“รถโรงเรียน” ควรมีมาตรฐานความปลอดภัยอย่างไร
ภาพการสูญเสียบุตรหลาน เพราะถูกหลงลืมไว้บนรถรับ-ส่งนักเรียนนานหลายชั่วโมงที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้หลายคนสงสัยว่า รถรับ-ส่งนักเรียนในปัจจุบัน มีมาตรฐานความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ สำหรับเรื่องนี้กรมการขนส่งทางบก ได้กำหนดไว้ดังนี้
มาตรฐานความปลอดภัยของ “รถรับ-ส่งนักเรียน”
- อนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้มาใช้เป็นรถรับ-ส่งนักเรียนได้ โดยต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษาซึ่งได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
- ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับนักเรียนยืน โดยรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอน ตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น
- รถต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานขนส่งจังหวัด ที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาสังกัดอยู่
- รถรับ-ส่งนักเรียนทุกคันต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้าย และมีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงเปิด-ปิดเป็นระยะ ติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถ
- ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน อาทิ เครื่องดับเพลิง หรือค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม
- คนขับต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ มีผู้ดูแลนักเรียนประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับ-ส่งนักเรียน
ทั้งนี้ หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอาจถูกสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว
ขณะที่ผู้ปกครองก็จำต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียนเช่นกัน เรื่องที่ควรตรวจสอบ มีดังนี้
รถรับ-ส่งนักเรียนที่ให้บริการ เป็นของใคร
อันดับแรก ผู้ปกครองควรรู้ก่อนว่า รถรับ-ส่งนักเรียนที่ให้บริการนั้น มีโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการ หรือเป็นผู้ประกอบการข้างนอก
ประวัติคนขับรถ
ไม่ว่า บริการรถรับ-ส่งนักเรียน จะมีใครเป็นผู้ดำเนินการ ผู้ปกครองควรทราบเสียก่อนว่า คนขับรถชื่ออะไร ขับรถอย่างไร มีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การขับรถรับ-ส่งนักเรียนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้สามารถเช็กกับทางโรงเรียนได้ เนื่องจากโรงเรียนต้องมีกระบวนการตรวจสอบมาก่อนแล้ว
มาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับรถรับ-ส่งนักเรียน
เป็นการเช็กว่า ทางโรงเรียนมีนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับรถรับ-ส่งนักเรียนอย่างไร อาทิ รถทุกคันมีครูหรือครูพี่เลี้ยงอยู่ประจำรถหรือไม่ หากไม่มีครูหรือครูพี่เลี้ยง ใครเป็นผู้คอยดูแลเด็กนักเรียนขณะโดยสารรถรับ-ส่ง มีการเช็กชื่อเด็กนักเรียนในเวลาขึ้นรถ หรือลงรถหรือไม่
เรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากดูตามข่าว พบว่า เหตุที่เด็กถูกหลงลืมในรถรับ-ส่งนักเรียน ส่วนใหญ่เป็นเพราะคนขับ ครูหรือครูพี่เลี้ยง ซึ่งมีหน้าที่อยู่ประจำบนรถคันดังกล่าว ไม่ได้มีการเช็กชื่อว่า มีเด็กขึ้นรถมากี่คน และเมื่อถึงโรงเรียน เด็กได้ลงจากรถไปทั้งหมดกี่คน
ตรวจสอบสภาพรถ และอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน
ผู้ปกครองควรตรวจสอบสภาพรถว่า มีการดัดแปลงสภาพมาหรือไม่ ระบบล็อกทั้งประตู หน้าต่างได้มาตรฐานหรือไม่ จำนวนที่นั่งบนรถสัมผัสกับจำนวนเด็กไหม (ควรนั่ง 1 คนต่อ 1 เบาะ) เข็มขัดนิรภัยมีครบทุกที่นั่งและสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่
ขณะที่อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย อาทิ ถังดับเพลิง หรือค้อนทุบกระจก ควรติดตั้งอยู่ตรงจุดที่พร้อมหยิบมาใช้งาน ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
วิธีตรวจสอบรถนักเรียน ขณะเดินทาง
โดยส่วนใหญ่ทางโรงเรียนมักให้เบอร์คนขับ ครูหรือครูพี่เลี้ยงแก่ผู้ปกครอง เผื่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งผู้ปกครองอาจโทรสอบถามตามเบอร์ดังกล่าวว่า ลูกของตนเดินทางถึงโรงเรียนหรือยัง หากยังขณะนี้รถรับ-ส่งนักเรียน เดินทางถึงจุดไหน
เด็กที่ใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียน มีใครบ้าง
เป็นการตรวจสอบว่า รถรับ-ส่งนักเรียนที่ลูกขึ้นนั้น มีเพื่อนของลูกหรือไม่ หากมีคือใครบ้าง เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้รู้ว่า เด็กที่ต้องเดินทางด้วยกันทุกวันเป็นใคร บ้านอยู่ที่ใด ผู้ปกครองคือใคร พร้อมทั้งควรขอเบอร์ผู้ปกครองของเด็กที่ต้องใช้เส้นทางลงก่อนหน้าลูก หรือลงหลังลูกของเรา เผื่อมีกรณีผิดเวลาจะได้สามารถสอบถามกันได้
สอนวิธีเอาตัวรอดเบื้องต้น
ผู้ปกครองควรสอนลูกให้รู้จักแตรรถยนต์ พร้อมสอนด้วยว่า หากต้องอยู่ในรถยนต์เพียงลำพังหรือต้องการความช่วยเหลือ ให้กดแตรตรงไหน รวมถึงวิธีการปลดล็อกประตูรถ โดยการสอนเด็กเล็กนั้น ผู้ปกครองอาจต้องใจเย็นและค่อย ๆ สอนแบบย้ำ ๆ กันสักนิด