"โรงเรียนของลูก อีลอน มัสก์" ไอรอนแมนในชีวิตจริง เป็นอย่างไร?
อีลอน มัสก์ ชายผู้มีความสามารถอัจฉริยะรอบด้านคนนี้เคยไม่ชอบการไปโรงเรียนมาก่อน เขาเลยสร้างโรงเรียนให้ความรู้ในแบบของตัวเองขึ้นมาเอง
“ผมเกลียดการไปโรงเรียนมากตอนผมเป็นเด็ก มันเปรียบเสมือนกับการตายทั้งเป็น” ประโยคนี้ถูกพูดโดย อีลอน มัสก์ ซึ่งมีความเห็นว่า รูปแบบการสอนในโรงเรียนยุคปัจจุบัน ยังไม่ดีพอ พอเรื่องเป็นแบบนี้ เขาจึงสร้าง “โรงเรียน” ขึ้นมาเพื่อลูกๆ ของเขาทั้ง 5 คน
โรงเรียนของ อีลอน มัสก์ ที่ทุกคนบอกว่าเขาเป็น Iron Man เป็นอย่างไร ในคร้้งนี้ Sanook! Campus เราได้ไปนำข้อมูลจากทาง ลงทุนแมน มาให้เพื่อนๆ ได้ศึกษากัน
4 ปีที่แล้ว ห้องประชุมห้องหนึ่งในบริษัทผลิตกระสวยอวกาศ SpaceX ได้ถูกสร้างเป็นห้องเรียน ห้องเรียนนี้ชื่อว่า Ad Astra มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน แปลว่า ไปสู่ดวงดาว ห้องเรียนแห่งนี้เริ่มต้นด้วยเด็กนักเรียนเพียง 8 คนจนปัจจุบันมีประมาณ 31 คน โดยนักเรียนมีอายุตั้งแต่ 7 ถึง 14 ปี
อีลอน มัสก์ วางรากฐานการศึกษาใน Ad Astra อย่างไร?
Ad Astra ไม่มีชั้นประถม ไม่มีชั้นมัธยม ทุกคนเรียนด้วยกัน ทำงานด้วยกันเป็นทีม รวมถึงการใช้สกุลเงินที่สร้างขึ้นมาเอง เพื่อให้เด็กๆ ศึกษากลไกของระบบเงินตราตั้งแต่ยังเล็ก
Musk ให้ความเห็นว่า เด็กแต่ละคน มีความชอบ ความฝันที่แตกต่างกัน บางคนชอบตัวเลข บางคนชอบดนตรี บางคนชอบกีฬา หน้าที่ของคุณครูและโรงเรียนที่ดีควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ และส่งเสริมในสิ่งที่เด็กๆ ชื่นชอบ บรรยากาศภายในห้องเรียนจะเป็นการบ่มเพาะการทำธุรกิจ และศึกษาการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก
ในระบบการศึกษาปัจจุบัน ถ้าคุณครูจะสอนเรื่องเครื่องยนต์ ทำงานอย่างไร? ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการเปิดหนังสือไปหน้าที่ 1 เริ่มต้นที่อุปกรณ์หลัก เช่น ไขควง ไขควง คืออะไร? เครื่องยนต์ คืออะไร?
ท่องจำให้ขึ้นใจ และนำไปสอบมิดเทอม ถ้าเป็นโจทย์ตัวเลือก ก. ข. ค. ง. รางวัลของนักเรียนที่จำได้คือ 1 คะแนน ส่วนใครที่จำไม่ได้จะเป็น 0 คะแนน หรือ 1 คะแนนถ้ามั่วถูก ถ้าเป็นโจทย์ข้อเขียน นักเรียนสามารถใช้จินตนาการและความเชื่อมโยง ในการตอบคำถามผ่านตัวอักษรได้ดีมากกว่าโจทย์ตัวเลือก
แต่ตัวอักษรในกระดาษคำตอบสำหรับโจทย์เรื่องการใช้ไขควงกับเครื่องยนต์คืออะไร มันเหมาะสมแล้วจริงหรือ? แม้คุณครูจะให้คะแนนเต็ม แต่นักเรียนอาจใช้ไขควงไม่เป็นในชีวิตจริงก็ได้
ในมุมมองของ อีลอน มัสก์ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิตวัยเรียน เพราะเราไม่เคยรู้จักสิ่งที่เราเรียนจริงๆ สักครั้ง ที่ Ad Astra ซึ่ง อีลอน มัสก์ จะนำเด็กทั้งหมดมานั่งในห้องเรียน ที่มีรถยนต์ 1 คันและเครื่องมือเต็มพื้น
การสอนจะเริ่มต้นจาก นี่คือเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ในรถยนต์สามารถทำอะไรได้บ้าง นี่คือไขควง ไขควงมีความสำคัญกับเครื่องยนต์อย่างไร ส่วนไหนของเครื่องยนต์บ้างที่นำไขควงไปใช้ได้ และมันมีประโยชน์อย่างไร
แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาคือ การเรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์เหมือนกัน แต่นักเรียนจากสองห้องเรียนนี้น่าจะมีมุมมองเรื่องเครื่องยนต์ที่ต่างกันมาก และ Ad Astra ยังเน้นการเรียนการสอนไปที่โลกปัจจุบัน โดยนำปัญหาที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตมาเป็นหลักสูตรในห้องเรียน
istockphoto
ปัญหาที่ อีลอน มัสก์ คาดการณ์ไว้มีอะไรบ้าง?
- การเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่เขากลัวมากที่สุด เป็นหนึ่งในหลักสูตรของเด็กๆ ในโมดูลชื่อ Geneva ซึ่ง Geneva จะเน้นการสอนไปในเชิงปัญหาจริยธรรมที่เกิดขึ้นในโลกเทคโนโลยี ซึ่งในอนาคตเด็กเหล่านี้คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่กับ AI ไปตลอดชีวิต
- อีกหลักสูตรที่น่าสนใจคือ A-Frame เป็นวิชาการประดิษฐ์อะไรก็ได้ที่อยากทำตั้งแต่ การออกแบบบอลลูนตรวจสภาพอากาศ ไปจนถึงหุ่นยนต์ ซึ่งเรื่องนี้จึงทำให้ในโรงเรียน Ad Astra จะเกิดการแข่งขันหุ่นยนต์ต่อสู้
คำถามที่เกิดขึ้นจากเด็กในโรงเรียน Ad Astra ไม่ได้ถามว่า “เราจะไปเอาข้อมูลการสร้างของพวกนี้มาจากไหน”
แต่เด็กๆ ถามว่า “เราจะใส่ปืนไฟ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอาวุธลงไปในหุ่นยนต์ ได้หรือไม่?”
ปิดท้ายด้วยบทสนทนาระหว่างพ่อและลูกที่น่าสนใจ
ลูกๆ ของ อีลอน มัสก์ ถามพ่อว่า “พ่อครับ ทำไมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นานจัง ผมอยากไปโรงเรียน”
ก็น่าติดตามไม่น้อยว่าโรงเรียนแห่งนี้ จะผลิตนักเรียนแบบไหนออกสู่สังคม
ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่น่าคิดว่า แล้วชีวิตในวัยเด็กของเรา ลูกหลานของเรา วันที่เราต้องไปโรงเรียน สนุกกว่า วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มากแค่ไหน?