อยากเป็นหมอมาทางนี้ "แพทยศาสตร์ มธ." สอนทั้งเรื่องแพทย์และยังตอบแทนสังคมด้วย
อยากเป็นหมอต้องแวะมาอ่านกันหน่อย ทำความรู้จักกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันซักนิด คณะนี้ให้อะไรมากกว่าความรู้
มาทำความรู้จักกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กัน ว่าทำไมจะต้องเรียนที่นี่! เพราะที่นี่เขาไม่ได้มีดีแค่วิชาการเท่านั้นนะ ยังสนับสนุนการเรียนการสอนแพทย์แผนไทยประยุกต์ ส่งเสริมการทำงานวิจัย และยังมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับว่าเป็น คณะแพทยศาสตร์ ที่ ๙ ของรัฐ เป็นโรงเรียนผลิตแพทย์ที่บุกเบิกแนวคิดจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based learning: CBL) ระดับพรีคลินิก ในรูปแบบ Hybrid Problem-based learning (Hybrid PBL) เป็นการเรียนการสอนแบบบรรยาย ประกอบกับใช้โจทย์ปัญหาในกระบวนการกลุ่มย่อยที่อ้างอิงทางคลินิก
ภายใต้แนวความคิด “จะเรียนได้เก่ง ถ้าเป็นผู้สอนเสียเอง” รวมถึงระดับคลินิกจัดการเรียนการสอน แบบเน้นปฏิบัติทางคลินิก ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ในคณะมีการแบ่งส่วนราชการของคณะแพทยศาสตร์ เป็น 4 ส่วน
- สำนักงานเลขานุการคณะ
- สถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก
- สถานวิทยาศาสตร์คลินิก
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
การเรียนการสอนครอบคลุมทุกภาควิชา (14 ภาควิชา) และทุกระดับปริญญา หลักสูตรตรงตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ รวมไปถึงหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ โดยมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศระดับสากล ผลิตบัณฑิตแพทย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ส่งเสริมอาจารย์ และนักศึกษาให้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิทยาการค้นคว้าที่ทันสมัย ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติมากมาย
- ปี 2561 รางวัลเหรียญทองจากผลงาน ดนตรีบำบัดเพื่อลดความกังวลและความรู้สึกเจ็บในการผ่าตัดสลายต้อกระจก" การประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 46 (46th INTERNATIONAL EXHIBITION OF INVENTIONS OF GENEVA)
- ปี 2560 รางวัลชนะเลิศถ้วยเกียรติยศอันดับ 1 จากผลงาน Application ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาบนมือถือของคนไทย การประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 45 (45th INTERNATIONAL EXHIBITION OF INVENTIONS OF GENEVA)
นอกจากการพัฒนาในทุกๆ ด้านของคณะแพทยศาสตร์ตามหลักสูตรที่แพทยสภารับรอง ยังมีการบริการวิชาการแก่สังคม โดยเน้นนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม ให้คำปรึกษาและร่วมแก้ปัญหา และยังมีการจัดตั้งชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท (ค่ายสร้าง) เพื่อช่วยเหลือและบริการสังคมอย่างแท้จริง