ผลการศึกษาเผย "อ่านหนังสือจากเล่ม" สามารถจำเนื้อหาได้มากกว่าอ่านจากหน้าจอ
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะมีความพัฒนาไปไกล แต่อะไรที่มันดั้งเดิมมันมักจะมีอะไรที่มีเสน่ห์มากกว่า เช่นการอ่านหนังสือจะเล่มนั้น มีการทำการวิจัยออกมาว่า สามารถทำให้จำเนื้อหาที่อ่านได้มากกว่าการอ่านจากหน้าจอแท็บเล็ต หรือมือถือนั่นเอง
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ในสหรัฐฯ ทำการทดลองและศึกษาพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่าง ได้พบว่าการอ่านข้อมูลผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งผลให้คนมีความอดทนน้อยลงที่จะอ่านข้อมูลที่มีความยาวหรือซับซ้อน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดยืนยันว่า ชอบอ่านข้อมูลที่เป็นดิจิทัลมากกว่าการอ่านหนังสือหรือตำรา และทำความเข้าใจเนื้อหาดิจิทัลได้ดีกว่า แต่เมื่อทำการวัดผลความเข้าใจด้วยการถามถึงประเด็นสำคัญของเรื่องที่อ่าน พบว่ากลุ่มเป้าหมายจำประเด็นสำคัญและรายละเอียดที่อ่านจากหนังสือได้มากกว่าการอ่านข้อมูลดิจิทัล
สาเหตุที่การอ่านข้อมูลจากหนังสือทำให้จดจำได้มากกว่า นั้นก็คือ หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีสิ่งขัดจังหวะและรบกวนสมาธิของผู้อ่านมากกว่า เช่น ความสว่างหรือความเร็วในการเลื่อนหน้าจอ ขณะที่การอ่านเรื่องต่างๆ จากสิ่งพิมพ์จะมีความต่อเนื่องมากกว่า เพราะการอ่านข้อมูลหนึ่งหน้ากระดาษจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมหรือความเชื่อมโยงของข้อมูลได้ แต่ข้อมูลจากหน้าจอจะถูกตัดให้สั้นเพื่อให้เหมาะกับการเลื่อน หรือ Scroll ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลของผู้อ่านไม่ค่อยจะต่อเนื่อง เพราะต้องเลื่อนหน้าจอไปมา
ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์การประชุมเศรษฐกิจโลก ซึ่งนำผลวิจัยดังกล่าวมาเผยแพร่ จึงได้ระบุว่า การเรียนรู้ที่รวดเร็ว มีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งหมายถึงความจดจำและความเข้าใจที่อาจจะลดน้อยลงของผู้เรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งมาแทนการอ่านตำราหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์การประชุมเศรษฐกิจโลก ได้กล่าวถึงข้อดีของข้อมูลดิจิทัลเพิ่มเติม โดยระบุว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ ขณะที่การค้นหาข้อมูลต่อยอดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังระบบอินเทอร์เน็ตมีต้นทุนต่ำกว่าการค้นคว้าจากสื่อสิ่งพิมพ์ แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายกว่ามาก