ส่อง “กฎจราจร” ที่รู้ว่าผิด แต่คนไทยชอบแหก
อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนมีสาเหตุมาจากบรรดาผู้ขับขี่ที่ชอบฝ่าฝืน กฎจราจร ทั้งสิ้น และวันนี้เราจะพาไปดู กฎจราจร ที่ผู้ที่ขับขี่ชอบแหกจนนำไปสู่อุบัติเหตุกัน
ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด
ตามกฎหมายจราจรได้มีการกำหนดความเร็วไว้ระหว่าง 80-120 กม./ชม. เท่านั้น โดยหากเป็นพื้นที่ในเมืองและนอกเมือง จะกำหนดความเร็วไว้ไม่เกิน 80-90 กม./ชม. ยกเว้นเส้นมอเตอร์เวย์ ที่สามารถขับได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. แต่ส่วนใหญ่มักจะขับกันเกินที่กฎหมายกำหนดไว้แทบทั้งสิ้น ถึงจะรู้ดีว่าในบางจุดมีกล้องตรวจจับความเร็วติดตั้งไว้ หรืออาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรออยู่ก็ตาม
ขับแช่เลนขวา
เรื่องการขับรถแช่ในเลนขวาผิดหรือไม่ ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้น โดยฝ่ายผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วต่ำในเลนขวา มองว่าการขับขี่ในลักษณะนี้ไม่ผิดกฎจราจร อีกทั้งยังเป็นการใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า “เลนขวา” มีไว้สำหรับแซงเท่านั้น ประเด็นนี้จึงกลายเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดในโลกออนไลน์
และตามกฎหมายจราจร ได้กำหนดให้ “เลนขวา” มีไว้สำหรับแซงเท่านั้น โดยระบุไว้ใน มาตรา 34 ว่า ถนนที่มีการแบ่งเส้นจราจรมากกว่า 2 เลนขึ้นไป ผู้ขับขี่ต้องขับชิดขอบทางด้านซ้าย หากไม่ปฏิบัติตามอาจโดนโทษปรับ
ไฟเหลือง ต้องเหยียบ
ตามกฎหมายจราจร สัญญาณไฟจราจรตามสามแยกหรือสี่แยกนั้น มี 3 สี ดังนี้
- สัญญาณไฟจราจรสีเหลือง ให้ผู้ขับขี่เตรียมหยุดรถ หลังเส้นให้หยุดรถ
- สัญญาณไฟจราจรสีแดง ให้ผู้ขับขี่หยุดรถ หลังเส้นหยุดรถ
- สัญญาณไฟจราจรสีเขียว ให้ผู้ขับขี่ ขับรถไปต่อไป
และเชื่อหรือไม่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาผู้ขับขี่เห็นสัญญาณไฟจราจรสีเหลือง ไม่ใช่การชะลอรถเพื่อเตรียมหยุด แต่เป็นการ “รีบเหยียบคันเร่ง” ให้พ้นแยกดังกล่าว ก่อนจะต้องติดไฟแดง หากคุณเป็น 1 ในผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ รีบปรับความคิดและพฤติกรรมใหม่เถอะ เพราะวันนี้ คุณอาจโชคดีที่เหยียบคันเร่งหนีไฟแดงพ้น แต่หากวันหน้าคุณไม่โชคดีแบบนี้ แล้วจะเป็นเช่นไร ?
istockphoto
“จอด” ทุกจุดที่จอดได้
ถือเป็นอีกปัญหาที่มีให้เห็นแทบทุกวัน และพบได้ทุกที่ทั้งในเขตกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ไม่ว่าจะมีป้ายเตือน อยู่ในจุดที่ฟุตบาทเป็นแถบสีแดงสลับขาว (ห้ามหยุดรถ หรือจอดรถทุกชนิด) หรือเป็นเลนจักรยาน ก็เห็นจอดรถเพื่อรอรับคน จอดซื้อของ จอดเพื่อนำสัมภาระหรือส่งของลงจากรถ กันแบบไม่เกรงใจเพื่อนร่วมทางหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเลยทีเดียว
เปิดเลนพิเศษ
ช่วงเทศกาลหรือช่วงรถติดหนัก ๆ ขอเพียงมีเลนว่าง (เลนซ้าย/ไหล่ทาง) ผู้ขับขี่ทั้งหลายก็พร้อมจะเปิดเลนพิเศษขึ้นทันที เพื่อให้รถของเราได้เคลื่อนตัวไปข้างหน้าไวขึ้น แต่ขอบอกเลยว่า สิ่งที่คุณทำอยู่มันผิด เพราะนอกจากแย่งที่รถจักรยานยนต์แล้ว อาจเป็นสาเหตุให้รถคันอื่นต้องเกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญหากไปเจอสิ่งกีดขวางข้างหน้า ก็ต้องไปหาทางเบียดหรือแทรกเข้าเลนขวาอีก
จอมปาด จอมเบียด จอมแทรก
นอกจากเรื่องการเปิดเลนพิเศษแล้ว สถานการณ์อีกอย่างที่พบบ่อย ๆ ในพื้นที่ที่การจราจรคับคั่ง คือ จอมปาด จอมเบียด จอมแทรก ซึ่งกลุ่ม 3 จอมที่ว่า จะพบได้ตามจุดกลับรถ บริเวณทางขึ้นสะพานข้ามแยก อุโมงค์ลอดทางแยก หรือบริเวณสี่แยก
เส้นปะ เส้นทึบ เส้นแบบไหน “ห้ามแซง” ?
