระทบมากที่สุด เป็นเรื่องที่สังคมควรตระหนักรู้ เป็นเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไข เราจะรู้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าใครทำเรื่องอะไร และน่าสนใจแค่ไหน แล้วก็ดูฟีดแบ็กจากในห้องว่าเพื่อนฮือฮาแค่ไหน” เจนเล่า และหนึ่งในข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทข่าวสิ่งแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ข่าว “หมีของกลางค้างติดกรง” ฝีมือของพระจันทร์นั่นเอง

“มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ของกลางที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ เราเลือกทำข่าวนี้เพราะเห็นข่าวเรื่องการขอรับบริจาคเงินสำหรับดูแลตัวนิ่มที่เป็นของกลาง เมื่อประมาณเดือนกันยายน ปีที่แล้ว เพราะงบประมาณไม่พอ ก็เลยไปตามเช็ค ก็เลยรู้ว่าสัตว์พวกนี้จะต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของหน่วยงานจนกว่าคดีจะสิ้นสุด แล้วพอดีเราเป็นคนชอบเรื่องสัตว์อยู่แล้ว พอเรามี passion กับมัน ก็เหมือนมีแรงใจจะทำ”

“การทำงานไม่ยาก ด้วยความที่ทางหน่วยงานก็รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ แล้วไม่ค่อยมีใครมาสนใจ เขาก็เลยค่อนข้างเต็มใจจะคุยกับเราด้วย ก่อนหน้านี้ก็มีคนเสนอเรื่องนี้ไปเยอะแล้ว แต่ก็มีแต่เรื่องงบไม่พอ เพราะรัฐไม่ให้งบดูแลส่วนนี้ ในขณะที่เรารู้สึกว่ารัฐไม่จำเป็นต้องมีงบส่วนนี้ด้วยซ้ำ ถ้าเกิดว่ามันไม่มีของตรงนี้อยู่” พระจันทร์กล่าว

ในขณะที่การทำข่าวของพระจันทร์ดูแทบจะเรียบง่ายไร้ปัญหา เพื่อนคนอื่นๆ กลับพบกับประสบการณ์การทำงานที่ยากเย็นกว่า ในประเด็นที่ใหญ่และละเอียดอ่อนอย่าง “การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน” โดยสปาย ผู้เป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ ได้ทดลองใช้วิธีการสืบหารายละเอียดจากภาพยนตร์รางวัลออสการ์อย่าง “Spotlight” ซึ่งเป็นเรื่องราวการสืบสวนคดีการล่วงละเมิดทางเพศในศาสนจักร และเป็นประเด็นที่ใกล้เคียงกับงานของเธอ โดยเริ่มจากการสืบค้นหาคดีที่เกิดขึ้นย้อนหลังไปเป็นสิบปี และตามหาแหล่งข่าว ซึ่งหลายครั้งก็ถูกปฏิเสธเพราะเจ้าตัวไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดแหล่งข่าวซ้ำอีก แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือการสอบถามข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากโรงเรียนที่เกิดเหตุ

“โรงเรียนรัฐบาลจะมีหลายขั้นตอนมากๆ เข้าถึงยาก เก็บข้อมูลยาก และเขาก็จะค่อนข้างเลี่ยง มีการโยนความรับผิดชอบกันไปมา คือไม่มีใครอยากตอบให้ตัวเองดูแย่อยู่แล้ว มันก็เลยยิ่งยากตรงที่ว่าเราต้องตามให้ทัน ส่วนฝั่งโรงเรียนเอกชน ความยากคือเขาไม่ได้มีระบบขั้นตอนแบบรัฐ เป็นการบริหารภายในโรงเรียนเอง เพราะฉะนั้น เขาก็จะปิดข่าว พอเราถามว่าเคยมีคดีแบบนี้ไหม เขาก็จะตอบว่าไม่มี หลักฐานเดียวที่เรามีคือกรณีที่เด็กพูด ทางโรงเรียนก็จะบอกว่าไม่มี เอามาจากไหน พูดจริงหรือเปล่า เขาตั้งใจจะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียงหรือเปล่า ซึ่งเราก็ต้องไปหาให้เป๊ะๆ เลยว่าเกิดเรื่องนี้เมื่อไร เราก็ต้องทำให้ข้อมูลตรงนี้ดีที่สุด ให้เขาพยายามตอบมา โดนเบี่ยง โดนด่าเยอะมาก ปาดน้ำตากันมาเยอะ ชิ้นนี้ใช้เวลาทำทั้งเทอม ประมาณ 4 – 5 เดือน เพราะว่ามันต้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีสถิติ มีอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้ข่าวนี้น่าเชื่อถือที่สุด แล้วก็ต้องระวังการละเมิดซ้ำ แต่ก็ยังยืนยันว่าเคสนี้ยากที่สุด” สปายกล่าว พร้อมยืนยันว่าเป็นการทำงานที่ยาวนานแต่คุ้มค่า เพราะข่าวชิ้นนี้ได้ไปลงในหนังสือพิมพ์ข่าวสดและคอลัมน์จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและยังได้ฟีดแบ็กที่ดีกลับมา ด้านเจนก็มองว่าข่าวนี้เป็นเพียงความสำเร็จขั้นหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งที่ดีกว่าคือปัญหาเรื่องครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้รับการแก้ไขในที่สุด

