ป.เอกนิเทศศาสตร์การตลาด ม.หอการค้าไทยวิจัยผ้าย้อมครามสกลนครตอกย้ำอัตลักษณ์สู่ระดับเวิลด์คลาส
ผ้าย้อมครามสกลนคร ถือผ้าพื้นเมืองภาคอีสานภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน เป็นเอกลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ ประจวบเหมาะกับรัฐบาลได้มีวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ยกระดับมาตรฐานสินค้ากลุ่มผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม และส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในระดับภูมิภาค นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรี ได้มีนโยบายส่งเสริมให้อนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน
คุณจิรภัทร เริ่มศรี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า “ผมเกิดความสนใจศึกษาเกี่ยวกับผ้าย้อมคราม เนื่องจากผมเองเป็นคนในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันมีการผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมครามมีจำนวนมากแต่หลายหมู่บ้านยังไม่มีอัตลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น เพราะต่างคนต่างผลิตทำให้รูปแบบของผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย จึงมองว่าการค้นหาอัตลักษณ์ของผ้าย้อมครามเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสะท้อนให้ผู้บริโภคได้เห็นความเป็นตัวแทนของจังหวัดสกลนครผ่านผ้าย้อมคราม เพราะผ้าย้อมครามไม่ได้มีที่จังหวัดสกลนครที่เดียว จึงได้เกิดงานวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์ผ้าย้อมครามสกลนคร” โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับแผนงานเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ ตามทิศทางยุทธศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ประเภทบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาเอก ประจำปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลก็จะได้รับการสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกเพื่อการวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลส่งเสริมงานอนุรักษ์ศิลปะผ้าย้อมคราม และการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และด้านการตลาดของผ้าย้อมครามสกลนคร อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หอการค้าจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ในจังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการผ้าย้อมคราม เป็นต้น”
“งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตผ้าย้อมครามในจังหวัดสกลนคร นำจุดแข็งของชุมชนทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่มีอัตลักษณ์เชื่อมโยงสู่ภาคการผลิตและบริการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งตราสินค้าที่จะต่อสู้กับธุรกิจอุตสาหกรรมผ้าทอขนาดใหญ่ ช่วยให้ผู้บริโภคได้ประเมินคุณภาพและเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนของผ้าย้อมครามจังหวัดสกลนคร ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างผู้บริโภคกับชุมชน เกิดความยั่งยืนในวิถีเศรษฐกิจ มีการพัฒนารูปแบบสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มผ้าย้อมครามให้คงอยู่ต่อไป ที่สำคัญสร้างอัตลักษณ์ผ้าย้อมครามสกลนครในเวทีผ้าระดับโลก ผ้าย้อมครามเป็นภูมิปัญญาที่มีในเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน และของทวีปเอเชียและยุโรป ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปพัฒนารูปแบบการสื่อสารการตลาด เพื่อเผยแพร่และตอกย้ำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของอัตลักษณ์ผ้าย้อมครามที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น สามารถนำข้อมูลไปปรับใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมช่วยเพิ่มรายได้ของตนเองและครอบครัวได้”
รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “งานวิจัยเรื่องนี้ยังสามารถนำไปเป็นประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมผ้าย้อมให้เป็นสินค้าวัฒนธรรมที่สามารถสร้างรายได้ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในยุค 4.0 ได้ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด การวิจัยด้านองค์ประกอบทางเคมีของครามธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจกับคุณสมบัติของครามเพื่อนำมายกระดับคุณภาพการผลิตของผู้ประกอบการให้สามารถผ่านการประเมินคุณภาพได้รับการรับรองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น Green Products Certificate เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามเป็นสินค้าที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม GI Certificate ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ เป็นแนวทางการอนุรักษ์ศิลปะอัตลักษณ์ความเป็นผ้าย้อมครามสกลนครให้สืบทอดต่อไป และยังเป็นแนวทางในการศึกษาการสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้ ไม่เฉพาะในเขตสกลนคร แต่ในจังหวัดอื่นๆ ได้ นอกจากนั้นในด้านการศึกษาพบว่าในอียิปต์ยังพบว่ามีการนำเอาศิลปะการย้อมครามโบราณดั้งเดิมในยุคฟาโรห์หลายพันปีมาเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับเด็กได้ดี ซึ่งเราก็สามารถทำได้เช่นกัน ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามที่จริงแล้วเป็นศิลปหัตถกรรมอันเป็นมรดกของโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทยครามเป็นสินค้าสำคัญที่มีตั้งแต่ยุคโบราณ ในการค้าขายตามเส้นทางโบราณสายไหม (Silk Road) ครามก็เป็นสินค้าสำคัญในขบวนคาราวานสินค้า การย้อมผ้าครามมีในเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน และของทวีปเอเชียและยุโรป”
“ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าผู้ประกอบการผู้ย้อมครามแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในสกลนคร พูดถึงแรงบันดาลใจในการกลับมารื้อฟื้นการผลิตผ้าย้อมครามของครอบครัวที่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการผลิตและใช้ผ้าย้อมครามกันมาก และจากการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นมาเมื่อปีใหม่ก็พบว่ามีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าย้อมครามในเมืองนากาโน ซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดต่อยอดความร่วมมือสร้างความร่วมมือทางวิชาการกันได้ไม่ยาก เพราะเรามีความสนใจร่วมกัน และญี่ปุ่นก็เป็นลูกค้าสำคัญที่มาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามจากผู้ประกอบการในจังหวัดสกลนครที่สำคัญเอาใกล้ตัวเราคือกลุ่มประเทศอาเชียน ก็มีการผลิตผ้าครามกันทั้งนั้น แต่หากเราจะโฟกัสกันประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกันเช่น กัมพูชา ลาว ก็มีองค์กรที่รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ศิลปะผ้าย้อมครามกันมาก ในประเทศกัมพูชามีการรณรงค์กันมากเพราะอยู่ในสภาพของการเสี่ยงที่จะสูญหายไป ที่กัมพูชาได้รับการช่วยเหลือในเรื่องนี้จาก NGO ของประเทศญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นโอกาสในการนำไปต่อยอดสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติมากขึ้น” รศ.ดร.จันทิมา กล่าวทิ้งท้าย