ข้อแนะนำเบื้องต้น หากพบเห็นคนถูกทำร้าย
เราจะมีวิธีให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่กำลังถูกทำร้ายอย่างไร และพบเห็นคนถูกทำร้ายไม่เข้าช่วยผิดไหม?
เหตุการณ์การทำร้ายร่างกายมีให้พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ในข่าว แต่ถ้าหากวันใดวันหนึ่งที่เราไปพบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ เราจะมีวิธีให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่กำลังถูกทำร้ายอย่างไรบ้าง ครั้งนี้เรามีข้อแนะนำในการเข้าช่วยเหลือ หากพบเห็นคนถูกทำร้ายมาฝากทุกคน จะมีวิธีใดบ้างไปดูกัน
1. ตั้งสติ ประเมินสถานการณ์
หากพบเห็นคนกำลังถูกทำร้าย ไม่ว่าจะวัยใดหรือเพศใดก็ตาม ควรหยุดให้ความช่วยเหลือ ด้วยการประเมินสถานการณ์ก่อน ว่าผู้ที่กำลังลงมือทำร้ายมีอาวุธ เช่น มีดหรือปืน ติดตัวหรือไม่ เพราะทั้งนี้เราต้องนึกถึงความปลอดภัยของตัวเราเองด้วยว่า จะไม่เกิดความสูญเสียไปมากกว่าการทำร้ายร่างกายกัน
2. โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกรถพยาบาล
ในกรณีที่พบเห็นเหตุการณ์คนถูกทำร้าย แต่ประเมินเบื้องต้นแล้วว่าไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ด้วยตัวเอง ให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย หรือเกิดความสูญเสียในภายหลัง หรือในกรณีที่ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บสาหัสมาก ก็ให้โทรเรียกรถพยาบาลร่วมด้วย เพื่อให้ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน
3. ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นร่วมด้วย
หากพบเห็นเหตุการณ์คนถูกทำร้าย เราไม่ควรนิ่งเฉย ยืนดูหรือเดินผ่านไป แม้แต่ในกรณีที่พบเห็นเหตุการณ์นั้นเพียงลำพัง แล้วสถานการณ์นั้นไม่สามารถควบคุมได้ด้วยตัวคนเดียว แนะนำว่าให้ไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นร่วมด้วย เพราะถ้าเราโพงพางเข้าไปช่วยคนเดียวอาจจะทำให้ถูกลูกหลงได้ อย่างน้อยก็ยังทำให้มีจำนวนคนที่สามารถเข้ามาเป็นพยานเพิ่มได้
4. เข้าไปห้าม และเจรจาไกล่เกลี่ยให้
ข้อนี้ต้องอาศัยทั้งสติและความกล้าร่วมด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่หากประเมินสถานการณ์แล้วว่าคนร้ายไม่มีอาวุธติดตัว ซึ่งเราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ในทันที โดยเบื้องต้นก็คือการเข้าไปแยกตัวคนกระทำออกจากคนที่ถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บสาหัสหนักไปมากกว่าเดิม หรืออีกกรณีที่เราสามารถเข้าไปไกล่เกลี่ยให้เรื่องราวยุติลงได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
พบเห็นคนถูกทำร้ายไม่เข้าช่วยผิดไหม ?
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต หรือซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในเนื้อหากฎหมายระบุว่า เห็นควรจะสมควรกลัวหรือไม่ ถ้ากลัวก็ไม่ต้องเข้าไปช่วย ถือว่าไม่มีความผิด เช่น ผู้ก่อเหตุมีมีด มีปืน หรือผู้ก่อเหตุเป็นผู้ชาย แต่ผู้เห็นเหตุการณ์เป็นผู้หญิง ในลักษณะนี้เป็นเหตุสมควรกลัว และถ้าไม่ต้องการเข้าไปยุ่งจริง ๆ ก็สามารถโทรศัพท์แจ้งตำรวจได้ และต้องดูว่าที่เกิดเหตุมี รปภ.หรือไม่ ถ้ามีก็เป็นหน้าที่ของรปภ.ที่จะต้องเข้าไประงับเหตุ
แต่หากมีการกล่าวอ้างจากผู้กระทำข่มขู่ว่า มีมีดหรือปืน ไม่ต้องมายุ่ง ก็มีเหตุให้เชื่อว่ามีภยันตราย คนเห็นเหตุการณ์ก็ไม่มีความผิด แต่ถ้าไม่มีการกล่าวอ้างดังกล่าวคนเห็นเหตุการณ์ก็จะมีความผิด