"งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ" ไปงานนี้มีอะไรที่ควรจับตามองบ้าง
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย เริ่มจัดกิจกรรมครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 แต่ละมหาวิทยาลัยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุกปี ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพจะได้รับเกียรติให้ขึ้นต้นชื่องานฟุตบอลประเพณีในปีนั้น
กิจกรรมภายในงานอาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การแข่งขันฟุตบอล และกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนิสิตจุฬาฯ กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น การเดินพาเหรด การเชียร์ การแปรอักษร ขบวนพาเหรดล้อการเมืองและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งในครั้งนี้เราก็จะพาเพื่อนๆ มาดูไฮไลท์ กิจกรรมน่าสนใจ เรื่องน่ารู้ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ กันหน่อยว่าในแต่ละปีเราควรจับตามองอะไรบ้าง
เสื้องานบอล
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และทุกคนก็อยากที่จะมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนี้ ดังนั้นการมีเสื้องานบอลเอาไว้ใส่ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงาน และแบ่งทีมกันได้อย่างชัดเจน ว่าอยู่ ทีมจุฬาฯ หรือ ทีมธรรมศาสตร์ และต้องบอกเลยว่าเสื้อแต่ละปีก็ออกแบบมาได้สวยแบบสุดๆ ไปเลย ใครไปร่วมงานก็อย่าลืมใส่เสื้อด้วยล่ะ
Chula Cute Boy และ TU Sexy Boy
ข้อนี้คงจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยสำหรับ หนุ่มๆ จากสองสถาบัน ที่เราคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากแฟนเพจ Chula Cute Boy และ TU Sexy Boy ที่เปรียบเสมือนแมสคอตประจำงานนั่นเอง บอกได้เลยว่างานนี้ หนุ่มๆ ที่คุณชื่นชอบรอให้คุณได้ไปกระทบไหล่อยู่ในงานนะ ชอบหนุ่มคนไหนอยากเจอใครก็ขอเข้าไปถ่ายรูปกันได้รัวๆ และที่สำคัญล่าสุด Chula Cute Boy และ TU Sexy Boy ได้ร่วมมือเฉพาะกิจนำเหล่าหนุ่มๆจาก 2 สถาบัน ‘ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ’ มาประชันความหล่อถ่ายภาพโปรโมตงาน โดยในปีนี้มาภายใต้คอนเซ็ปท์ "พี่น้องเพื่อนพ้องสองสถาบัน" เตรียมต้อนรับสู่ “งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73” อีกด้วย
ขบวนล้อการเมือง
นับว่าเป็นหนึ่งไฮไลท์เด็ดของทางฝั่งธรรมศาสตร์เลยจริงๆ สำหรับขบวนล้อการเมือง ที่เรียกว่าเป็นที่จับตามองและเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียลในทุกๆ ปี เพราะว่าในแต่ละปีนั้นทางฝั่งธรรมศาสตร์นั้นจัดเต็มจัดหนัก เล่นได้ถูกจุด นำเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาล้อเลียนได้อย่างสนุกสนาน ก็ต้องรอดูแล้วแหละว่าในปีนี้ทางฝั่งธรรมศาสตร์จะทำออกมาได้น่าติดตามแค่ไหน?
แปรอักษร
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นสีสันและน่าติดตามในทุกๆ ปีจริงๆ สำหรับการแปรอักษรของงานบอล เพราะรูปแบบการแปลอักษรของแต่ละปีก็จะเปลี่ยนแปลงไป ดูแล้วเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกันแบบสุดๆ ซึ่งอันนี้ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่นักศึกษา นิสิต สามารถเข้าร่วมแปรอักษรได้เหมือนกันนะ เพราะสแตนเขาเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนได้มีส่วนร่วม โดยทุกคนจะมีหมายเลขที่นั่ง เพจ และล็อกสี เอาไว้ โดยจะมีเหล่าสตาฟสอนการแปรหน้างานเลยด้วย
เชียร์ลีดเดอร์
แน่นอนว่ารเมื่อมีการแข่งขันกีฬากันแล้ว ก็คงจะไม่มีกองเชียร์ไม่ได้ เพราะเชียร์ลีดเดอร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีการคัดเลือกกันในทุกๆ ปี ก่อนที่จะมาแสดงโชว์กันในงานกันแบบจัดเต็มทุกๆ ปี ต้องบอกเลยว่านอกจากความสามารถเชียร์ลีดเดอร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยจะเก่งและดีแล้ว หน้าตายังดีอีก ทั้งฝั่งหญิงและฝั่งชายเลย
การแข่งขันฟุตบอล
เพราะนี่คือ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ ถ้าจะไม่กล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอล ก็ไม่ใช่แล้ว โดยงานฟุตบอลประเพณี จะแตกต่างจากกีฬามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปคือ นักกีฬาของทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน จากทางมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยมักจะให้นิสิตนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าที่เป็นนักฟุตบอล ทีมชาติของประเทศไทยมาแข่งขันกันเลยด้วย