ความเป็นมาของ "โขน" ศิลปะชั้นสูงที่รวมศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง

ความเป็นมาของ "โขน" ศิลปะชั้นสูงที่รวมศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง

ความเป็นมาของ "โขน" ศิลปะชั้นสูงที่รวมศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาดูความเป็นมาของ "โขน" ศิลปะชั้นสูงที่รวมศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง ที่ยังไม่ปรากฏชัดแน่นอนว่าคำว่า "โขน" ปรากฏขึ้นในสมัยใด

istock-942571794700

โขนเป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงเช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ โดยนำเอาวิธีเล่นและการแต่งตัวบางชนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้นเช่น ท่าปฐมในการไหว้ครูของกระบี่กระบอง รวมทั้งการนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์และเพลงดนตรีเข้ามาประกอบการแสดง ในการแสดงโขน ลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตาให้สามารถมองเห็น แสดงอารมณ์ผ่านทางการร่ายรำ สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้นๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน

ในสมัยโบราณ ตัวพระและตัวเทวดาต่างสวมหัวโขนในการแสดง ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องสวมหัวโขน คงใช้ใบหน้าจริงเช่นเดียวกับละคร แต่งกายแบบเดียวกับละครใน เครื่องแต่งกายของตัวพระและตัวยักษ์ในสมัยโบราณมักมีสองสีคือ สีหนึ่งเป็นสีเสื้อ อีกสีหนึ่งเป็นสีแขนโดยสมมุติแทนเกราะ เป็นลายหนุนประเภทลายพุ่ม หรือลายกระจังตาอ้อย ส่วนเครื่องแต่งกายตัวลิงจะเป็นลายวงทักษิณาวรรต โดยสมมุติเป็นขนของลิงหรือหมี ดำเนินเรื่องด้วยการกล่าวคำนำเล่าเรื่องเป็นทำนองเรียกว่าพากย์อย่างหนึ่ง กับเจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง โดยมีผู้ให้เสียงแทนเรียกว่าผู้พากย์และเจรจา มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้ ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบการแสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ปัจจุบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีหน้าที่หลักในการสืบทอดการฝึกหัดโขน และกรมศิลปากร มีหน้าที่ในการจัดการแสดง

istock-903659150

โขนจัดเป็นนาฏกรรมที่มีความเป็นศิลปะเฉพาะของตนเอง ไม่ปรากฏชัดแน่นอนว่าคำว่า "โขน" ปรากฏขึ้นในสมัยใด แต่มีการเอ่ยถึงในวรรณคดีไทยเรื่องลิลิตพระลอที่กล่าวถึงโขนในงานแสดงมหรสพ ระหว่างงานพระศพของพระลอ พระเพื่อนและพระแพงว่า "ขยายโรงโขนโรงรำ ทำระทาราวเทียน" โดยมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่าโขนนั้น มีที่มาจากคำและความหมายในภาษาต่าง ๆ ดังนี้

  • คำว่าโขนในภาษาเบงคาลี ซึ่งปรากฏคำว่า "โขละ" หรือ "โขล" (บางครั้งสะกดด้วย ฬ เป็นคำว่า"โขฬะ" หรือ "โขฬ") ที่เป็นชื่อเรียกของเครื่องดนตรีประเภทหนังชนิดหนึ่งของฮินดู ลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับตะโพนของไทย ไม่มีขาตั้ง ทำด้วยดิน ไม่มีสายสำหรับถ่วงเสียง มีเสียงดังค่อนข้างมาก จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย ใช้สำหรับประกอบการละเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่ายาตราหรือละครเร่ที่คล้ายคลึงกับละครชาตรี โดยสันนิษฐานว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ เคยถูกนำมาใช้ประกอบการเล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่าโขลตามชื่อของเครื่องดนตรี
  • คำว่าโขนในภาษาอิหร่าน มีที่มาจากคำว่าษูรัต ควาน หมายความถึงตุ๊กตาหรือหุ่น ซึ่งใช้สำหรับประกอบการแสดง โดยมีผู้ขับร้องและให้เสียงแทนตัวหุ่น เรียกว่าควานหรือโขน มีความคล้ายคลึงกับผู้พากย์และผู้เจรจาของการแสดงโขนในปัจจุบัน
  • คำว่าโขนในภาษาเขมร เป็นการกล่าวถึงโขนในพจนานุกรมภาษาเขมร ซึ่งหมายความถึงละคร แต่เขียนแทนว่าละโขน ที่หมายความถึงการแสดงมหรสพอย่างหนึ่ง

จากข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโขนเป็นคำมาจากภาษาใด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ระบุความหมายของโขนเอาไว้ว่า "โขนหมายถึงการเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่าหัวโขน" หรือหมายความถึงไม้ใช้ต่อเสริมหัวเรือท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้นไปที่เรียกว่าโขนเรือ หรือใช้สำหรับเรียกเรือชนิดหนึ่งที่มีโขนว่าเรือโขนเช่น เรือโขนขนาดใหญ่น้อยเหลือหลายในลิลิตพยุหยาตรา หรือหมายความถึงส่วนสุดทั้งสองข้างของรางระนาดหรือฆ้องวงใหญ่ที่มีลักษณะงอนขึ้นว่าโขน

istock-941741856

ในสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงโขนโดยลาลูแบร์ เอาไว้ว่า "โขนนั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง) หรือไม่เป็นหน้าปีศาจ (ยักษ์) " ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อมหรสพในอดีตของชาวไทยในสายตาของชาวต่างประเทศ

แต่เดิมนั้นการแสดงโขนจะไม่มีการสร้างฉากประกอบการแสดงตามท้องเรื่อง การดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ เป็นแบบจินตนาการถึงฉากหรือสถานที่ในเรื่องราวเอง การจัดฉากในการแสดงโขนเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยที่ทรงคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น คล้ายกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดขึ้น

istock-941749018

ประเภทของโขนแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

  • โขนกลางแปลง

โขนกลางแปลงเป็นการเล่นโขนกลางแจ้ง ไม่มีการสร้างโรงแสดง ใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง ผู้แสดงทั้งหมดรวมทั้งตัวพระต้องสวมหัวโขน นิยมแสดงตอนยกทัพรบ วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เรื่องกวนน้ำอมฤตที่ใช้เล่นในพิธีอินทราภิเษก ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพและการเต้นประกอบหน้าพาทย์มาใช้ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์แทน มีการเต้นประกอบหน้าพาทย์และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้าง แต่ไม่มีบทร้อง

  • โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว

เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน) มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์ 2 วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งหัวโรงท้ายโรง จึงเรียกว่าวงหัวและวงท้าย หรือวงซ้ายและวงขวา วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรง และให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง พอ จบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่า จับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขน รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า "โขนนอนโรง"

  • โขนหน้าจอ

คือ โขนที่เล่นตรงหน้าจอ ซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่ ในการเล่นหนังใหญ่นั้น มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือการพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังต้อง เต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอ แทนการเชิดหนังในบางตอน เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" มีผู้นิยมมากขึ้น เลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอด ไม่มีการเชิดหนังเลย จึงกลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก 2 ข้าง เรียกว่า "จอแขวะ"

  • โขนโรงใน

คือ โขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง 2 วงผลัดกัน การ แสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้น ทีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการ ของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 ทั้งมีราชกวีภายในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก

โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ ก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม

  • โขนฉาก

เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมา เพื่อสะดวกในการจัดฉาก กรม ศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆ ไว้หลายชุด เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดง ชุดพระรามครองเมือง

istock-622917288

การแสดงโขน โดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง "รามเกียรติ์" กรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องรามเกียรติ์ที่นำมาแสดงโขนนั้นมีหลายสำนวน ทั้งที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบทในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของรัชกาลที่ 2 ที่ กรมศิลปากรปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอน เพื่อแสดงโขนฉาก ก็เดินเรื่องตามสำนวนของรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 6 ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง 6 ชุด คือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา และชุดนาคบาศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook