"ครูทอม คำไทย" กับวีรกรรมใช้ภาษาไทยสุดหลุดโลกของเด็กๆ ในชั้นเรียน

"ครูทอม คำไทย" กับวีรกรรมใช้ภาษาไทยสุดหลุดโลกของเด็กๆ ในชั้นเรียน

"ครูทอม คำไทย" กับวีรกรรมใช้ภาษาไทยสุดหลุดโลกของเด็กๆ ในชั้นเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จักเขามากอีกนิด "ครูทอม คำไทย" ครูสอนภาษาไทยที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจน หนุ่มที่ชอบทวิตเรื่องมีสาระมากให้ความเข้าใจภาษาไทยกับเด็กยุคใหม่

mvi_0995.mov.00_00_06_13.stil

เรียกว่าเป็นครูสอนภาษาไทยที่มีความแตกต่าง และมีความสร้างสรรค์ในการสอนทำให้เด็กๆ อยากจะติดตามจริงๆ สำหรับ ครูทอม คำไทย หรือ จักรกฤต โยมพยอม ที่มักมีวิธีการสอนที่โดดเด่นและแหวกแนวไม่เหมือนใคร หลายๆ คนอาจจะรู้จักเขามาจากการชอบหยิบยกคำศัพท์ภาษาไทยบางคำที่คนไทยชอบเขียนผิด มาอธิบายแล้วทำการแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ในสไตล์ แต่นอกจากตรงนี้แล้ว บอกเลยว่าผู้ชายคนนี้มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าที่เรารู้เยอะเลย ซึ่ง Sanook! Campus ได้มีโอกาสได้คุยกับ ครูทอม เราจึงอยากที่จะให้รู้จักผู้ชายที่ไม่ธรรมดาคนนี้มากขึ้นกว่านี้สักหน่อย

วีรกรรมการใช้ภาษาสุดฮาของเด็กๆ ที่เจอในชั้นเรียน

เรียกว่าเยอะแยะเลยนะครับ ซึ่งแต่ละครั้งที่สอนเด็กก็มักจะเจออะไรแปลกๆ อยู่เสมอ เช่น ชนก แปลว่าพ่อ และแม่จะแปลว่าอะไร ซึ่งเด็กหลายๆ คนตอบพร้อมเพรียงกันมากเลยวะ ชะนี ซึ่งทำให้ครูทอมถึงกับตะลึง เพราะถึงแม้เราอาจจะใช้คำว่าชะนีเรียกแทนผู้หญิงในคำไม่สุภาพ แต่ที่แท้จริงแล้วคำว่าแม่ ต้องใช้คำว่า ชนนี

ตลอดไปถึงเมื่อถามความรู้รอบตัวเด็กๆ อย่างเช่น ม้ากับลา ผสมกันเป็นอะไร แต่เด็กๆ ดันตอบว่าลามะ ซึ่งเด็กบางคนไม่รู้จริงๆ ว่าคำที่ถูกต้องเนี่ยคืออะไร และเข้าใจว่าสิ่งที่ตอบมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ยกตัวอย่างคำที่คนไทยมักเขียนผิดกันบ่อยๆ ?

จริงๆ ก็มีเยอะเลยนะครับ แต่ที่เจอเยอะสุดเลยก็คือคำว่า คะ/ค่ะ จริงๆ แล้วคำนี้เขียนต่างกัน ออกเสียงต่างกัน ตามหลักผันวรรณยุกต์ คอ + อะ = คะ เป็นเสียงตรี แต่ถ้า ค่ะ เป็นเสียงโท จริงๆ เราไม่จำเป็นที่ต้องไปจำเลยว่าคำไหนใช้เป็นประโยคคำถาม คำไหนใช้เป็นประโยคบอกเล่า แค่เขียนไปตามที่ออกเสียงเลยก็ได้ เช่นเดียวกับผู้ชาย วะ/ว่ะ ก็คล้ายๆ กัน จำง่ายๆ ตรงที่ตอนเราเขียนคำว่า อวัยวะ วะ ไม่ต้องเติมไม้เอก

Instagram

คำผิดที่รู้สึกว่ามันไม่น่าจะผิดนะ แต่ทำไมยังผิดกันได้?

จริงๆ ครูทอมรู้สึกว่าทุกคำเลยครับ เพราะทุกคำเราควรที่จะเขียนให้ถูก เพราะว่าเราใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ไม่ใช่แค่คุยกันพอรู้เรื่อง แต่ถ้าเราใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง มันจะสื่อสารภาพลักษณ์ของตัวเราด้วย เช่นการที่เราใช้ภาษาได้ถูกต้องก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของเราดูดี เป็นคนละเอียดรอบคอบไปด้วย ในทางกลับกันถ้าเราใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องคนอาจจะมองเราเป็นคนไม่รอบคอบหรือไม่มีความรู้ก็ได้

สำหรับวัยรุ่นสมัยนี้ที่มักบัญญัติคำศัพท์ใหม่ๆ ออกมาใช้กัน ครูทอมได้ตามคำใหม่ๆ บ้างมั้ย แล้วมีคำศัพท์อะไรที่ชอบบ้าง?

ปกติจะสนใจอยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยในอดีตหรือภาษาไทยในปัจจุบัน อันที่จริงไม่ใช่แค่วัยรุ่นในสมัยนี้นะครับที่ชอบคิดคำใหม่ๆ ออกมา วัยรุ่นยุคเก่าก็มีเช่นกัน เช่นคำว่า เปิ๊ดสะก๊าด ที่แปลว่าหรู ดูแพง ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ โดยเพี้ยนมาจากคำว่า First Class นั่นเอง หรือคำว่า จ๊าบ ที่ใช้กันสมัยยุค 90 หรือคำว่า มะ ที่มีความหมายว่า เท่มาก เพี้ยนมาจากคำว่ามะกัน คือเรียกชาวอเมริกันว่า มะกัน แล้วเพี้ยนมา แต่สังเกตว่าคำเหล่านี้มักจะฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่ง พอคนเริ่มเบื่อ มันก็จะหายไปเอง เป็นธรรมชาติของภาษาที่เวลาเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเปลี่ยนการสะกด เปลี่ยนการออกเสียง มีความหมายเพิ่ม ตลอดจนเปลี่ยนความหมาย หรือการที่มีคำใหม่เกิดขึ้นมาแล้วคำบางคำหายไปมันคือธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเด็กๆ วัยรุ่นจะคิดคำใหม่ๆ ออกมามันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย

ส่วนคำทีชอบมากก็คงจะเป็นคำว่า นะครัช มีทั้งสะกดด้วย ช หรือ ส ซึ่งเคยเจอบางคนมีความคิดที่ว่าเด็กรุ่นใหม่คิดคำอะไรออกมา แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ เลยอยากจะถามกลับไปว่าไม่รู้จริงๆ ว่าแปลว่าอะไร? คือเราก็รู้อยู่แล้วว่าความหมายมันคือนะครับ แต่เพียงแค่สิ่งที่ต่างกันคือระดับความเป็นทางการเท่านั้นเอง

Facebook

อะไรที่ทำให้ครูทอมชื่นชอบภาษาไทยจนกลายมาเป็นครูทอมในวันนี้?

นึกย้อนไปตั้งแต่เด็กเลยคือ ชอบอ่านหนังสือ ชอบดูทีวีละครจักรๆ วงศ์ๆ ดูแล้วเกิดความสนุก เลยมาหานิทานอ่านทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง พออ่านเยอะแล้วเวลาเรียนวิชาภาษาไทยเราจะทำได้ดีกว่าเพื่อนๆ เลยรู้สึกว่าสนุกกับการเรียน แล้วมันทำให้ตัวเองรู้สึกว่าทำได้ดี เลยชอบภาษาไทยมาเรื่อยๆ ครับ และเมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะพัฒนาตัวเองไปตลอด เพราะรู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ได้เก่งมาก เพราะมีหลายๆ อย่างที่เรายังไม่รู้ให้ได้ค้นหา อย่างช่วงนี้ว่างๆ ก็มักที่จะเปิดพจนานุกรมอ่าน เปิดเจอคำใหม่ๆ ก็ได้ความรู้เพิ่ม เลยทำให้เรารู้สึกดีทุกครั้งในการเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ให้ตัวเอง

อยากให้ฝากถึงเด็กๆ ยุคใหม่ให้รณรงค์ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องบ้างมั้ย

อยากให้น้องๆ ทุกคนใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เหมาะสม ในคำว่าถูกต้องเหมาะสมนี้ไม่ได้แปลว่า ทุกคำที่เราพิมพ์จะต้องเป๊ะตามราชบัณฑิตยสถานทุกคำ เราสามารถพลิกแพลงคำ เรื่องการออกเสียงยังไงก็ได้ไม่ใช่เรื่องผิด แค่เราต้องรู้กาลเทศะ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรใช้ เมื่อไหร่ไม่ควร เลือกให้ถูกกับผู้ที่สนทนาด้วย เพราะถ้าเลือกใช้ภาษาที่ไม่เหมาะกับผู้สนทนาก็จะไม่มีประสิทธิภาพ แค่ให้แยกแยะให้ถูก แค่นี้การสื่อสารของเราก็จะมีประสิทธิภาพแล้วครับ



อย่าลืมติดตาม ครูทอม ออน สะเตด ตอน...ทอม-ขึ้น-คูล วาไรตี้ทอล์กโชว์ ที่จะเล่าเรื่องราวความสนุกสนาน ผ่านประสบการณ์การเป็นครูสอนภาษาไทย ผู้สนใจการศึกษา ภาษา วรรณคดี และวงการบันเทิง 14 กรกฎาคม 2561 รอบเวลา 14:00 และ 19:00 ราคาบัตร 500 / 800 / 1000 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook