อยากเข้าคณะศิลปะ ต้องเริ่มจากตรงไหนดี?
เราอาจจะได้ยินกันบ่อยๆ “เรียนศิลปะจบไปแล้วจะทำอะไร?” ซึ่งเป็นคำถามที่ควรจะหมดไปได้แล้ว! เดี๋ยวนี้มีอาชีพเกี่ยวกับศิลปะ หรือต้องใช้ศิลปะเป็นพื้นฐานไม่น้อยเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่คนจะหันมาสนใจเรียนศิลปะกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักคร่าวๆ และดูว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้างกันดีกว่า
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับประเภทของศิลปะก่อน
- วิจิตรศิลป์ หรือ ศิลปะบริสุทธิ์ (Fine Art หรือ Pure Art)
หรือที่เรารู้จักกันคือ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย Performance Art สื่อผสม ซึ่งจุดประสงค์ในการทำศิลปะประเภทนี้คือเพื่อจรรโลงใจ ใช้เสพเพื่อความสุนทรียะเท่านั้น ไม่ได้มีฟังก์ชันการใช้งานเข้ามาเกี่ยว เนื้อหาที่ทำก็จะขึ้นอยู่กับศิลปิน ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงตลาดภายนอก อาชีพที่ตรงตัวที่สุดสำหรับคนทำงาน Fine Art ก็คือเป็นศิลปินนั่นเอง จะเน้นเรียนหนักไปทางวาดรูป เพ้นท์รูป ปั้น ทำงานภาพพิมพ์ ถ่ายภาพ และทำสื่อผสมต่างๆ - ประยุกต์ศิลป์ หรือการออกแบบ (Applied Art)
เป็นการนำศิลปะมาประยุกต์เพื่อการค้า การออกแบบเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นมันจะมีเรื่องการตลาด ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคด้วย จะต่างจาก Fine Art ที่ขึ้นอยู่กับตัวศิลปินอย่างเดียวก็ได้
ประยุกต์ศิลป์อย่างเช่น ออกแบบกราฟิก ออกแบบแฟชั่น ออกแบบภายใน งานหัตถกรรม
หาที่เรียนพิเศษใกล้บ้าน ใกล้โรงเรียน
หลักสูตรในโรงเรียนปกติจะไม่เอื้อต่อคนที่อยากเข้าคณะศิลปะอยู่แล้ว เพราะมันไม่พอกับการสอบเข้า คนที่อยากเรียนศิลปะจริงๆ เลยต้องไปหาที่เรียนพิเศษเอาเอง
ถึงแม้ที่เรียนที่ดีจะสำคัญเหมือนกัน แต่ถ้าหาโรงเรียนสอนพิเศษที่อยู่ใกล้บ้านหรือใกล้โรงเรียนได้ก็จะดีมาก เพราะการเรียนพิเศษศิลปะหลังเลิกเรียนก็ดึกดื่นแล้ว ให้เดินทางไกลกลับบ้านอีกอาจจะทำให้เหนื่อยจนท้อไปเลยก็ได้
ให้ลองดูแต่ละที่ว่าเด่นเรื่องอะไร โรงเรียนสอนพิเศษบางที่จะถนัดด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่นดีไซน์ ถนัดสอนวาดเส้น ถนัดออกแบบ
เตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะกับตัวเอง
แน่นอนว่าอุปกรณ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ส่วนใหญ่ในคอร์สเรียนหรือครูสอนน่าจะแนะนำอุปกรณ์ได้อยู่แล้วว่าต้องซื้ออะไรบ้าง แต่แนะนำว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่เราซื้ออุปกรณ์แพงๆ มาในตอนที่ยังทำไม่เป็น อาจจะทำให้เสียของไปเปล่าๆ ได้เหมือนกัน
ข้อแนะนำเรื่องการซื้อกระดาษ
บางคนอาจจะเห็นว่ากระดาษที่ซื้อเป็นสมุดฉีกๆ นั้นคุ้มค่า แต่ในระยะแรกที่เรียนแนะนำให้ซื้อจากร้านเครื่องเขียนทั่วไปอย่างสมใจ หรือ B2S ไปก่อน เพราะกระดาษแบบนั้นจะราคาถูกกว่าเป็นเล่ม เนื่องจากแรกๆ เรายังเรียนแค่การวาดโครงรูป หรือแรเงาไล่แสงเบื้องต้น ยังไม่ต้องใช้กระดาษดีมากก็ได้ เมื่อเริ่มขึ้นรูปจริงจังค่อยหากระดาษที่เหมาะสม
ศึกษาให้ดีว่าคณะที่อยากเข้า เคยออกข้อสอบอะไรมาบ้าง?
แน่นอนว่าแต่ละคณะและมหาวิทยาลัยจะมีการตัดสินของตัวเอง ซึ่งเราต้องศึกษาให้ดี ลองถามจากโรงเรียนของตัวเอง โรงเรียนสอนพิเศษ หรือรุ่นพี่ที่เคยผ่านมาแล้ว ข้อสอบเก่าจะช่วยเราได้มากเพราะส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆ เดิม
หากสอบเข้าคณะที่เป็นวิจิตรศิลป์ก็จะเป็นข้อสอบแบบตรงตัว อย่างเช่น วาดภาพเหมือนของหุ่นที่ให้มา และวาดภาพลงสีตามโจทย์ของแต่ละปี แต่ถ้าเป็นประยุกต์ศิลป์ก็จะมีโจทย์ออกแบบ หรืออาจจะเป็นวาดภาพเหมือนแบบสร้างสรรค์ตามโจทย์ที่สั่ง เราต้องดูแนวของแต่ละมหาวิทยาลัยให้ดี
อ่านหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ
คณะที่เกี่ยวกับศิลปะไม่ได้ใช้คะแนนสอบปฏิบัติอย่างเดียว แต่มีคะแนนทฤษฎีด้วยเหมือนกัน สิ่งที่จำเป็นนั่นก็คืออ่านหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งไทยและสากลให้ครอบคลุมเพื่อเตรียมไปสอบ ถ้าเป็นสายประยุกต์ศิลป์ก็ต้องอ่านทฤษฎีเกี่ยวกับสาขาของตัวเอง (รวมถึงประยุกต์สาขาอื่นด้วย แล้วแต่ข้อสอบของแต่ละคณะ) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองในตอนสอบเข้า และตอนเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วด้วย เพราะเป็นอีกวิชาบังคับที่เราต้องเจอ
เตรียมสอบวิชาสามัญ
ไม่ใช่ว่าเราเตรียมวิชาปฏิบัติอย่างเดียวก็จะรอด เพราะส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยได้นำคะแนน GAT และ PAT เข้ามาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ด้วย หรือบางมหาวิทยาลัยใช้ข้อสอบวิชาการของตัวเอง เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือทำข้อสอบเผื่อไว้ด้วย
เตรียม Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน)
แฟ้มผลงานเป็นสิ่งที่สำคัญมากตอนสอบสัมภาษณ์ เพราะถือเป็นแฟ้มเก็บผลงานเก่าๆ และพิสูจน์ฝีมือเรานอกเหนือจากข้อสอบ ในบางคณะก็เปิดรับตรงรอบพิเศษที่ใช้แฟ้มผลงานยื่นอย่างเดียวด้วย
หรือสำหรับคนทั่วไปที่อยากเรียนศิลปะเพื่อความสนุกสนานเฉยๆ ไม่ได้กะจะเข้าเรียนจริงจัง ก็ลองหาโรงเรียนสอนพิเศษศิลปะที่เด่นด้านที่เราสนใจ (บางที่เด่นเรื่องสีน้ำ สีน้ำมัน แตกต่างกันไป) ที่มีคอสสำหรับคนทั่วไป จะเรียนไม่หนักเท่าเด็กติว เน้นเรียนแบบแฮปปี้และได้ผลงานกลับไปมากกว่า