หรือผิดจะเป็นครู ? เปิดโจทย์การบ้านเด็กที่ทำถูกแล้ว แต่ครูตรวจให้ผิด
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราต่างเห็นข่าวโจทย์อลเวง อย่างการตั้งคำถามกำกวม ไปจนถึงเรื่องเฉลยการบ้านผิดของครูผู้สอน ที่แม้มีหนังสือเฉลยคำตอบอยู่แล้วก็ตาม ทำให้ชวนสงสัยว่า โจทย์ที่เฉลยผิดนั้น มันยากจนอ่านทวนโจทย์ แล้วไม่รู้เลยหรือว่า คำตอบนั้น “ถูก” หรือ “ผิด” กันแน่ ว่าแล้ว มาไล่เรียงกันดูดีกว่าว่า โจทย์อลเวงที่ครูเฉลยผิดนั้น มีหน้าตาอย่างไรกัน
#โจ้จอยเก็บมะม่วง
ภาพจาก Facebook Phuan Pennapa
ถือว่าเป็นโจทย์อลเวงเลย สำหรับการเก็บมะม่วงของหนูจอย กับหนูโจ้ โจทย์คณิตศาสตร์ของเด็ก ป.1 ที่สามารถดึงแชมป์คณิตโอลิมปิกเอเชีย มาร่วมแก้โจทย์บวกและลบ ที่อยากรู้ว่า “โจ้เก็บมะม่วงได้มากกว่าจอยกี่ผล” ก่อนยืนยันว่า คำตอบของเด็ก ป.1 ถูกต้องแล้ว โจทย์ข้อนี้ต้องใช้เครื่องหมายบวก ไม่ใช่เครื่องหมายลบแบบที่ครูผู้สอน และชาวโซเชียลบางส่วนชี้แจง และเป็นไปตามคาด เมื่อครูยอมรับว่า ตรวจการบ้านเด็กผิด เพราะเร่งรีบและไม่ทันระมัดระวัง ประกอบกับเข้าใจว่า โจทย์ข้อนี้เป็นเรื่องการลบ
โจทย์เข็มนาฬิกา เจ้าปัญหา
ภาพจาก Facebook Apinya Emmad
เป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อย สำหรับการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ของเด็ก ป.2 เรื่องเข็มนาฬิกา ซึ่งโจทย์ถามว่า “เข็มสั้นหมุนจากตัวเลข 1 ไปถึงตัวเลข 3 เวลาผ่านไปเท่าไร” เด็กตอบว่า 2 ชั่วโมง แต่ครูเฉลยว่า 3 ชั่วโมง ทั้งอธิบายกับผู้ปกครองว่า เข็มทุกเข็ม เริ่มต้นจากเลข 1 ไม่ใช่เลข 12 ทำเอาบรรดาผู้ปกครองตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาตนเรียนรู้กันมาแบบผิด ๆ หรืออย่างไร ? แต่สุดท้าย ครูยอมรับว่า ตรวจการบ้านผิดจริง เนื่องจากดูหนังสือเฉลยคำตอบมาผิด
เมื่อคำว่า “ขี้เกียจ” กลายเป็นคำสะกดที่ผิด
ภาพจาก คุณ partipan สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
การตรวจการบ้านเด็ก ยังคงเป็นประเด็นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ครั้งนี้ ไม่ใช่โจทย์คณิตศาสตร์ แต่เป็นวิชาภาษาไทย ที่เปิดให้นักเรียน ป.3 อ่านหนังสือนิทาน ก่อนวิเคราะห์สิ่งที่ได้จากการอ่าน เรียกว่า เป็นการบ้านที่เปิดกว้างทางความคิด ไม่น่ามีถูกผิด นอกจากเรื่องตัวสะกด และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น คือ ครูตรวจการบ้านของเด็ก พร้อมเปลี่ยนคำสะกดว่า “ขี้เกียจ” ให้เป็น “ขี้เกลียด” ทำเอาเด็กและผู้ปกครองงงว่า คำนี้สะกดผิดตรงไหน
แม่ค้าขายกุ้ง แต่กลับถามเหลือเงาะกี่ถุง
ภาพจาก คุณอรอุมา
รอบนี้ เฉลยการบ้านไม่ผิด แต่โจทย์ผิดนะจ๊ะ ส่วนจะผิดอย่างไร ลองไปดูคำถามการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ป.3
กัน “แม่ค้าซื้อกุ้งมา 130 กิโลกรัม ขายได้ 97 กรัม 600 กรัม แม่ค้าเหลือถุงเงาะกี่ถุง” พอเห็นโจทย์แบบละเอียดอย่างนี้ ไม่แปลกที่หลายคนจะสงสัยว่า โจทย์ข้อนี้ต้องการสื่อถึงอะไรกันแน่
อย่างไรก็ดี ปัญหาเฉลยผิด หรือโจทย์ผิดนั้นมีให้เห็นอยู่เป็นระยะตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหลายครั้งความผิดพลาดที่ว่า เกิดจากตัว “ครู” ผู้สอนเอง หรือกระทั่งหน่วยงานส่วนกลาง ผู้ทำหน้าที่ออกข้อสอบโอเน็ต ก็ยังเคยพลาด ทั้งตั้งคำถามกำกวมที่ว่า “หากเกิดอารมณ์ทางเพศ ต้องทำอย่างไร ? ” หรือพิมพ์นามสกุลศิลปินแห่งชาติ ด้านนาฏศิลป์ผิด จนต้องให้คะแนนผู้สอบฟรี ๆ
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า คุณภาพบุคลากรครูนั้นเพียงพอต่อการสอนเด็กหรือไม่ และการตั้งโจทย์ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เด็กเดินตามแนวเดียวกันทั้งที่มีวิธีคิดคำตอบหลายวิธีนั้นถูกต้องแล้วหรือ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว อนาคตของการศึกษาไทย จะเดินไปในทิศทางใด