เมื่อ “รถไฟฟ้ามาช้านะเธอ” มีบริการขนส่งสาธารณะใด ให้เลือกใช้บ้าง ?
คำขวัญที่ว่า “กรุงเทพฯ ชีวิต ๆ ดีที่ลงตัว” อาจไม่มีอยู่จริง หลังระบบขนส่งสาธารณะสุดฮอตอย่าง “รถไฟฟ้า BTS” เกิดขัดข้องอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ทำเอาชาวกรุงเกิดอาการหัวร้อนไปตาม ๆ กัน เมื่อต้องนั่งลุ้นทุกวันว่า วันนี้ รถไฟฟ้า BTS จะขัดข้องอีกหรือไม่
เราจะขอพาไปดูกันว่า นอกจากรถไฟฟ้า BTS และรถยนต์ส่วนตัวแล้ว ยังมีทางเลือกในการเดินทางอะไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนเตรียมแผนสำรองไว้ในวันที่ “รถไฟฟ้ามาช้านะเธอ” ได้ถูก
รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์)
รถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการ 2 รายใหญ่ คือ ขสมก. และเอกชน ซึ่งการให้บริการของทั้ง 2 เจ้า ถือว่า ครอบคลุมเส้นทางคมนาคมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในระดับหนึ่ง แม้ในบางเส้นทางมีรถเมล์วิ่งให้บริการเพียง 1-2 สาย จนทำให้ผู้ใช้บริการต้องแย่งชิงพื้นที่และเผื่อเวลาเดินทาง ดังนั้น หากคุณจำเป็นต้องขึ้นรถเมล์ไปเรียน ไปทำงาน ก็ขอให้เผื่อเวลาการเดินทางดี ๆ ไม่งั้นคุณอาจไปสาย เพราะรถติด หรือเจอเซอร์ไพรส์สรถเมล์ไทยไปไม่ถึงจุดหมาย (เป็นรถเสริมหรือเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางแบบกะทันหัน)
รถแท็กซี่
หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ก้าวละ 35 บาท” เป็นอีก 1 ตัวเลือกที่มีปัญหาร้องเรียนจากผู้โดยสารแบบถล่มทลายในทุก ๆ เดือน โดยคำร้องเรียนยอดฮิต คือ ไม่รับผู้โดยสาร เรียกว่า เป็นตัวอย่างผู้ให้บริการที่สามารถเลือกผู้ใช้บริการได้อย่างแท้ทรู !!!!
แต่เมื่อถึงคราวจำเป็น แม้จะโดนเหล่าพี่คนขับแท็กซี่ปฏิเสธถึง 2-3 คันติด ผู้โดยสารอย่างเราก็ทำได้เพียงยิ้มแห้ง ๆ และเรียกรถคันต่อไป ถึงเรียกรถได้แล้ว ก่อนปิดประตูรถอย่าลืมถามย้ำกับพี่คนขับนะว่า พี่เขารู้ทางจริงไหม ถ้าฟังคำตอบแล้วไม่มั่นใจ ก็ปล่อยพี่เขาไปเถอะ อย่าชวนกันไปหลงเด็ดขาด เพราะนอกจากเสียเวลาแล้ว คุณยังต้องเสียเงินเกินความจำเป็นอีก
รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์)
เป็นบริการที่รวดเร็ว ฉับไว ที่สำคัญต่อให้รถติดเป็นแถวยาวแค่ไหนก็ไม่ต้องกังวล เพราะพี่วินสามารถพาคุณแทรกจากท้ายแถวไปอยู่ด้านหน้าสุดได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ในช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า BTS ทำตัวไม่เป็นมิตร การเลือกใช้บริการพี่วินอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่ก่อนกระโดดซ้อนท้ายพี่วิน อย่าลืมถามค่าโดยสารก่อนนะคะ ไม่งั้นพอไปถึงจุดหมายคุณอาจต้องน้ำตาตกใน เพราะเจอค่าโดยสารมหาโหด
รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT
เป็นบริการที่มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS ในหลายจุด อาทิ รถไฟฟ้า BTS หมอชิต กับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT จตุจักร หรือรถไฟฟ้า BTS อโศก กับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สุขุมวิท ดังนั้น ในวันที่คุณไม่อาจพึ่งพารถไฟฟ้า BTS ก็ลองเปลี่ยนบรรยากาศจากบนฟ้ามามุดลงดินแทน และที่ผ่านมา รถไฟฟ้าใต้ดินที่มีปัญหาอยู่บ่อย ๆ คือ สายสีม่วง แต่เมื่อเทียบสถิติแล้วน้อยกว่ารถไฟฟ้า BTS เยอะ ดังนั้น สบายใจได้ว่า การเดินทางไปทำงานของคุณจะราบรื่นในระดับหนึ่งแน่นอน
เรือโดยสารคลองแสนแสบ/เรือด่วนเจ้าพระยา
กรุงเทพฯ ในอดีตเต็มไปด้วยคูคลอง ทำให้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางสัญจรหลักของคนไทย กระทั่งมีการพัฒนาการเดินทางบนบก วิถีชีวิตแบบเดิมก็มีการเปลี่ยนแปลง จากนั่งเรือ มาเป็นนั่งรถ แต่ถึงปัจจุบันการคมนาคมทางบกจะพัฒนาเพียงใด การคมนาคมทางน้ำก็ยังมีอยู่ให้เห็น คือ ทางแม่น้ำเจ้าพระยา กับทางคลองแสนแสบ อาจเพราะด้วยความรวดเร็ว สะดวกสบาย และบางครั้งเป็นการเลี่ยงเส้นทางรถติด จึงทำให้การเดินทางด้วยเรือโดยสารยังเป็นที่นิยมของประชาชนอยู่
บริการ Grab
ถือเป็นบริการใหม่ที่ขยับเข้ามารุกตลาดการให้บริการรถสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ด้วยการให้บริการที่ไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหนก็สามารถเรียก Grab ได้ แถมมีส่วนลดในการใช้บริการ ส่งผลให้บางครั้งค่าโดยสารของ Grab ถูกกว่าการเลือกใช้บริการรถแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ เรียกว่า บริการ Grab เป็นบริการที่ลูกค้าอย่างเราได้ประโยชน์ แต่พี่แท็กกับพี่วินเสียประโยชน์
รถไฟ
เป็นอีกหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนที่อยู่คู่กับประเทศมานานถึง 127 ปี แม้ทุกวันนี้ รถไฟไทยยังคงสโลแกน “ถึงก็ชั่ง ไม่ถึงก็ชั่ง” อยู่ แต่ด้วยตารางเวลา และความเร็วในการเดินทางที่ถือว่าดีกว่าเมื่อก่อน (ไม่เลทมาก) ฉะนั้น รถไฟก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ที่เหมาะให้มนุษย์เงินเดือนซึ่งอยู่แถบชานเมืองเลือกใช้บริการ เพื่อเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือจะกระโดดขึ้นรถไฟ เพื่อไปทำงานบริเวณแถบชานเมืองที่รางรถไฟตัดผ่าน จะได้ไม่ต้องทนอึดอัดบนรถเมล์อย่างเดียว
รถตู้โดยสาร
หากเป็นเมื่อก่อนคุณอาจชินตากับภาพคนยืนต่อแถวเป็นงูกินหาง เพื่อรอขึ้นรถตู้ไปทำงานหรือกลับที่พักตรงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ปัจจุบันได้มีการจัดระเบียบโยกย้ายคิวรถตู้ไปยังสถานีขนส่งต่าง ๆ อาทิ หมอชิต, เอกมัย, สายใต้ใหม่
แม้จะมีการโยกย้ายไปยังจุดที่ไม่ใช่ศูนย์กลางแบบในอดีต แต่ก็ยังมีผู้โดยสารจำนวนมากที่พร้อมเดินทางไปยังคิวรถตู้ เพราะการก้าวเท้าขึ้นรถตู้เป็นการรับประกันว่า คุณมีที่นั่งแน่นอน และค่าโดยสารส่วนใหญ่เป็นแบบราคาเดียว เพียงแค่บางครั้งคุณอาจต้องรอคิวยาว เนื่องจากสภาพจราจรที่หนาแน่นอาจทำให้รถตู้กลับมารับผู้โดยสารช้า
แอร์พอร์ตลิงค์
เป็นบริการที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS พญาไท กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการที่อยู่แถบชานเมือง และผู้โดยสารที่ต้องเดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยเฉพาะ ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2553 มาจนถึงปัจจุบัน แอร์พอร์ตลิงค์ ก็ยังเป็นระบบขนส่งที่มีรายได้ติดลบ และถูกร้องเรียนเรื่องปัญหาความล่าช้าอยู่บ่อยครั้ง จนผู้ใช้บริการกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกับทำเพจ วันนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นอะไร เพื่อคอยรายงานสถานการณ์ในแต่ละวัน
นี่คือ บริการขนส่งสาธารณะที่คุณอาจเลือกใช้บริการ เพื่อให้ไปเรียน หรือไปทำงานทันเวลา หากรถไฟฟ้า BTS ขัดข้องในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนอีก