มารยาทบนโต๊ะอาหารกับความรู้สึกรับได้ในแต่ละเจนฯ
ยุคนี้เวลาออกไปกินข้าวนอกบ้านไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อน กับแฟน หรือกับครอบครัว สิ่งที่เราเห็นจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วคือคนที่ร่วมโต๊ะจะหยิบโทรศัพท์ของตนเองขึ้นมาเพื่อส่งข้อความบ้าง เช็กโซเชียลมีเดียของตนเองบ้าง หรือ คุยโทรศัพท์เสียงดังบนโต๊ะอาหาร เหล่านี้กลายเป็นเรื่องยอมรับได้สำหรับคนรุ่นใหม่ ขณะที่ คนรุ่นเก่าได้แต่ส่ายหัว และ ต้องอดทนไปกับพฤติกรรมดังกล่าวเนื่องจากเป็น วัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นตามกระแสของยุคสมัย (ใครไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบนโต๊ะอาหาร จะกลายเป็นเรื่องแปลก)
เมื่อวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหารในอดีตต้องชนกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงทำให้เกิดการสำรวจอันเป็นความร่วมมือ กันระหว่าง YouGov Omnibus กับ Yahoo เพื่อหาคำตอบว่ามารยาทบนโต๊ะอาหารที่เปลี่ยนไป มีคนในช่วงวัยใดยอมรับได้บ้าง โดยแบบสำรวจนั้นได้สอบถามคนอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่มีมารยาทบนโต๊ะอาหารอย่างเคร่งครัด ผลสำรวจเป็นอย่างไรบ้างนั้น เราไปดูกัน
การรับโทรศัพท์บนโต๊ะอาหาร
จากผลสำรวจนั้น ปรากฎว่าถ้ามีการรับโทรศัพท์บนโต๊ะอาหารสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุ 18 -24 ปีนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ถ้าคุณมีนัดดินเนอร์กับคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ต้องพยายามที่จะไม่รับโทรศัพท์ เพราะมีเพียง 24 เปอร์เซนต์ เท่านั้นที่คิดว่าการรับโทรศัพท์บนโต๊ะอาหารเป็นเรื่องที่ยอมรับ ที่เหลือของกลุ่มนี้มองว่าเป็นเรื่องเสียมารยาท และถ้าต้องรับสายนั้นจริงๆ ก็ควรจะขอตัวออกไปคุยด้านนอก
การส่งข้อความบนโต๊ะอาหาร
ที่นี้มาดูเรื่องของการส่งข้อความกันบ้างดีกว่า ดูเหมือนว่าการก้มหน้าก้มตาเพื่อส่งข้อความผ่านแอพลิเคชั่นทั้งหลายนั้นน่าจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยน่าทำเท่าไรถ้าคุณไม่ได้ออกไปกินข้าวกับกลุ่มเพื่อน เนื่องจากผลสำรวจนั้นพบว่า คนอังกฤษ ที่มีอายุ 18-24 ปี และ 25-34 ปีนั้นคิดว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าจะส่งข้อความ ในขณะที่กำลังดินเนอร์กันอยู่ แต่คนที่มีช่วงอายุ 45-54 ปีขึ้นไป มองว่าการส่งข้อความระหว่างดินเนอร์นั้นเป็นเรื่องที่เสียมารยาทมาก และไม่ควรทำเลยไม่ว่าจะกรณีใดๆก็ตาม
การเช็กโซเชียลมีเดียบนโต๊ะอาหาร
และการเช็คโซเชียล มีเดีย ไม่ว่าจะเป็นอินสตราแกรม ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค บนโต๊ะอาหาร กลายเป็นนิสัยของคนในปัจจุบันไปแล้วและเช่นเดียวกับผลสำรวจด้านบนที่ คนในช่วงวัย 18-24 ปีและ 25-34ปีนั้นมีจำนวนคนที่รับได้มากกว่าที่รับไม่ได้ แต่สำหรับคนที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปีนั้นมีเพียงหนึ่งในแปดคนเท่านั้นที่มองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
ทั้งนี้ผลสำรวจดังกล่าวเป็นผลสำรวจสำหรับคนอังกฤษ แต่สำหรับสังคมไทยแม้จะยังไม่มีผลสำรวจ แต่สิ่งที่คุ้นชินกับการคุยโทรศัพท์ในโต๊ะอาหาร ส่งข้อความ หรือ นั่งส่องโลกโซเชียล ไปจนถึงการใช้เฟซไทม์ แบบเปิดเสียงให้คนอื่นได้ยินไปทั่วทั้งร้านอาหาร หรือเปิดไอแพดดูหนังฟังเพลง โดยไม่ใส่หูฟัง เหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติ ของคนทุกรุ่นในสังคมปัจจุบัน และกลายเป็นเรื่องรับได้ของหลายคน ที่คิดว่า “ฉันมีสิทธิ” แต่ไม่รู้ว่า สิทธิของตนเองนั้นได้รบกวนคนที่ร่วมโต๊ะ หรือ คนอื่นในร้านอาหารหรือไม่