5 เหตุผลที่ละครพื้นบ้านยังครองใจคนไทย ช่วงเช้าวันหยุด
ละครพื้นบ้าน ช่อง 7 ยังเป็นโปรแกรมที่กอบโกยเรตติ้งได้เรื่อย ๆ ที่แม้กระแสดูเงียบ ๆ บนโซเชียล แต่เรตติ้งสังข์ทองจาก TV Digital Watch กลับนำโด่งทุกรายรายการ ไม่เว้นละครหลังข่าว แล้วเพราะเหตุใด ละครพื้นบ้าน ที่ไม่ได้มีนักแสดงมากฝีมือคับคั่งดังละครหลังข่าว ถึงได้มาแรงขนาดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ลองไปหาคำตอบกันเลย
ไร้คู่แข่ง
ละครพื้นบ้าน ช่อง 7 มีโปรแกรมฉายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-09.00 น. ได้กลายเป็นรายการโปรด ที่ทำให้หลายคนต้องนั่งเกาะติดขอบจอในเวลานั้น ๆ (ไม่ว่าคุณจะอยู่ยุค Generation ไหน) ยิ่งละครพื้นบ้านจักร ๆ วงศ์ ๆ ก็ยังทำให้คนรีบตื่นมาดูทุกเช้าเสาร์-อาทิตย์ อยู่ดี
แต่ถ้าบอกว่า ละครพื้นบ้าน ช่อง 7 ไม่เคยมีคู่แข่งเลยก็ไม่ใช่ เพราะคู่ปรับสำคัญเช่น ช่อง 3 ก็เคยผลิตละครพื้นบ้าน (เมื่อประมาณปี 2529) เพื่อหวังแย่งชิงเรตติ้ง สุดท้ายไม่สำเร็จ ช่อง 3 ต้องปิดฉากละครพื้นบ้านลงในเดือนกันยายน 2547 (ละครเรื่องสุดท้าย : พระอภัยมณี ผลงาน บริษัท เมืองละคร จำกัด ของ เศรษฐา ศิระฉายา)
ผ่านมา 14 ปี ช่อง 3 เตรียมกลับลงสนามประลองฝีมือในสนามที่ชื่อว่า “ละครพื้นบ้าน” กับช่อง 7 อีกครั้ง ด้วยเรื่อง “อุทัยเทวี” ผลงานจากค่ายจันทร์ 25 ของคุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ (ถ่ายทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดออกอากาศ) คงต้องลุ้นว่า เมื่ออุทัยเวทีได้ลงจอจริง ๆ ช่อง 3 จะสามารถแบ่งเค้กก้อนนี้ได้หรือไม่
มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และเหนียวแน่น
เช้าวันหยุด เป็นช่วงเวลาที่ทีวีดิจิทัลหลายช่องต่างหวังเจาะตลาดเด็ก ด้วยการอัดรายการการ์ตูน วาไรตี้ หรือสารคดีท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีช่องใดที่สามารถโค่น ช่อง 7 เจ้าของเรตติ้งในช่วงเวลาดังกล่าวได้สำเร็จ เพราะละครพื้นบ้าน ช่อง 7 ได้เจาะลึกและแทรกซึมไปยังทุกครัวเรือน (เด็กและผู้ใหญ่) ของสังคมไทยมาเนิ่นนาน
เรียกว่า ต่อให้นำละครพื้นบ้านอย่างเรื่องเทพสามฤดู แก้วหน้าม้า อุทัยเทวี สี่ยอดกุมาร ขวานฟ้าหน้าดำ ปลาบู่ทอง และสังข์ทอง มารีเมกเป็นสิบ ๆ รอบ ก็ยังครองใจผู้ชมได้อย่างเหนียวแน่น
เนื้อหาไม่เครียด มีเอกลักษณ์เฉพาะ
ช่วงหลัง ๆ ละครพื้นบ้าน ช่อง 7 ปรับเนื้อหาให้มีการสอดแทรกทั้งมุกตลก ปรับแต่งใส่ CG ได้เนียนสมจริงมากขึ้น แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ที่คุ้นชินของแฟนคลับ คือ “เสียงขับเสภา” สุดไพเราะ ตัวช่วยบอกเล่าเรื่องราวว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้น จึงไม่แปลกบรรดาผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบเสียงขับเสภาจะยึดรีโมท เพื่อเปิดดูรายการโปรด ก่อนลากลูกหลานมานั่งซึมซับความสนุกสนานไปกับตนเอง
มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย
เชื้อชาติของราชบุตรเขยทั้ง 6 ของท้าวสามล ที่มีทั้งไทย จีน แขก พม่า ลาว และฝรั่ง เป็นตัวช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับ สังข์ทอง ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีการสอดแทรกเรื่องเพศสภาพเข้าไปในตัว “เจ้าชายไชยันต์” ราชบุตรเขย ลำดับที่ 4 ของท้าวสามล ด้วยฉากสกิลชิพระหว่างเจ้าชายไชยันต์กับหนึ่งในราชบุตรเขยเข้าไป จนหลายคนสงสัยว่า เจ้าชายไชยันต์ อาจเป็นชายรักชาย (แต่ฉากสกิลชิพที่ว่า ก็ไม่ได้ออกนอกหน้าจนน่าเกลียด)
แทรกข้อคิด เรื่องการเหยียดหยามรูปลักษณ์คนอื่น
หลายคนคงจำได้ว่า ก่อนเจ้าเงาะถอดรูปนั้น ต้องทนฟังคำดูถูก เหยียดหยาม และล้อเลียนมากเพียงใด ขนาด “รจนา” (นางเอก) ยังพยายามอ้อนวอนและสรรหาสารพัดวิธี เพื่อให้เจ้าเงาะถอดรูป จนมีการตั้งคำถามว่า รจนารักเจ้าเงาะ หรือรักรูปทองของพระสังข์กันแน่
ผิดกับ “เจ้าชายไชยันต์” ที่ตอนต้นเรื่อง แม้จะเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมประณามหยามเหยียดเจ้าเงาะ แต่พอมาช่วงหลัง เจ้าชายไชยันต์กับเป็นคนเดียวที่คอยแอบช่วย แอบปกป้องเจ้าเงาะ ถึงขั้นเถียงกับพระธิดาปัทมา (พระชายาเจ้าไชยันต์) ที่พูดดูถูกเจ้าเงาะว่า “พี่เงาะนั้น ก็เป็นคนเหมือนกัน” มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ บนโลกใบนี้
ที่สำคัญทั้งเรื่อง มีเพียงเจ้าชายไชยันต์ที่ชื่นชอบพระสังข์ทองตอนที่ยังไม่ถอดรูปเงาะ
นี่เป็นเพียงเหตุผลบางส่วนที่ Tonkit360 นำมาฝากกัน ส่วนใครที่รอชมฉาก “เจ้าเงาะกล้ามสวย” ถอดรูปเป็น “พ่อสังข์ทองสุดหล่อ” เพื่อลงสนามตีคลีกับพระอินทร์นั้น ก็อดใจรอกันไปก่อนนะ แว่ว ๆ มาว่า ไม่เกินสิ้นเดือนตุลาคม 2561 ได้ชมฉากนั้นแน่ ๆ