"ฝุ่น PM 2.5" จะผ่านไป แล้วไงต่อ? การแก้ปัญหาฝุ่นๆ ที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นที่ตัวเอง
ช่วงนี้เรียกว่ากรุงเทพกำลังอยู่ในช่วง วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่มีรโอกาสที่จะซึมซีบเข้าสู่ร่างกายและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ผลกระทบจากฝุ่นดังกล่าวมีมากมาย ทั้งโรคปอด และโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ รวมไปถึงภาวะทางจิตอีกด้วย
ทางสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาพิเศษเรื่อง “ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” โดยได้พูดถึงแนวทางการออกแบบเมือง อาคาร บ้านพักอาศัย เพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 จากมุมมองด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ โดยสรุปความได้ว่า
การแก้ปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทุกคนสามารถทำได้นั่นก็คือ ออกแบบบ้านของตัวเอง ดูว่าเราสามารถทำอะไรกับบ้านของเราได้บ้าง เครื่องกรองอากาศ การออกแบบอาคารโดยดูทิศทางของแดดและลม การเอาต้นไม้มาช่วยในการกรองอากาศ เพราะไม่ใช่เพียงแค่รถยนต์ที่สร้างฝุ่นดังกล่าวอย่างเดียว สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็สร้างฝุ่นด้วยเช่นกัน เช่น บ้านที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นเวลานาน หรือช่องเล็กๆ ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นต้องวางให้มีช่องเปิดรับลม
การจัดห้องนอนก็สำคัญเช่นกัน อย่างเช่น ห้องนอนผู้สูงอายุ ตอนแรกตั้งไว้ในทางทิศตะวันออก หรือเหนือ เพื่อรับลมและอากาศที่ถ่ายเท ช่วยในการหายใจ อาจต้องเปลี่ยนมาตั้งไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้แทน และเอาต้นไม้มาช่วยในการกันลมพัดพาฝุ่นมา โดยหาต้นไม้ที่ไม่ต้องการแดดจัดและสามารถดักจับฝุ่นได้
นอกจากนั้นการนำต้นไม้มาช่วยกรองอากาศ ช่วยสร้างความชื้น ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยต้องดูว่าต้นไม้ประเภทไหนช่วยกรองฝุ่น 2.5 ได้ โดยดูที่ใบ ใบที่ดีต้องมีลักษณะคล้ายใบสน ใบเล็กแหลม และแน่น แต่บ้านเรามีต้นไม้ประเภทนี้ไม่เยอะ แนะนำให้ปลูกต้นเข็มเล็ก ช่วยในการดักจับฝุ่นได้ โดยเฉพาะในเมืองที่มีการชุมนุมของฝุ่นเป็นจำนวนมาก ควรตกแต่งด้วยต้นไม้ โดยอาจจะนำมาประดับตกแต่งผนัง แทนการใช้กระเบื้อง และยังเป็นอีกหนทางที่ช่วยให้เมืองร่มรื่นและเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้นอีกด้วย