"คะ ค่ะ ใช้ยังไง" มาเรียนการผันวรรณยุกต์ให้ถูกต้องกันเถอะ
คะ, ค่ะ ยังคงเรียกว่าเป็นปัญหาน่าปวดหัวมานานมาก จนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังมีคนถกเถียงเรื่องการใช้ให้ถูกหลักภาษาอยู่ ซึ่งเราต้องบอกเลยว่า อันที่จริงการใช้ คะ ค่ะ นะคะ มันไม่ยากจริงๆ นะ ถ้ามีเทคนิคการจำที่ดี รับรองว่าเขียนยังไงก็ไม่ผิดแน่นอน ซึ่งในครั้งนี้ Sanook! Campus เราก็เลยอยากนำเคล็ดลับการใช้ คะ ค่ะ อย่างถูกวิธีมาฝากเพื่อนๆ กัน
ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่า คะ/ค่ะ จริงๆ แล้วคำนี้เขียนต่างกัน ออกเสียงต่างกัน ตามหลักผันวรรณยุกต์ คอ + อะ = คะ เป็นเสียงตรี แต่ถ้า คอ + อะ + ไม้เอก = ค่ะ เป็นเสียงโท โทนเสียงก็มีความแตกต่างกันแล้ว เช่นเดียวกับคำว่า วะ ว่ะ ของผู้ชายเช่นกัน
เราเชื่อว่าในชีวิตจริงเราทุกคนต้องพูดคำว่า คะ ค่ะ เป็นและถูกต้องกันทุกคนอย่างแน่นอน เพราะถูกสั่งสอนและเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก สามารถผันเสียงตอนพูดได้ตามหลักทุกประการ แต่เมื่อมาถึงจุดที่อยู่ในการพิมพ์ เราอาจจะผันวรรณยุกต์ที่ถูกต้องอย่างการ ผันอักษรเสียงสูง กลาง ต่ำไม่เป็น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการเขียนให้ถูกนั้นก็คือ "การจำ" คำ ที่จะใช้เอาไว้ให้ได้ว่า คำนี้มีความหมายว่าอะไร ใช้ในสถานการณ์ไหน แล้วคุณจะจำได้ไปเอง อย่ามัวแต่ไปจำว่า คะ ใช้ต่อหลังประโยคคำถาม หรือ ค่ะ ใช้ต่อหลังประโยคคำตอบ เพราะข้อนี้ในบางครั้งก็ทำให้เราสับสนได้เหมือนกัน เพราะถึงแม้ว่าถ้าเราใช้การผันวรรณยุกต์ในการเขียนไม่เป็น แต่เรารู้คำที่เราจะใช้เขียนอย่างถูกต้อง ยังไงก็ไม่ผิดแน่นอน เอาเวลาไปใช้เรียนการผันเสียงวรรณยุกต์ดีกว่ามานั่งคำว่าอะไรใช้ต่อคำถาม/คำตอบ ได้ความรู้แถมเอาไปใช้กับคำอื่นๆ ให้ถูกได้ด้วย
การผันวรรณยุกต์
ปกติแล้วการผันวรรณยุกต์นั้นจะผันได้ 5 เสียง ถ้าเป็นอักษรกลาง อย่างเช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า หรือ จา จ่า จ้า จ๊า จ๋า เพราะตัว “ก” และ “จ” ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นอักษรกลาง คำเป็น เราเลยผันได้ 5 เสียงเต็ม ๆ แต่สำหรับ “ค” นั้น ตามหลักภาษาจัดให้เป็น “อักษรต่ำ” และถ้ามาผสมสระอะ เป็นคำว่า “คะ” จะถือเป็น “คำตาย” เพราะเป็นคำที่มีสระเสียงสั้น
ดังนั้น คำว่า “คะ” เป็นอักษรต่ำและเป็นคำตาย การผันวรรณยุกต์จึงผันได้เพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น คือ “ค่ะ” เป็นเสียงโท กับ “คะ” ดังนั้น เป็นเสียงตรี "ค๊ะ" หรือ "นะค๊ะ" เติมไม้ตรีผิด เพราะ “ค” จะผันด้วยไม้ตรีไม่ได้ เขียนได้แค่ “คะ” กับ “ค่ะ” เท่านั้น
อักษร 3 หมู่
การจัดแบ่งพยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัวแบ่งระดับเสียงได้ 3 ระดับ คือ ระดับอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ ดังนี้
อักษรสูง มี 11 ตัว คือ
ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ส ษ ศ ห (ฉันฝากขวดขี้ผึ้งใส่ถุงให้เศรษฐี)
คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง คือ เอก โท จัตวา
อักษรกลาง มี 9 ตัว คือ
ก จ ด ต บ ป อ ฎ ฏ (ไก่จิกเด็กตายเฎ็กฏายบนปากโอ่ง)
คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา
อักษรต่ำ มี 24 ตัวแบ่งเป็น
อักษรต่ำคู่ มี 14 ตัว คือ ค ฅ ฆ ช ซ ฌ ฑ ฒ ท ธ พ ฟ ภ ฮ (พ่อค้าฟันทองซื้อช้างฮ่อ ฅ ฆ ฌ ฑ ฒ ธ ภ)
อักษรต่ำเดี่ยว มี ๑๐ ตัว คือ ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล (งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก)
คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง คือ สามัญ โท ตรี