แหล่งข่าวสุดพีค
นอกจากประเด็นข่าวที่ถือว่าเป็นอุปสรรคและบทเรียนครั้งใหญ่ในการทำงานข่าว ทีมลูกศิลป์ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากตัวแหล่งข่าวเองด้วย ซึ่งทั้ง 4 คน เห็นตรงกันว่าการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเป็นภารกิจที่โหดพอสมควร สำหรับวัยรุ่นที่มีประสบการณ์ชีวิตยังไม่มากพอที่จะตั้งคำถามเชิงลึก

“มีแหล่งข่าวบอกว่า ถ้าเราตั้งคำถามที่แอดวานซ์กว่านี้ จะทำให้เขาอยากคุยกับเรามากขึ้น เราจะได้อะไรดีๆ จากตรงนี้ไปอีกเยอะเลย หน้าชา เจ็บเลย” วิภาภรณ์ สุภาพันธ์ หรือ ดีดี้ บรรณาธิการการพิมพ์และโฆษณา เปิดเรื่องเป็นคนแรก

“ปกติเราจะเป็นคนใช้คำถามพื้นๆ เป็นตัวตั้ง แล้วพอไปคุยก็ค่อยๆ แตกประเด็น แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งก็ส่งคำถามพื้นๆ ไปนี่แหละ แล้วแหล่งข่าวตอบกลับมาว่า สิ่งที่เราถามไปมันเป็นคำถามที่พื้นไปที่จะมาคุยกับเขา เขาพูดทำนองว่า นักข่าวส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ ชอบถามคำถามซ้ำๆ กับที่คนอื่นถาม โดยที่ไม่ทำการบ้านมาก่อน แล้วแบบนี้มันจะไปต่อยอดให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะฉะนั้น เขาจะไม่ให้สัมภาษณ์จนกว่าหนูจะทำอย่างไรก็ได้ให้เขาอยากคุยด้วย” สปายเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ที่สุดท้ายเธอก็ต้องกลับไปค้นคว้าผลงานของแหล่งข่าวท่านนี้ พร้อมตั้งคำถามมากมาย จนกระทั่งแหล่งข่าวยอมให้สัมภาษณ์ และอธิบายข้อมูลต่างๆ ในฐานะอาจารย์ด้วย

แต่แหล่งข่าว “พีคสุด” ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เราคงต้องยกให้แหล่งข่าวของพระจันทร์ ซึ่งเป็นคนใหญ่คนโตท่านหนึ่ง ซึ่งพระจันทร์เล่าว่า

“มีสายโทรเข้ามาตอนกลางคืน 4 ทุ่มครึ่ง เป็นแหล่งข่าวที่เพิ่งสัมภาษณ์เสร็จ คือเป็นท่านใหญ่โตคนหนึ่ง โทรมา ชวนไปกินข้าวกัน รู้เลยว่ามาไม่ดี สติแตก ก็ได้แต่ค่ะๆ รู้เลยว่าเราจัดการปัญหานี้ไม่ได้เลย ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ดีที่เป็นแค่โทรศัพท์ เพราะตอนเจอหน้าก็ดูปกติมาก แต่ตอนโทรมาดูไม่ปกติที่สุดเลย ตอนนั้นก็บล็อกเบอร์ไปเลย รู้สึกเลยว่าต่อไปถ้าเจอแบบนี้อีกต่อหน้า เราจัดการไม่ได้แน่” พระจันทร์เล่า

