"สิ่งประดิษฐ์สำหรับกู้ภัย" เหมาะสำหรับช่วยเหลือในพื้นที่เข้าถึงยาก
สิ่งประดิษฐ์สำหรับกู้ภัย ทั้งเก่าและใหม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานกู้ภัย ช่วยเหลือชีวิตในยามคับขัน
หลังเกิดภัยพิบัติ สิ่งที่ตามมา คือ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งมนุษย์ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเพียงลำพัง ยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน และวันนี้ เราก็จะขอพาไปทำความรู้จักบรรดา สิ่งประดิษฐ์สำหรับกู้ภัย ทั้งเก่าและใหม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานกู้ภัยค่ะ
โดรน แบบติดกล้องตรวจจับความร้อน
โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อบันทึกภาพหรือคลิปวิดีโอในมุมสูง โดยปัจจุบันโดรนถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอีกอย่างของบรรดาตากล้อง (สมัครเล่นและมืออาชีพ) และนักข่าวที่ต้องการเก็บภาพบรรยากาศในมุมสูง
และโดรนไม่ได้มีประโยชน์เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานได้ทั้งทางทหารและการกู้ภัย ซึ่งในการกู้ภัยหากต้องการสำรวจหรือหาจุดที่มีผู้ประสบภัยติดอยู่นั้น ทีมกู้ภัยอาจติดอุปกรณ์อย่าง “กล้องตรวจจับความร้อน” เพิ่ม เพื่อตรวจจับคลื่นความร้อนจากร่างกายมนุษย์ ซึ่งทำให้ง่ายแก่การระบุตำแหน่งค้นหา และช่วยเหลือ
เครื่องไฟน์เดอร์ (Finder)
เป็นอุปกรณ์กู้ภัยฉุกเฉินที่ใช้เพื่อระบุตำแหน่งของคนที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ด้วยการใช้สัญญาณเรดาร์ในการตรวจจับ “การเต้นของหัวใจมนุษย์”
สำหรับเจ้าเครื่องไฟน์เดอร์นั้น ได้ถูกพัฒนาโดยห้องแล็บเจพีแอล ขององค์การนาซ่า ร่วมกับ Department of Homeland Security ของสหรัฐอเมริกา ก่อนส่งมอบสิทธิ์ให้บริษัทเอกชนนำไปใช้ในการกู้ภัย
หุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล (ROV)
เป็นผลงานการประดิษฐ์ของทีมงานศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอากาศและทะเล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เจ้าของดีกรีแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก 8 ครั้ง
โดย “หุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล” ของ มจพ. นั้น ถูกพัฒนาขึ้นจากการนำโทรศัพท์มือถือมาใส่เคสกันน้ำ ก่อนเพิ่มใบพัดขับเคลื่อน ครีบบังคับทิศทาง รวมถึงระบบซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการรับคำสั่งระยะไกล เพื่อให้ผู้บังคับสามารถเห็นทิวทัศน์ใต้น้ำผ่านกล้องที่ถูกติดตั้งไว้
ยานดำน้ำขนาดเล็ก หรือแคปซูลดำน้ำ
หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ อีลอน มัสก์ CEO บริษัทสเปซเอ็กซ์ สร้างขึ้น เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในถ้ำที่สลับซับซ้อนได้และไม่มีประสบการณ์ดำน้ำ
สำหรับเจ้าแคปซูลดำน้ำขนาดเล็กที่ว่า ถูกสร้างขึ้นจากโครงท่อส่งออกซิเจนเหลวของจรวด “ฟัลคอน” ของสเปซเอ็กซ์ ซึ่งมีน้ำหนักเบามากพอที่จะให้นักประดาน้ำ 2 คน ช่วยกันลากได้ โดยมีที่จับตรงบริเวณด้านหน้า 4 จุด ด้านหลัง 4 จุด พร้อมติดถังออกซิเจนด้านหน้าและด้านหลังจุดละ 2 ถัง
โทรศัพท์ดาวเทียม
สำหรับพื้นที่อับสัญญาณโทรศัพท์ การติดตั้งโทรศัพท์ดาวเทียมอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการติดต่อสื่อสารด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ดาวเทียมในปัจจุบัน มีทั้ง ทีโอที และบริษัทเอกชน ในแต่ละแห่งก็มีการกำหนดเงื่อนไขและราคาใช้บริการแตกต่างกันไป
อุปกรณ์สำรวจ Leica Scanner P20
เป็นเครื่องสำรวจแบบคลื่นอินฟราเรด ที่ถูกเรียกว่า เครื่องสแกน 3 มิติ หรือตาเทพ โดยอุปกรณ์ที่ว่า สามารถสแกนทะลุกำแพงรวมทั้งสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ได้ ทั้งยังสามารถตรวจจับความร้อน และมองเห็นในที่มืดได้อีกด้วย
โดยภาพที่ได้จากการสแกน Leica Scanner P20 จะถูกนำมาสร้างเป็นโมเดลภาพ 3 มิติ ซึ่งช่วยให้เห็นสภาพโดยรวมของสถานที่ซึ่งถูกสแกนอย่างชัดเจน ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อหาเส้นทางหรือจุดที่ใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
วิทยุถ้ำ (Cave radio)
เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ค่อนข้างเก่า เหมาะสำหรับใช้พื้นที่ประสบภัยที่มีลักษณะแคบ และไม่มีสัญญาณอย่างภายในถ้ำ เนื่องจากเป็นวิทยุที่ใช้ความถี่ต่ำ กินไฟน้อย แต่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารที่รวดเร็วกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารที่ใช้งานตามปกติ
รถโมบายขยายสัญญาณโทรศัพท์
ในพื้นที่ประสบภัยนั้น ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาเรื่องความยากในการเข้าพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นจุดอับสัญญาณ ดังนั้น หากต้องการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก เพื่อขอความประสานงาน หรือขอความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ
โดยเจ้า “รถโมบายขยายสัญญาณโทรศัพท์” ถือเป็นตัวเลือกที่ถูกนำมาใช้บ่อยที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้งานคลื่นโทรศัพท์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น