เมื่อมีจังหวะให้แซง แล้วไม่แซงก็คงไม่ได้ อย่าได้แคร์ว่า ถนนจะเป็นเส้นปะ เส้นทึบ หรือวิ่งข้ามเขา หากคุณมีความคิดแบบนี้ ระวังจะเกิดอุบัติเหตุไม่รู้ตัว (แถมพาคนอื่นลำบากไปด้วย) เพราะตามกฎหมายจราจรแล้ว ได้มีการกำหนดเรื่องเส้นแบ่งช่องจราจร ไว้ว่า
- เส้นทึบสีขาวหรือสีเหลือง จะเป็นเส้นเดียวหรือคู่ก็ตาม หมายความว่า ”ห้ามแซง”
- เส้นประสีขาวหรือสีเหลือง หมายความว่า “ให้แซงได้” ถ้าข้างหน้า ปลอดภัย
- เส้นทึบคู่กับเส้นประ หมายความว่า “รถที่ขับทางซ้ายของเส้นทึบ ห้ามแซง" แต่รถที่ขับทางซ้ายของเส้นประ สามารถแซงได้
พอเห็นแบบนี้ ต้องจำกันให้แม่นนะว่า “เส้นปะแซงได้ เส้นทึบห้ามแซงนะ” รู้แล้วก็นำไปปฏิบัติกันด้วย จะได้ไม่เป็นภาระเพื่อนร่วมทาง
istockphoto
จอมย้อน (ศร)
เป็นอีกหนึ่งจอมที่ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ เป็นรถจักรยานยนต์ที่มักวิ่งย้อนศร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน แต่หากลองขยับไปตามชานเมืองหรือต่างจังหวัด จะพบว่า รถยนต์ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของแก๊งจอมย้อน (ศร) เช่นกัน
และอยากจะขอร้องบรรดาจอมย้อน (ศร) ให้เลิกพฤติกรรมเอาความสบายส่วนตัวเป็นหลัก เพราะสิ่งที่คุณทำอยู่เป็นการสร้างความเคยชินที่ผิดต่อกฎจราจร ทั้งอาจเป็นการสร้างหายนะให้กับเพื่อนร่วมทางด้วย
โค้งซ้ายปุ๊บ เลี้ยวปั๊บ
คำว่า “เลี้ยวซ้าย = ผ่านตลอด” ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกแยกนะคะ คุณจะสามารถเลี้ยวซ้าย ผ่านตลอดได้ เฉพาะจุดที่มีป้ายจราจรบอกให้ “เลี้ยวซ้าย ผ่านตลอด” เท่านั้น หากไม่มีป้าย ต้องรอสัญญาณไฟเขียวก่อน ถึงจะเลี้ยวซ้ายได้
จอมล้ำ
จอมล้ำที่พบส่วนใหญ่มีทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ โดยสถานที่ที่จอมล้ำชอบออกปฏิบัติการ มักเป็นบริเวณสามแยกหรือสี่แยกไฟแดง ซึ่งมีทางม้าลายและกรอบตารางสีเหลืองอยู่ โดยเจ้าสัญลักษณ์ทั้ง 2 บนถนนเป็นจุดที่ห้ามนำรถเข้าไปจอดเด็ดขาด
เปิดไฟตัดหมอกผิดที่ ผิดเวลา
ก็เข้าใจว่า รถคุณมีไฟตัดหมอกอยู่ แต่ควรใช้งานให้ถูกสถานการณ์ด้วย ไม่ใช่เห็นว่าฟ้าเริ่มมืดก็เปิดไฟตัดหมอก แสงไฟอันอาจแยงตารถที่สวนทางมาได้ จนอาจไปจบลงที่อุบัติเหตุได้ ที่สำคัญกฎหมายอนุญาตให้เปิด “ไฟตัดหมอก” ได้ ในกรณีที่มีหมอกหนา หรือทัศนวิสัยไม่ดีเท่านั้นนะ
“ทางม้าลาย” ไม่ได้มีไว้ให้คนข้าม
หลาย ๆ คนอาจหลงลืมไปว่า นอกจากสะพานลอยแล้ว “ทางม้าลาย” ก็เป็นอีกจุดที่เราสามารถเดินข้ามถนนไปอย่างปลอดภัย เพราะตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า “รถต้องหยุดให้คนข้ามถนน ในทางม้าลาย” แต่ในทางปฏิบัติแทบไม่มีรถคันใดเลยที่จะหยุดให้คนข้ามในทางม้าลาย แม้ว่าตรงทางม้าลายบางแห่งจะมีปุ่มให้กดสัญญาณไฟ เพื่อขอทางไว้ก็ตาม
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมไปทบทวนพฤติกรรมในฐานะผู้ขับขี่ของตนเอง ว่ามีเข้าข่ายกับที่กล่าวมาในข้างต้นหรือไม่ หากมีก็ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองซะใหม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและเพื่อนร่วมทาง