เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา
สำหรับน้องๆ ม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวจะเข้ามหาวิทยาลัย ทุกๆ คนก็คงง่วนอยู่กับการทำ Portfolio เพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยกันทั้งนั้น Portfolio ก็คือ แฟ้มสะสมงาน ซึ่งถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ดังนั้นการทำ Portfolio ให้น่าสนใจ โดดเด่น จนกรรมการมีคำถาม หรืออยากจะคุยกับเรา ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เลยนะคะ
ใน Portfolio ต้องมีอะไรบ้าง?
พื้นฐานของ Portfolio โดยทั่วไปแล้วควรประกอบไปด้วย หน้าปก Portfolio, ประวัติส่วนตัว, ประวัติการศึกษา, กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม, รางวัลที่เคยได้รับและผลงานต่างๆ, ภาคผนวก
1. หน้าปก Portfolio
การทำหน้าปก Portfolio นั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายไปเลยซะทีเดียว เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ปกแฟ้มสะสมงานของเราดูน่าสนใจจนกรรมการผู้สัมภาษณ์หยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าทำแบบนี้ได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้วละค่ะ
- เทคนิค : เราควรบอกข้อมูลพื้นฐานของเราในหน้าปกด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล และโรงเรียน เป็นต้น ควรบอกข้อมูลในชัดเจน เลือกฟอนต์ตัวหนังสือให้อ่านง่าย เห็นชัด รูปภาพตัวเราบนหน้าปกควรเป็นรูปที่ดูแล้วรู้ทันทีว่าคือเรา อาจใส่ชุดไปรเวทได้ แต่ยังต้องอยู่ในความสุภาพเรียบร้อยอยู่ ควรหลีกเลี่ยงภาพที่ใส่กางเกงยีนส์ขาดๆ หรือเสื้อสายเดี่ยวต่างๆ
2. ประวัติส่วนตัว
บอกประวัติส่วนตัวของตนเองให้ละเอียด อย่างเช่น ชื่อ-นามสกุล, ชื่อเล่น, อายุ, วันเกิด, กรุ๊ปเลือด, นิสัย, ความชอบ หรืองานอดิเรก, สิ่งที่สนใจ หรือแม้กระทั่งว่าเรามองอนาคตอย่างไรก็สามารถใส่เข้าไปในส่วนนี้ได้
- เทคนิค : การเลือกฟอนต์เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกฟอนต์ที่อ่านง่าย สะอาดสะอ้าน และมองเห็นได้ชัด และในส่วนนี้น้องๆ อาจโชว์ความสามารถสักหน่อยโดยการทำประวัติส่วนตัวเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
3. ประวัติการศึกษา
บอกประวัติการศึกษาของตนเองโดยเรียงจากระดับจากน้อยที่สุดมาจนปัจจุบัน หากมั่นใจในเกรดเฉลี่ยของตนเองก็สามารถใส่เข้าไปในส่วนนี้ได้เลย หากต้องการใส่ทรานสคริปแนะนำว่าให้ใส่ในส่วนของภาคผนวกแทน ชื่อโรงเรียนที่เขียนควรเป็นชื่อโรงเรียนแบบเต็มยศนะคะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ตัวย่อในการทำ Portfolio นะคะ
- เทคนิค : อาจเลือกอธิบายประวัติการศึกษาโดยแบ่งเป็น ระดับประถม ระดับมัธยมตอนต้น ระดับมัธยมตอนปลาย หรือระดับอาชีวศึกษา เป็นต้น และใช้เทคนิคการอธิบายแบบตาราง เพื่อให้ดูเข้าใจง่าย
4. กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม
ส่วนนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักของ Portfolio เลยก็ว่าได้ ดั้งนั้นควรเลือกกิจกรรมเด่นๆ ของเรามาใส่ในส่วนนี้ดีๆ นะคะ กิจกรรมในที่นี้หมายถึงกิจกรรมที่ไม่ใช่ด้านวิชาการต่างๆ โดยอาจจะเลือกการจัดเรียงแบบระดับชั้นก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น เมื่อต้นระดับชั้นมัธยมต้นเคยทำกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นต้น
- เทคนิค : เลือกใส่ผลงานที่เด่นๆ และมีความเกี่ยวข้องกับคณะที่เราอยากจะเข้า ในแต่ละกิจกรรมอาจเลือกเพียง 3-4 รูปในและเขียนอธิบายใต้ภาพสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายว่าเราทำอะไรในกิจกรรมนั้นๆ
5. รางวัลที่เคยได้รับและผลงานต่างๆ
ส่วนนี้ก็ถือเป็นหัวใจของ Portfolio เช่นกัน ดังนั้น เราควรเลือกแค่ผลงาน หรือรางวัลเด่นๆ ที่สามารถบอกว่าตัวเราเองนั้นมีความสามารถอะไรบ้างโดยการใส่ภาพผลงานนั้นๆ ลงไป ส่วนพวกเกียรติบัตรและรางวัลต่างๆ สามารถอ้างอิงและนำไปใส่ในภาคผนวกได้ค่ะ
- เทคนิค : ควรเขียนอธิบายความภูมิใจในผลงานต่างๆ ที่เคยได้ทำ ว่าเราภูมิใจอะไรในงานนั้น ลำบากแค่ไหนกว่าจะทำสำเร็จ เป็นต้น
6. ภาคผนวก
ส่วนนี้คือส่วนที่ร่วมรวบเอกสารและภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เราต้องการที่จะใส่เพิ่มเติม โดยเอกสารหลักๆ ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สำเนาใบทรานสคริป นั่นเอง ในส่วนของเกียรติบัตรต่างๆ แนะนำว่าให้ถ่ายเป็นสำเนาและเรียงตาม พ.ศ. ที่ได้รับ
- เทคนิค :ในการใส่เกียรติบัตรหรือภาพต่างๆ ควรมีการระบุเลขหน้าไว้ด้วย เนื่องจากเวลาสัมภาษณ์เราจะได้พูดอ้างอิงได้ง่ายๆ ว่ามาจากเกียรติบัตรหรือกิจกรรมใด
ทั้งหมดนี้ก็คือส่วนประกอบพื้นฐานและเทคนิคต่างๆ ที่ Sanook! Campus หวังว่าจะมีส่วนช่วยน้องๆ ในการเป็นแนวทางทำ Portfolio อย่างไรก็ตาม การใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงเป็นใน Portfolio นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ใครชอบแบบเรียบๆ ก็ทำรูปแบบให้ออกมาเรียบๆ สะอาดๆ แต่ก็ดูน่าสนใจได้ ไม่จำเป็นต้องมีสีสันจัดจ้านเสมอไปถึงจะสามารถดึงดูดให้กรรมการผู้สัมภาษณ์มาสนใจได้