มุมมองที่มีต่อสื่อในปัจจุบัน
ในขณะที่คนทั่วไปมองสื่อในปัจจุบันด้วยสายตาเอือมระอา จากวีรกรรมการละเมิดสิทธิของแหล่งข่าวและพาดหัวข่าวที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เหล่าบรรณาธิการของลูกศิลป์กลับมีมุมมองที่แตกต่างและดูจะเข้าใจบริบทที่ก่อร่างสื่อมวลชนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ทางธุรกิจหรือวัฒนธรรมภายในองค์กรสื่อเอง

“สื่อเป็นแบบนี้อาจจะเป็นเพราะว่ามันมีบริบทหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ สื่อจะทำแบบนี้ได้เลย อย่างบริบทภายในองค์กร เป้าหมายแต่ละองค์กรก็ต่างกันแล้วในการทำข่าว หรือแม้แต่เรื่องธุรกิจที่ต้องอยู่ให้ได้ อีกอย่างที่คิดแต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง คือบริบททางการเมืองที่ทำให้สื่อต่างๆ ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ หนูว่าตัวสื่อเองด้วยที่มีปัญหา คือลืมสิ่งที่ตัวเองต้องทำ คือเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เขาลืมว่าต้องทำเพื่อประชาชน บางทีสื่อก็คิดถึงแต่ตัวเอง ลืมหน้าที่ไป ไม่อยากให้โทษว่าเป็นแค่จิตสำนึก เราก็น่าจะปรับเปลี่ยนระบบมากกว่าเปลี่ยนจิตสำนึก เพราะจิตสำนึกของเราไม่เท่ากันอยู่แล้ว เราก็มาทำให้ระบบตรงนี้มันเอื้อให้เราเป็นในสิ่งที่อยากเป็นดีกว่า” เจนกล่าว

สื่อมวลชนสไตล์ลูกศิลป์
แม้จะเป็นการฝึกทำข่าวเพียงไม่กี่ปี แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้เริ่มมองภาพตัวเองในฐานะสื่อมวลชน ที่มุ่งทำข่าวเชิงสังคม การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวการศึกษา ซึ่งมีที่มาจากประสบการณ์การเรียนและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยสปายและดีดี้เห็นตรงกันว่าเด็กเป็นผู้รับกรรมจากการจัดการศึกษาของผู้ใหญ่ ที่ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของเด็ก

อยากทำข่าวเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะมันมีประเด็นที่เรารู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่สนใจ ตอนอยู่ ม.ปลายมันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก แล้วมันเป็นอนาคตของเด็ก แต่รู้สึกเหมือนคนใหญ่คนโตกำลังทดลองกับเราอยู่ เราก็รู้สึกว่าไม่แฟร์ ทำไมเสียงของเด็กมันส่งไปไม่ถึงเขา เลยรู้สึกว่าอยากทำข่าวด้านนี้ คือเรายังจำความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมตอนเด็กๆ ได้ ก็เลยไม่อยากให้เกิดกับรุ่นอื่นอีก” สปายกล่าว

และเมื่อถามถึงความพร้อมที่จะเข้าสู่สนามการเป็นสื่อมวลชนจริงๆ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ทั้ง 4 คน ตอบว่าพร้อม แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่จากการทำงานหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ก็ทำให้พวกเธอผ่านด่านความกดดันต่างๆ จนแกร่งมากพอ และเชื่อว่าน่าจะยังสามารถรักษาอุดมการณ์สื่อที่มีจรรยาบรรณไว้ได้ต่อไป

“อาจารย์เคยบอกว่ามันไม่ใช่ว่าอุดมการณ์ของเราทั้งหมด เมื่อออกไปแล้วมันจะไปเข้ากับทุกองค์กร พอออกไปก็ต้องเจออะไรหลายๆ อย่าง ก็ต้องปรับ คิดว่าอย่างแรก เราน่าจะไปหาองค์กรที่เราเชื่อว่าไฟเราจะยังลุกอยู่ ไม่ใช่โดนดับ แต่ถ้าไปถึงองค์กรนั้น ก็เชื่ออีกว่ามันก็ต้องมีกรอบขององค์กรอีก คิดว่าคงต้องปรับทั้งตัวเราด้วย เราคงไม่ยอมให้สิ่งที่เราปลุกปั้นต้องหายไปง่ายขนาดนั้น” สปายทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook