ครบรอบ 40 ปี "เด็กหลอดแก้ว" คนแรกของโลก
ในเดือนกรกฎาคม 40 ปีที่แล้ว เด็กหลอดแก้วคนเเรกลืมตาดูโลกท่ามกลางความดีใจ ความทึ่งเเละความไม่เชื่อใจ เเละเเน่นอนว่า เทคโนโลยี IVF ซึ่งใช้ในกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกายได้เปลี่ยนโฉมหน้าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ซัลลี่ เชชเชียร์ ประธานองค์กรควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติด้านตัวอ่อนมนุษย์และการเจริญพันธุ์แห่งชาติอังกฤษ (UK Human fertilization And Embryology Authority) กล่าวว่า ตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมา มีเด็กหลายล้านคนที่เกิดมาบนโลกนี้ด้วยเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว และผู้คนที่ไม่สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติได้มีลูกสมใจอยาก
การเกิดของทารกหลุุยส์ บราวน์ ในปี ค.ศ. 1978 ถูกมองด้วยสายตาแห่งความสงส้ยและหวาดระแวง มีคนบางกลุ่มมองว่าเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วลดค่าความเป็นมนุษย์
ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในกรุงลอนดอน มีงานนิทรรศการที่เรียกว่า "เทคโนโลยี IVF กับทารกอีก 6 ล้านคนต่อมา” (IVF : Six Million Babies Later) ได้นำข้าวของส่วนตัวของหลุยส์ บราวน์ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ขอยืมมาจัดเเสดงในงานด้วย
คอนนี่ ออร์บาค ภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กรุงลอนดอน กล่าวว่า ในนิทรรศการจัดเเสดงป้ายชื่อเด็กทารกเเละกำไลข้อมือหลายชิ้นที่ทารกหลุยส์เเละคุณแม่เลสลี่สวมหลังคลอดในโรงพยาบาล ซึ่งตนเองมองว่าสร้างความอ่อนไหวทางอารมณ์เเละเปี่ยมไปด้วยความรัก
ประมาณว่ามีเด็กหลอดแก้วคลอดปีละ 350,000 คนทั่วโลก และเเน่นอนว่ามีคนที่ไม่สมหวังด้วย เพราะราว 70 เปอร์เซ็นต์ของเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วไม่ประสบความสำเร็จ
คุณเอ็มม่า เลค เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับข่าวร้ายว่าไม่สามารถมีบุตรได้ผ่านไอวีเอฟ เลคกล่าวว่า เพื่อนๆ ทุกคนของเธอตอนนี้มีลูกกันหมดแล้ว ทำให้เธอรู้สึกว่าตามเพื่อนไม่ทันเพราะมีลูกไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การวิจัยเด็กหลอดแก้วอาจจะนำไปสู่ความคืบหน้าสำคัญๆ ในอนาคต ที่อาจจะช่วยให้คนที่มีบุตรยากให้สามารถมีบุตรได้
ยาคูป คาลาฟ อาจารย์ด้านการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าที่ทุกคนต้องการให้เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว คือความคืบหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้สามารถสร้างไข่เเละสเปิร์มเทียม หรือที่สร้างจากสเต็มเซลล์ได้สำเร็จ
บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วที่ช่วยให้ทารกหลุยส์เกิดมาบนโลกนี้ได้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว จะช่วยให้มีทารกคนใหม่ลืมตาดูโลกอีกราว 400 ล้านคน ภายในปลายคริสต์ศตวรรษนี้