Yami Kawaii ความซึมเศร้าสไตล์ “คาวาอี้”
เราอาจรู้จักญี่ปุ่นในฐานะดินแดนแห่งความน่ารักคิกขุสไตล์ “คาวาอี้” เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่ได้ชื่อว่ามาจากญี่ปุ่นก็มักจะดูสดใส แอบแฝงไปด้วยความขี้เล่นเสมอ ถึงแม้บางอย่างจะชวนให้ชาวไทยอย่างเราๆ ต้องเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจก็ตามที…
“คาวาอี้” นอกจากจะเป็นคำพูดยอดฮิตติดปากของสาวแดนปลาดิบเวลาเจอสารพัดสิ่งน่ารักน่าหยิก ทั่วโลกยังรู้จักคำคำนี้ในฐานะที่เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมอันแสนจะเฉพาะตัวที่หาได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น ยิ่งในย่านฮาราจูกุ - ศูนย์กลางความคาวาอี้และยูโทเปียแห่งแฟชั่นที่ไม่เคยถูกจำกัดโดยกรอบใดๆ “ความน่ารัก” เป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องของภาษา แต่ยังเกี่ยวพันกันกับวัฒนธรรมและชีวิต เป็นสัญลักษณ์ของเหล่าวัยรุ่นที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็สามารถผสานรวมเป็นหนึ่งได้กับเกือบทุกสิ่งที่เป็นกระแส แม้แต่กับเรื่องที่แสนจะอ่อนไหวอย่างเรื่อง “โรคซึมเศร้า” ประเด็นต้องห้ามที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่ยอมรับ
Sanook! Campus อยากพาผู้อ่านทุกคนไปสำรวจโลกของเทรนด์ Yami Kawaii เทรนด์ชวนเหวอที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ทุกอย่างเลื่อนไหลรวดเร็วจนยากที่จะจำกัดกรอบ นี่คือวัฒนธรรมย่อยอีกสายหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความอึดอัดคับข้องของคนญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ถูกสังคมตั้งแง่ พวกเขาจึงใช้ “เสื้อผ้า” เป็นสื่อเพื่อประกาศจุดยืนและการต่อสู้ของตัวเอง
refinery29
เรื่องราวที่เรานำมาฝากผู้อ่านนี้ถอดความมาจากสารคดีของแชนแนล Refinery29 บนแพลตฟอร์ม YouTube
สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบรวมกลุ่ม (Conformity) ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเข้มงวดและกฎระเบียบที่ตรงเสียยิ่งกว่าไม้บรรทัด ไล่เรียงไปตั้งแต่ระเบียบเรื่องการแต่งตัวจนถึงวิธีการพูดการจา และการแสดงความคิดเห็น การจะทำตัวแหวกแนวทวนกระแสในสังคมเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ใคร่จะต้องการนัก พิธีกรสาวชาวอเมริกัน Connie Wang พาเราไปเยือนโลกของแฟชั่นที่ถนนทาเคชิตะโดริ ย่านฮาราจูกุ ที่นี่ คนที่มีสไตล์คือคนที่กล้าแต่งตัวเพื่อท้าทายกฎและกรอบของสังคม มีเทรนด์การแต่งตัวมากมายที่มีต้นกำเนิดมาจากย่านนี้ หนึ่งในนั้นคือ Yami Kawaii ซึ่งในภาษาอังกฤษหมายความว่า “sick cute” ที่เลือกที่จะท้าทายประเด็นต้องห้ามของสังคมญี่ปุ่นอย่างเรื่อง “โรคซึมเศร้า” ในฐานะที่เป็นอีกนิยามหนึ่งของความ “มีสไตล์”
แต่ Yami Kawaii แท้จริงแล้วคืออะไร? แล้วมันหน้าตาเป็นอย่างไรกันนะ?
refinery29
“ความน่ารักแบบที่รู้จักกันทั่วไปคือ Yume Kawaii (ในภาษาอังกฤษแปลว่า Cute like a dream) เป็นการแต่งกายที่เน้นโทนสีพาสเทลและของที่ดูน่ารัก ในทางตรงกันข้าม Yami Kawaii จะเน้นโทนสีที่ค่อนข้างเข้มและมืดหม่นกว่า อย่างสีดำมาผสม แต่งเพิ่มด้วยเครื่องประดับอย่างพวกเครื่องมือทางการแพทย์จำลองและของที่ดูประหลาดผสมปนกับความน่ากลัว (grotesque)” Kuua ศิลปินและอินฟลูเอนเซอร์ผู้หลงใหลในเทรนด์ Yami Kawaii ที่มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมเป็นจำนวนมากให้สัมภาษณ์กับ Connie
ในความเป็นจริง อาการซึมเศร้าดูจะเป็นอะไรที่ไม่น่าจะเข้ากับกระแสแฟชั่นของเด็กสาวได้เลย เพื่อจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถึงแก่น พิธีกรชาวอเมริกันของเราได้เดินทางไปพบกับ Bisuuko ศิลปินและนักวาดภาพประกอบผู้จุดประกายเทรนด์นี้ขึ้นมา ชายหนุ่มหยิบเสื้อสีหวานขึ้นมาโชว์ก่อนจะชี้ให้เห็นประโยค I love you ซึ่งถูกสกรีนลายอยู่ข้างๆ ประโยค I kill you สะท้อนความไม่เข้ากันบางอย่างระหว่างความน่ารักแบบสุดขั้วกับความดาร์คสุดหม่นมืดอันเป็นสัญลักษณ์ของ Yami Kawaii “สิ่งที่ทำให้เทรนด์นี้โดดเด่นคือการผสมรวมเอาความคาวาอี้กับอาการต่อต้านสังคมเข้าด้วยกัน และเพราะมันดูน่ารัก มันเลยไม่รบกวนความรู้สึกของใคร” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม
refinery29
ในงานของ Bisuuko มักจะมีตัวละครที่ชื่อ Menhera – chan เด็กสาวที่มาพร้อมกับคัตเตอร์ในมือ Menhera ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าคนที่กำลังเผชิญกับอาการป่วยทางจิต สำหรับ Bisuuko ซึ่งเป็นผู้วาด Menhera – chan เด็กสาวสุดลึกลับคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างขั้วสองขั้ว – ความป่วยไข้กับความน่ารัก ความย้อนแย้งอันเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใครหลายคน
refinery29
สำหรับบางคน Yami Kawaii คือสิ่งที่ช่วยสร้างพลังใจ…
“ผมสร้างตัวละคร Menhera – chan ขึ้นมาช่วงที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้น ผมอาศัยอยู่กับปู่กับย่าซึ่งมักจะชอบทำร้ายความรู้สึกด้วยคำพูดหยาบคาย ผมเลยเริ่มวาด Menhera – chan เพื่อจะหลีกหนีจากความเป็นจริงที่ตัวเองต้องเผชิญ ตอนแรก งานภาพนี้เป็นเหมือนกระบวนการ “รักษา” ทางด้านจิตใจ ทว่าในที่สุดมันก็ได้กลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว ซึ่งผมก็พยายามกับมันมาก”
refinery29
ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก การพูดถึงความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจในสังคมนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้าม และนั่นคือสิ่งที่ Bisuuko ต้องการจะเปลี่ยน
Yami Kawaii เป็นมากกว่าเรื่องของการแต่งตัว แต่มันคือกระบวนการรับมือกับอารมณ์อันซับซ้อนของมนุษย์สำหรับใครหลายๆ คนที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า หนึ่งในนั้นคือ Hanayo นางแบบและนักเขียนที่ได้แรงบันดาลใจจากงานของ Bisuuko
refinery29
“ตั้งแต่จำความได้ ฉันก็รู้สึกอยากตายมาตลอด คิดอยู่ตลอดเลยว่าตัวเองจะเกิดมาทำไม” ในอดีต Hanayo เคยเป็นดาวรุ่งในวงการนางแบบ เธอสามารถเข้ารอบสุดท้ายของการประกวด Miss iD ซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศ จนกระทั่งถูกปรับให้ตกรอบเมื่อพูดถึงการพยายามฆ่าตัวตายเมื่อครั้งในอดีต
Connie นั่งอยู่ในห้องกับ Hanayo ระหว่างที่เธอถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง
“ทุกวันนี้ฉันก็ยังอยากตายอยู่ นั่นไม่เคยเปลี่ยน”
“แสดงว่าเคยพยายามทำร้ายตัวเองมากกว่าหนึ่งครั้ง?” Connie ถาม
“ใช่ค่ะ ครั้งสุดท้ายที่ทำคือ ฉันกระโดดจากที่สูง หัวกระแทกทำให้เสียความทรงจำบางส่วนไป”
เรื่องราวของเธอกลายเป็นที่สนใจของแฟนๆ บนโลกออนไลน์ นั่นเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ช่วยซัพพอร์ทศิลปินหญิงคนนี้ Hanayo เล่าว่า ยังมีคนอีกมากที่รู้สึกแบบเดียวกันกับเธอ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เด็กสาวเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหามากมายที่เกี่ยวพันกับเรื่องของอารมณ์ เธอจึงใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเองขึ้นมา – สถานที่ที่เธอสามารถถ่ายทอดความรู้สึก การแต่งตัวและงานศิลปะของตัวเองให้เหล่าแฟนคลับได้ชื่นชม
refinery29
“ฉันแต่งตัวเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข เพราะมันช่วยให้ฉันรู้สึกดีขึ้น” Hanayo เล่า ขณะเปิดตู้เสื้อผ้าที่อัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้าสีหวานที่แอบซ่อนกิมมิคแบบดาร์คๆ นี่คือวิธีที่เธอใช้เพื่อบอกสังคมว่าเธอยังมีตัวตนอีกด้านที่ไม่ได้มีแต่ความคาวาอี้
“ที่ฉันยอมให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้นั่นก็เพราะอยากให้คนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตายได้เห็นผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น ถ้าเกิดทำไม่สำเร็จ แล้วลองกลับไปคิดดูใหม่อีกครั้ง”
ไม่ใช่แค่ “เสื้อผ้า” แต่นี่คือการ “เยียวยา”
สำหรับ Hanayo และ Bisuuko เสื้อผ้าสีหวานสุดน่ารักสำหรับพวกเขาคือกระบวนการในการเยียวยาจิตใจของตัวเอง ศาสตราจารย์ Joshua Paul Dale ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบที่เกิดจากวัฒนธรรมคาวาอี้ได้อธิบายในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า
“Cute หรือ น่ารัก ในภาษาอังกฤษมีนัยด้านลบบางอย่างติดอยู่ด้วย แต่ Kawaii ในภาษาญี่ปุ่นไม่มีนัยแบบนั้น ความ น่ารัก ในบริบทญี่ปุ่นสื่อถึงความสุขที่จริงแท้ เราจึงสามารถพูดได้ว่า Kawaii เป็นเรื่องของความรู้สึกในด้านดี การที่เด็กสาวเลือกแต่งตัวสไตล์นี้ก็เหมือนกับว่าพวกเธอกำลังบอกสังคมว่าตัวเองมีความปรารถนาอยากที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่น อยากที่จะสนิทสนมกับคนอื่น หรือแม้แต่สะท้อนว่าตัวเองกำลังต้องการการเยียวยาบางอย่าง ซึ่งนั่นช่วยทำให้คนที่ต้องเผชิญกับเรื่องมืดหม่นหรือปัญหาบางอย่างกล้าที่จะแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาโดยใช้ความน่ารักเคลือบทับไว้อีกชั้น”
refinery29
“ในต่างประเทศ ผู้คนมองอาการอย่างซึมเศร้าและอาการป่วยทางจิตอื่นๆ ไม่ต่างอะไรไปจากอาการบาดเจ็บทั่วไป แต่ในญี่ปุ่น พวกเขากลับมองเห็นแค่คนที่มีปัญหาและต้องการใครมาปลอบใจ อีกทั้งยังมองว่านั่นเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความอ่อนแอ ผมอยากที่จะเปลี่ยนแง่มุมด้านลบที่คนในสังคมมีต่อเรื่องนี้ การจะทำแบบนั้น ผมเลยเลือกใช้อารมณ์ด้านลบที่ทุกคนมีอย่างความมืดหม่นและความเศร้าซึมมาถ่ายทอดใหม่โดยใส่ความน่ารักลงไป”
Bisuuko อธิบาย งานของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กสาวหลายคน รวมไปถึง Haruka หนึ่งในแฟนคลับผู้ชื่นชอบสไตล์ Yami Kawaii
“ตอนนี้ Menhera – chan เริ่มดังแล้ว ฉันเลยรู้สึกว่ามันง่ายขึ้นและกล้าที่จะแสดงตัวตนของตัวเองออกมามากขึ้น อาจารย์ Bisuuko นี่แหละคือคนที่ช่วยฉันเอาไว้” เธอให้สัมภาษณ์ระหว่างที่ทั้งสามคน Connie, Bisuuko และ Haruka เดินเที่ยวเล่นด้วยกันอย่างไร้กังวลบริเวณย่านใจกลางเมือง
สำหรับ Connie เธอเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ตอนแรกก็เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมกระแสรองที่กำลังเป็นที่รู้จัก แต่เธอไม่คิดเลยว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรที่มากไปกว่าเรื่องของการแต่งกาย แต่มันยังแฝงไปด้วยเรื่องของความรักที่คอยชุบชูจิตใจผู้คน
refinery29
“ในยามที่คุณไม่กล้าแม้แต่ที่จะรักตัวเอง Yami Kawaii คือภาพสะท้อนของความหม่นมืดที่ถูกระบายด้วยสีพาสเทล เป็นเสมือนสัญญาณบอกสังคมว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาบางอย่างอยู่ และกำลังต้องการความรัก ซึ่งสำหรับคนที่กำลังจมอยู่ในหลุมของความเศร้า นั่นเป็นเรื่องที่กล้าหาญเอามากๆ”