5 วรรณกรรมเยาวชน ที่มีความสนุก อ่านแล้วรู้สึกเพลินๆ
หนังสือคือรากฐานที่ดีของชีวิต เนื่องในเทศกาลวันเด็กปีนี้ Tonkit360 ถือโอกาสชวนทุกท่านมาอ่านวรรณกรรมเยาวชนที่จะทำให้คุณเข้าใจเด็กๆ มากขึ้น รวมถึงอาจจะทำให้นึกย้อนถึงตัวเองตอนเป็นเด็กได้อีกด้วย บางเล่มหลายท่านอาจเคยเห็นผ่านหูผ่านตา หรืออาจเคยอ่าน เสาร์-อาทิตย์นี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ในการพักสายตาจากจอโทรศัพท์ มาอ่านกระดาษสีนวลๆ ในหนังสือกันบ้าง
1.โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
หนังสือเล่มนี้เล่าถึง ด.ญ.โต๊ะโตะจัง ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเดิม และเริ่มเป็นนักเรียนของโรงเรียนใหม่ โรงเรียนโทโมเอ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเธอ เพราะเด็กๆ นั่งเรียนกันในตู้รถไฟเก่า เธอมีเพื่อนที่หลากหลายและคุณครูที่เข้าใจโต๊ะโตะจัง อย่างคุณครูโคบายาชิ โต๊ะโตะจังคือเรื่องเล่าผ่านประสบการณ์จริงของคุณเท็ตสึโกะ คุโรยานางิ ซึ่งต่อมาได้เขียนเรื่องนางสาวโต๊ะโตะไว้ด้วย โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นวรรณกรรมเยาวชนสัญชาติญี่ปุ่นที่อ่านเพลิน สนุก ไม่ซับซ้อนแต่ชวนให้คิดถึงตัวเองในวัยเด็ก ลึกลงไปกว่านั้น หนังสือเล่มนี้อาจะชวนให้ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาเลยก็เป็นได้
2.เด็กชายในชุดนอนลายทาง
เด็กชายในชุดนอนลายทาง มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์สุดด่างพร้อยของประเทศเยอรมนี ในยุคเผด็จการของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซี เรื่องเล่าถึงบรูโน เด็กชายวัย 8 ขวบ ที่ต้องย้ายจากบ้านหลังใหญ่ในเบอร์ลิน ตามพ่อที่เป็นนายทหารยศใหญ่มาอยู่ที่ “เอาท์วิธ” (เสียงใกล้เคียงกับเอาชวิทซ์ค่ายกักกันยิวของนาซี) ที่นี่บรูโน่ไม่มีเพื่อนวัยไร่เรี่ยกันอยู่เลย เขากลับพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งอยู่นอกรั้วบ้าน คนพวกนั้นเป็นผู้ชายทั้งเด็ก-แก่ และทุกคนล้วนสวมชุดนอนลายทาง หลังจากตัดสินใจเดินสำรวจ ทำให้เขาได้พบกับชมูเอลเด็กชายในชุดนอนลายทาง เขาทั้งคู่นั่งพูดคุยกันผ่านรั้วกั้น แบ่งปันอาหารและเรื่องเล่ามากมาย เกิดเป็นมิตรภาพริมรั้วขึ้น หนังสือเล่มนี้จะทำให้คนอ่านเหมือนมีก้อนบางอย่างมาจุกอยู่ที่คอเป็นระยะ ผ่านเรื่องเล่าเรียบง่ายแต่ทรงพลัง แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก แต่เด็กชายในชุดนอนลายทางนับเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวในมิติของปัจเจก ผ่านสองเด็กชายตัวเล็กๆ ได้สะเทือนใจที่สุดเรื่องหนึ่ง
3.โมโม่
