"เคารพธงชาติ" ของประเทศไทย จุดเริ่มต้น เริ่มเมื่อไหร่ มีเพราะอะไร?
สิ่งที่เราทำกันทุกเช้าตั้งแต่เด็กในโรงเรียนนั่นก็คือการเคารพธงชาตินั่นเอง แล้วรู้กันรึเปล่าว่า การเคารพธงชาตินั้นมีจุดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และเพราะอะไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลย
การเคารพธงชาตินั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 14 กันยายน 2485 โดยในยุคนั้นเป็นยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีกำหนดให้ยืนเคารพเพลงชาติในเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความรู้สึกรัฐนิยมและความภูมิใจในความเป็นชาติไทย
กำเนิดเพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2482 "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
การเริ่มต้นยืนเคารพธงชาติ
จุดเริ่มต้นสำคัญมาจาก คือ รายการวิทยุประเภทสนทนา ระหว่างนายมั่น และนายคง หนึ่งในเครื่องมือการโฆษณาแนวคิดรัฐนิยมของจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หนึ่งในบทสนทนาระหว่างนายมั่นและนายคง ช่วงก่อนถึงวันชาติ ในปี 2485 คือ
“เวลา ๘.๐๐ น. เป็นเวลาชักธงชาติขึ้นสู่เสาทั่วราชอาณาจักร เวลานี้แหละเป็นเวลาสำคัญที่สุดประจำวันของเรา กรมโฆษณาการได้ประกาศเชิญชวนข้าราชการและประชาชนในที่ทุกแห่งไปยืนนิ่งระวังตรง เพื่อแสดงความเคารพต่อธงชาติไทยเป็นเวลา ๕ วินาที หรือจนกว่าการบรรเลงเพลงชาติโดยทางวิทยุกระจายเสียงจะได้จบลง หรือจนกว่าสัญญาณอื่นๆ ในการชักธงชาติได้จบลง”