“เรียนศิลปะ จบมาแล้วจะทำงานอะไร?” คำถามที่ควรหมดไปได้แล้ว
เมื่อพูดถึงการเรียนวาดรูป เรียนศิลปะ เรียนดนตรี การแสดง หรือสาขาอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นอยู่ในปัจจัย 4 หรือความต้องการพื้นฐาน ความคิดคนทั่วไปที่ไม่เก็ตก็จะเกิดคำถามขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจว่า “เรียนจบไปแล้วจะทำงานอะไรได้อะ?”
พูดกันตามตรงในฐานะนักเรียนศิลปะ ต้องบอกว่าตอบยากเหมือนกัน เพราะคณะเกี่ยวกับศิลปะโดยตรงไม่ได้มีอาชีพตายตัว ถึงแม้เราจะมีหลายวิชาเอก แต่ที่ไม่สามารถตอบได้เลยทันทีว่าจะทำอะไร เพราะมันทำได้ทุกอย่างไงล่ะ!
คนภายนอกอาจจะคิดว่าเราเรียนแต่วาดรูปอย่างเดียว ซึ่งนั่นไม่ใช่ ในเมื่อเข้าในระบบของมหาวิทยาลัยเราก็ต้องเรียนวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน เลือกเรียนวิชาตามหมวดที่บังคับ (อย่างเช่น หมวดวิทย์คณิตต้องเรียนกี่หน่วยกิต ต้องลงวิชาหมวดสังคมกี่หน่วยกิต อะไรก็ว่าไป) และในวิชาของคณะเองก็ไม่ใช่แค่วาดรูป แต่ยังมีทฤษฎี ประวัติศาสตร์ การทำวิจัย ทำวิทยานิพนธ์ รวมถึงได้ติดต่อประสานงานต่างๆ ถ้าต้องจัดแสดงผลงาน การทำงานร่วมกับคนอื่น ยังไม่นับรวมกิจกรรมมหาวิทยาลัยที่ถ้าได้ร่วมก็จะมีประสบการณ์ติดไปแบบไม่รู้ตัว แทบจะเป็นการบูรณาการสิ่งที่เรียนมาได้ครบทุกอย่าง
อาชีพโดยตรงสำหรับคนที่เรียนศิลปะ ถ้าเป็น Fine Art (ศิลปะบริสุทธิ์) ก็คือ ศิลปิน ส่วนคนที่เรียนออกแบบ ก็มีสายงานของตัวเอง เช่นถ้าเรียนแฟชั่นก็เป็นดีไซน์เนอร์ เรียนออกแบบนิเทศศิลป์ก็จะมุ่งไปทางกราฟฟิก ซึ่งความจริงแล้วไม่ว่าจะเรียนด้านไหนมาก็ตาม เราสามารถทำได้ทุกอย่าง
จริงอยู่ที่ศิลปะ บันเทิง เป็นเรื่องรองที่ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้แฝงอยู่รอบตัวเราโดยที่เรามองข้ามไป เมื่อสื่อใหม่ๆ อย่างสื่อออนไลน์ หรือธุรกิจออนไลน์เริ่มมีอิทธิผล สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกหนึ่งอาชีพนั่นคือกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ ซึ่งจะเป็นใครล่ะถ้าไม่ใช่นักศึกษาศิลปะ?
มีงานวิจัยออกมาเหมือนกันเกี่ยวกับการทำงานของเด็กจบใหม่ ยังพบว่าทำงานไม่ตรงสายที่เรียนกันถึง 60% เกินครึ่งขนาดนี้ก็ชี้ชัดแล้วว่าไม่ว่าเราจะเรียนอะไรมาก มันขึ้นอยู่กับการปรับตัวของตัวเองในการทำงานมากกว่า ไม่ว่าจะเรียนอะไรมาแต่ถ้าปรับตัวไปกับสังคมและกระแสไม่เก่งก็คงอยู่ยากเหมือนกัน
ถามว่านักเรียนศิลปะจบไปแล้วไปทำอะไรได้บ้าง? คำตอบที่ว่า ทำได้ทุกอย่าง ไม่เกินความจริงเลย คนที่จบไปเป็นศิลปินโดยตรงเลยก็มี (แต่เป็นส่วนน้อยมาก) หรือต่อยอดไปเป็นครู เป็นอาจารย์ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ไปทำงานดีไซน์ ทำงานเกี่ยวกับสื่อ หรือทำอะไรที่ฉีกแนวไปเลยอย่างแอร์โฮสเตสและสจ๊วตก็มี
ก็ไม่แปลกหรอกที่คนทั่วไปจะคิดว่าการเป็นศิลปินนั้นไส้แห้ง ไม่มีจะกิน เพราะประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับศิลปะเป็นเรื่องหลักอยู่แล้ว และไม่ได้ปลูกฝังคนทั่วไปให้เข้าถึงศิลปะมากนัก ศิลปินหลายๆ คนจำเป็นต้องทำงานประจำหรือรับงานเสริมเพื่อนำเงินส่วนนั้นมาสร้างงานศิลปะของตัวเองอีกที
ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเรียนอะไรมา ถ้าเราค้นหาความชอบของตัวเองเจอและรู้จักปรับตัว ก็จะไม่มีทางอดตายแน่นอน