วรรณกรรมเยาวชน ภาษาเยอรมัน ของมิชาเอล เอ็นเด เล่มนี้ค่อนข้างแฟนตาซี เขาเล่าเรื่องผ่าน “โมโม่” เด็กผู้หญิงมอซอไร้บ้าน แต่เธอคือคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เธออยู่ หลังกลุ่มผู้ชายสีเทาเข้ามาในเมือง ทำให้ทุกคนเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มทำงานหนัก ไม่พูดจากันให้เสียเวลา ไม่สนใจคนอื่น เรื่องนี้ทำให้โมโม่โดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ จนเธอต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก่อนที่ทุกคนจะไม่คุยกัน วรรณกรรมเยาวชนที่มีเนื้อหาเกินเด็กเล่มนี้ จะพาให้ทุกคนมาฉุกคิดเรื่องการใช้เวลา ความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนรอบตัว รวมถึงจินตนาการที่อาจจะหล่นหายไปตามการเติบโตของเรา เอาเป็นว่า อ่านสนุก ชวนติดตาม และช่วยเพิ่มเติมจินตนาการที่อาจจะหลบอยู่มุมใดมุมหนึ่งในตัวเรา
ขอบคุณภาพจาก ครูนอกกะลา
4.ต้นส้มแสนรัก
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้เขียนโดยโจเซ่ วาสคอนเซลอส เขาเล่าถึงเด็กชายเซเซ่ ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการและซุกซนตามวัย เขาเกิดในครอบครัวใหญ่ที่ยากจน ด้วยความดื้อและซนของเซเซ่ทำให้เขาถูกทำโทษแรงๆ อยู่บ่อยครั้งจนทำให้เซเซ่คิดว่าไม่มีใครรักเขา เซเซ่สร้างโลกจินตนาการที่จะทำให้เขามีความสุข มีเพื่อนใหม่เป็นต้นส้มพูดได้ ขณะที่ในโลกของความจริงก็พาให้เขาพบมิตรแท้ที่เป็นทั้งเพื่อน ทั้งครอบครัว ต้นส้มแสนรักเดินเรื่องแบบเรียบง่ายค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้อ่านค่อยๆ ผูกพันกับตัวละคร ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ต้นส้มแสนรัก ขึ้นแท่นเป็นวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมที่สุดเล่มหนึ่งของวงการ
5.เด็กสาวจากดาวใส
เด็กสาวจากดาวใส พูดถึง Stargirl เด็กใหม่ที่พึ่งย้ายมาในโรงเรียน หนูดาวทำให้ทุกคนในโรงเรียนจับจ้องไปที่เธอ ด้วยพฤติกรรมแปลกประหลาด หรือบางอย่างก็เข้าขั้นเพี้ยน แรกๆ ทุกคนชอบและสนใจเธอ แต่ยิ่งนานวัน ความแปลกประหลาดไม่เหมือนคนอื่นของ Stargirl กลับทำให้ทุกคนผลักเธอออกจากสังคม มีเพียงตัวเลือกว่าจะเปลี่ยนตัวเองให้เข้าพวก หรือเป็นตัวเองที่แตกต่างต่อไป ท่ามกลางผู้คนและสังคมที่กดดัน เด็กสาวจากดาวใส เป็นหนังสือเล่มบาง อ่านง่าย ชวนให้ติดตามชีวิตของหนูดาวกับสังคมเล็กๆ ในโรงเรียนของเธอ อีกทั้งยังทำให้ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าถ้าเราเป็นหนูดาว เราจะเลือกอย่างไร หรือแท้จริงแล้ว เราทุกคนต่างมีความเป็น Stargirl ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวเอง
วรรณกรรมเยาวชนนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มอ่านหนังสือ หากเราหยิบหนังสือถูกเล่ม หนังสือเล่มนั้นก็จะเป็นมิตรกับเราไปจนตาย และความมหัศจรรย์หนึ่งของหนังสือ คือแม้จะเป็นหนังสือเล่มเดียวกัน แต่เมื่อเราหยิบมาอ่านในช่วงวัยที่ต่างกัน เราก็จะตีความมันแตกต่างกันไปตามวุฒิภาวะที่โตตามวัย วรรณกรรมเยาวชนไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กๆ เท่านั้น หากแต่ยังมีไว้สำหรับผู้ใหญ่ ให้ได้ทบทวนตัวเองที่ผ่านหรืออาจจะหลงลืมวัยเด็กไปแล้ว และสุดท้ายให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้โลกผ่านแววตาของเด็กๆ ที่แสนจะสดใสและมีจินตนาการล้นเหลือ