นักวิจัย ม.ฮาร์วาร์ด ชี้ "อากาศร้อน" อาจลดความเฉียบแหลมทางความคิด
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเสทส์ ของสหรัฐฯ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษา 24 คน ซึ่งได้ห้องในหอพักที่มีเครื่องปรับอากาศ และอีก 20 คนนอนในห้องที่ไม่มีแอร์ ในช่วงที่เขตนครบอสตันถูกปกคลุมด้วยคลื่นความร้อน
ในการทดลองนี้มีการบันทึกปัจจัยอื่นๆ นอกจากอุณหภูมิด้วย เช่น ความชื้น ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ และเสียงในห้องนอนของนักศึกษา
ห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศอุณหภูมิจะอยู่ที่ระดับ 26.3 องศาเซลเซียส ส่วนห้องที่มีแอร์ จะเย็นอยู่ในระดับ 21.4 องศา
นักศึกษาที่ร่วมการวิจัยจะถูกวัดการเต้นของหัวใจ การขับเหงื่อและคุณภาพของการนอน และทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมานักศึกษาจะต้องทำแบบทดสอบความความจำและความเร็วในการสั่งงานของสมอง เป็นเวลา 12 วัน
ผู้เขียนบทความจากงานวิจัยนี้ โฮเซ ลอเรนท์ (Jose Guillermo Cedeno Laurent) แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า นักศึกษาที่นอนในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบที่บั่นทอนการใช้สมองโดยเฉพาะในเรื่องการสั่งการที่รวดเร็ว
เดซีย์ ชาง (Daisy Chang) ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Michigan State University กล่าวเสริมว่า การนอนในที่ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศทำให้เกิดปัจจัยอื่น นอกจากความร้อนที่กระทบความสามารถของสมอง
เธอบอกว่า ในห้องที่ไม่ได้ติดแอร์ นักศึกษาได้รับผลกระทบจากเสียงจากภายนอก เพราะต้องเปิดหน้าต่างนอน ซึ่งนั่นอาจทำให้หลับไม่สนิทและลดความสามารถในการใช้ความคิดเมื่อตื่นขึ้นมา
ในสหรัฐฯ ความร้อนระดับรุนแรงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในบรรดาภัยด้านสภาพอากาศ โดยในช่วงปี ค.ศ. 1999 ถึง 2010 มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนรุนแรง 7 พันคนในอเมริกา และเมื่อ 2 ปีก่อนสหรัฐฯ เพิ่งประสบกับปัญหาสภาพอากาศร้อนที่สุดในรอบ 200 ปี